ทีมวิจัยออสเตรเลีย พบวิธีสร้างภาพ “โฮโลแกรม”

(ภาพ-Seeker)

ภาพยนตร์ไซไฟและนิยายวิทยาศาสตร์เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าวิจัยสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และรังสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จก็คือการสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สามารถสร้างภาพ 3มิติ แบบลอยตัว มองเหมือนวัตถุจริงกำลังลอยตัวอยู่กลางอากาศได้จากทุกๆ ด้าน หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าภาพ “โฮโลแกรม”

“โฮโลแกรม” เป็นที่รู้จักและประทับใจกันไปทั่วโลก เมื่อเจ้าหุ่น “อาร์ทูดีทู” ใช้วิธีการนี้ฉายภาพ “เจ้าหญิงเลอา” ออกมาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจาก “โอบี-วัน เคโนบี” เจไดคนสุดท้ายของกาแล็กซี ในภาพยนตร์ “สตาร์วอร์ส”

หลายสิบปีผ่านไป สุดยอดแห่งจินตนาการดังกล่าวยังคงเป็นความจริงอยู่แค่เพียงในจอภาพยนตร์ แม้ว่านักวิจัย วิศวกรด้านออพติคอลเทคโนโลยีทั้งหลายจะพยายามค้นหาหนทางกันอยู่ตลอดเวลาก็ตาม มีบ้าง อย่างเช่นทีมนักวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ที่รายงานความรุดหน้าในเรื่องนี้ออกมาเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็เพียงแค่ “เข้าใกล้” กับจินตนาการดังกล่าวอย่างน่าสนใจเท่านั้นเอง

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) แถลงต่อสาธารณชนว่า ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาในระดับนาโนสเกล ซึ่ง “เชื่อว่า” จะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้และสามารถนำไปพัฒนาเป็นอุปกรณ์สำหรับการสร้างภาพโฮโลแกรมลอยตัวขึ้นมาได้จริงในอนาคตอันใกล้

Advertisement

อย่างน้อยที่สุดจากการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้สามารถสร้างโฮโลแกรมขึ้นมาได้อย่างแน่นอน แม้จะยังไม่เป็นจริงในตอนนี้ก็ตามที

ปัญหาสำคัญที่สุดในการสร้างภาพโฮโลแกรมให้ได้ภาพ 3มิติ ลอยตัว มองเหมือนวัตถุจริงได้จากทุกด้านก็คืออุปกรณ์ฉายภาพดังกล่าวจำเป็นต้องมีความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลในเวลาจริง เพื่อสร้างภาพลอยตัวที่มองแล้วเหมือนวัตถุจริงจากทุกด้านให้เกิดขึ้นได้

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาในทุกวันนี้ แม้แต่กระทั่งภาพที่มีความลึกจนเราเรียกกันว่าภาพ 3มิติ ในโรงภาพยนตร์ก็ดี หรือจากโทรทัศน์ 3มิติ ก็ดี ล้วนอาศัยจุดเริ่มต้นจากภาพ 2มิติ ทั้งสิ้น และในที่สุดก็ยังคงไม่สามารถทำให้เรามองเห็นวัตถุในภาพได้จากทุกๆ ด้านในเวลาเดียวกันได้

หวัง เล่ย หัวหน้าทีมวิจัยของเอเอ็นยู (ซึ่งทำงานวิจัยครั้งนี้ภายใต้ความร่วมมือของห้องปฏิบัติการทดลองแห่งชาติโอคริดจ์และมหาวิทยาลัยนานจิง ประเทศจีน) ที่ยังคงเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกของสำนักวิจัยด้านฟิสิกส์และวิศวการของมหาวิทยาลัยเอเอ็นยู เปิดเผยรายละเอียดของอุปกรณ์โฮโลแกรมของตนไว้เพียงว่า มันสามารถฉายแสงออกมาผ่าน “นาโนพิลลาร์” เส้นออปติกโปร่งใสขนาดเล็กจิ๋ว เพราะเล็กกว่าเส้นผมของคนทั่วไปถึง 500 เท่า ออกมาเป็นภาพโฮโลแกรมที่ต้องการ

เส้นนาโนออปติกที่ว่านี้นอกจากสามารถฉายแสงออกมาประกอบกันเป็นภาพแล้วยังสามารถเก็บข้อมูลในรูปของแสงได้เป็นจำนวนมหาศาลภายในเส้นนาโนออปติกจำนวนล้านล้านเส้นดังกล่าว รายละเอียดส่วนอื่นๆ ยังคงมีน้อยมาก เนื่องจากทีมวิจัยยังไม่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยครั้งนี้เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการนั่นเอง

ที่แน่ๆ ก็คือ หวัง เล่ย ยืนยันในการแถลงข่าวว่าเป็นแฟนสตาร์วอร์สตัวยงและได้แนวคิดมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image