กรณี “ไผ่” กับสื่อไทย

เรื่องของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยภาคอิสานที่ถูกจับกุมห้ามประกันตัวตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ด้วยข้อหาผิดกฎหมายอาญา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพราะแชร์ข้อความและโพสต์ข่าวจากหน้าเพจบีบีซีไทย

โดยเพจบีบีซีไทยและผู้แชร์ข่าวเดียวกันอีกกว่า 2 พันคนไม่ได้รับการแจ้งข้อหาหรือถูกจับกุม

กำลังเป็นข่าวให้สื่อไทยต้องพิจารณาตัวเองอีกครั้ง

ดูเหมือนเราไม่ค่อยเห็นข่าวนี้ในสื่อไทย จนกระทั่งเมื่อวานที่แม่ของไผ่เลือกใช้วิธีเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูก ด้วยการเอาหัวโขกผนังคอนกรีตในห้องพิจารณาคดีต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษา

หลังจากองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งให้พิจารณาลับการไต่สวนคำร้องฝากขัง

Advertisement

ไม่มีรูปแม่ไผ่เอาหัวโขกผนังปรากฎในสื่อ มีเพียงรูปหลังจากนั้นซึ่งมีผู้เข้าไปกอดปลอบใจเธอ

น้ำหนักข่าวคืออารมณ์สะเทือนใจระหว่างแม่-ลูก ซึ่งหลายคนเชื่อว่าอีกไม่กี่วันทั้งผู้บริโภคสื่อและคนทำสื่อก็คงลืม แล้วหันไปตื่นเต้นกับข่าวอื่นตามปกติของสังคมฉาบฉวย

เสียงบ่นลอยมาว่าสื่อไทยไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพประชาชนอย่างไผ่และคนตัวเล็กตัวน้อยคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม

Advertisement

เหมือนสื่อไม่เคยรู้ว่า ตามหลักพื้นฐานสากลของการใช้อำนาจรัฐจับกุมประชาชนนั้น รัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประชาชนด้วย จะกักตัวประชาชนคนหนึ่งคนใดไว้มิได้ หากไม่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นกระทำผิด

เรียกว่า “เมื่อยังไม่มีหลักฐาน ต้องสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด ให้ประกันตัวเป็นหลัก เอาตัวไว้เป็นรอง”

บางคนแย้งว่า สื่อไทยอาจรู้และท่องหลักพื้นฐานดังกล่าวได้ แต่ความที่ไม่เคยใส่ใจจริงจังกับประเด็นเสรีภาพของประชาชน นอกจากใช้แอบอ้างเมื่อประกาศคำใหญ่โตว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”

เมื่อเกิดเรื่อง จึงสามารถทำตัวเหมือนทองไม่รู้ร้อน นอนหลับสบาย

ไม่เหมือนกรณีรวมตัวคัดค้านพ.ร.บ.สื่อฉบับใหม่ที่สื่อกลัวว่านักการเมืองในอนาคตที่เลวกว่าอำนาจเผด็จการจะเข้ามาล้วงลูก

มีผู้ตั้งคำถามว่า แล้วจะให้สื่อทำอย่างไร สื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักก็เสนอข่าวไผ่ไม่ใช่หรือ คาดหวังให้สื่อทำอะไรกับข่าวไผ่ได้อีก?

เรื่องนี้จึงต้องย้อนกลับไปพิจารณาข่าวที่ผ่านมาว่า สื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ เสนอข่าวไผ่หรือคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพมากน้อยเพียงใด?

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับข่าวการรวมตัวของคนทำสื่อเพื่อปกป้องสิ่งที่สื่อเรียกสวยๆ ว่า “เสรีภาพสื่อ”

หากแม่ไผ่ไม่เอาหัวโขกผนังศาลจนเกิดกระแสอารมณ์สะเทือนใจ ข่าวไผ่จะได้อยู่ในพื้นที่ “ข่าวใหญ่” เหมือนข่าวต้านพ.ร.บ.คุมสื่อหรือไม่?

เป็นความจริงว่า บางกรณี สื่ออาจจำต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะไม่สามารถละเมิดศาล แต่การติดตามนำเสนอข่าวเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องละเมิดศาลเสมอไป

ถ้าสื่อมีสามัญสำนึก เชื่อในคุณค่าเสรีภาพและเข้าใจความหมายของ “สื่อสารมวลชน” อย่างแท้จริง ย่อมรู้ว่าควรทำอย่างไร

หากทำได้เพียงพูดเจื้อยแจ้วว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน (อันเลื่อนลอย) ไม่ตระหนักว่าเสรีภาพประชาชนคือเสรีภาพสื่อ คนทำสื่อไทยคงไม่ต่างจากหมาน่าสงสาร

สำหรับให้เผด็จการขึ้นขี่หลังมาปิดกั้นเสรีภาพของทุกคนซึ่งที่สุดคือปิดกั้นเสรีภาพของสื่อเอง

ห่างไกลจากความเป็นคนเต็มคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image