สุจิตต์ วงษ์เทศ : งานพระเมรุ ยุคอยุธยา อยู่ลานพระเมรุหน้าวิหารพระมงคลบพิตร

แผนผังพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ในจดหมายเหตุแกมเฟอร์ พิมพ์ครั้งแรกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2270 ปราสาทที่บริเวณใกล้ตัวอักษร P ทางฝั่งขวาของแผนผัง คือ พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ที่จดหมายการพระศพสมเด็จพระรูปวัดพุทไธศวรรย์ กรุงเก่า สมัยแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ระบุว่าเป็นที่ประดิษฐานพระโกศ ก่อนที่จะอัญเชิญโดยเสลี่ยงเงินไปที่มหาพิชัยราชรถ เพื่อเคลื่อนไปที่พระเมรุมาศ เข้าใจว่าคือบริเวณลานหน้าวิหารพระมงคลบพิตร และคุ้มขุนแผนในปัจจุบัน (ไม่มีในแผนผัง) เพื่อประกอบงานพระเมรุต่อไป (ภาพจากกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง ของ ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2549) (คำอธิบายโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ)

งานพระเมรุ มีครั้งแรกยุคอยุธยา นักปราชญ์นักวิชาการครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่บอกไว้นานแล้วว่ามีครั้งแรกในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง

(ไม่มีก่อนหน้านั้น และไม่เคยพบหลักฐานว่าเคยมีในรัฐสุโขทัย)

บริเวณเคยมีงานพระเมรุ ทุกวันนี้เดินทอดน่องท่องเที่ยวสะดวก เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอยู่แล้วของอยุธยา มรดกโลก

ท้องถิ่นอยุธยาน่าจะชวนกรมศิลปากร, สถาบันอยุธยาศึกษา ฯลฯ จัดการให้มีป้ายภาพทั้งเก่าและใหม่, แผนที่, แผนผัง, ข้อความอธิบายสั้นๆ แล้วแบ่งปันเผยแพร่ผ่านเทคโนโลยีร่วมสมัยให้คนทั่วไปเข้าถึงงง่ายๆ จะได้เที่ยวสนุกอย่างมีสมอง

Advertisement

กระทรวงวัฒนธรรม ควรเป็นเจ้าภาพมีกิจกรรมสม่ำเสมอ แบ่งปันความรู้เหล่านี้ ขณะกำลังสร้างพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง หรือทุ่งพระเมรุ ในกรุงเทพฯ

อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง หน้าวิหารพระมงคลบพิตร
อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง หน้าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ 
หน้าวิหารพระมงคลบพิตร พ.ศ. 2556  (ภาพถ่ายโดย  Warawut Srisopark จาก https://commons.wikimedia.org)
หน้าวิหารพระมงคลบพิตร พ.ศ. 2556 (ภาพถ่ายโดย Warawut Srisopark จาก https://commons.wikimedia.org)

บริเวณเคยมีงานพระเมรุ ยุคอยุธยา

ยุคอยุธยา มีงานพระเมรุ (อ่านว่า พระ-เมน) พระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินกับพระศพเจ้านาย แยกเป็น 2 แห่งสำคัญ ได้แก่ ที่ตั้งพระบรมโกศ กับ ที่ตั้งพระเมรุมาศ

1. พระบรมโกศและพระโกศ ตั้งบนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ เป็นที่มีสวดพระบรมศพและพระศพ

ปัจจุบันเหลือซากอิฐอยู่หน้าวังโบราณ มีลานกว้างหน้าพระที่นั่งทำแนวเหนือ-ใต้ (เรียก สนามหน้าจักรวรรดิ) ด้านใต้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง (หน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ ใกล้บึงพระราม)

พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท สร้างสมัยพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ. 2175

มณฑปมียอดเดียว ฝาไม่มี เป็นปราสาทโถงอยู่บนกำแพงพระราชวังด้านตะวันออก มี 3 ชั้น

ชั้นล่าง สำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าเฝ้า

ชั้นกลาง สำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน พักดูแห่และการมหรสพ

ชั้นบน สำหรับพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในเฝ้าดูกระบวนแห่ต่างๆ ในมุขยาวทั้งสองด้าน แต่ที่กลางจัตุรมุขชั้นบนเป็นที่ตั้งพระแท่นประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่และการมหรสพ รวมทั้งการยกทัพพยุหยาตรา

หน้าพระมหาปราสาท มีสนามใหญ่ยาวตลอดกำแพงพระราชวัง เรียกสนามหน้าจักรวรรดิ และมีถนนใหญ่ (กว้าง 6 วา) เรียกถนนหน้าจักรวรรดิ

(ซ้าย) แผนที่พระราชวังโบราณพระนครศรีอยุธยา (จากหนังสือ พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร พ.ศ. 2511)  (ขวา) แผนที่แสดงสนามหน้าจักรวรรดิ และลานพระเมรุ รวมถึงที่ตั้งวัดในพระนครศรีอยุธยา
(ซ้าย) แผนที่พระราชวังโบราณพระนครศรีอยุธยา (จากหนังสือ พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร พ.ศ. 2511)
(ขวา) แผนที่แสดงสนามหน้าจักรวรรดิ และลานพระเมรุ รวมถึงที่ตั้งวัดในพระนครศรีอยุธยา

2. พระเมรุมาศ (อ่าน พระ-เม-รุ-มาด) สร้างที่ลานพระเมรุ หรือท้องพระเมรุ

ปัจจุบันเป็นลานกว้างหน้าวัดมงคลบพิตร (ระหว่างด้านใต้วัดพระศรีสรรเพชญ์ กับด้านตะวันตกวัดพระราม)

มหรสพต่างๆ ตั้งโรงเล่นบริเวณนี้ เช่น หนังใหญ่, โขน, ละคร, ระบำ ฯลฯ

พระเมรุถวายเพลิงพระศพเจ้านาย เริ่มมีในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง (ระหว่าง พ.ศ. 2172-2199) สร้างเลียนแบบปราสาทนครวัดในกัมพูชา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุในคัมภีร์ไตรภูมิทางศาสนาพราหมณ์

ไม่เคยมีก่อนหน้านั้น และไม่เคยมีในรัฐสุโขทัย

ยุคก่อนหน้านั้นถวายเพลิงพระบรมศพและพระศพด้วยประเพณีอื่นที่ไม่มีพระเมรุมาศ 

วิหารพระมงคลบพิตรก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์ (ภาพจากหนังสือ “พระราชวัง และวัดโบราณ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง” จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำรัส เกียรติก้อง ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511)
วิหารพระมงคลบพิตรก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์ (ภาพจากหนังสือ “พระราชวัง และวัดโบราณ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง” จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำรัส เกียรติก้อง ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image