มทส.คว้า 3 รางวัลดีเด่น-ดี จากสภาวิจัยแห่งชาติ

ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2560 ให้แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ระดับดีเด่น 2 ผลงาน ได้แก่ รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2559 เรื่อง “การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์  มีวาสนา หัวหน้าสาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 เรื่อง “เครื่องเอสพีอาร์แบบภาพและระบบฟลูอิดิกแบบหลายช่องวัด” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง  สุตะพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์

ส่วนอีกรางวัลระดับดี 1 ผลงาน ได้แก่ รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2559 เรื่อง “โครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์สองมิติบนพื้นผิววัสดุโลหะทรานซิซันไดแชลโคเจไนด์โดยเทคนิคโฟโตอิมิชชันสเปกโทสโกปี” โดย ดร.ธนชาติ เอกนภากุล นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. ร่วมแสดงความยินดี

สำหรับผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.วรวัฒน์ นั้นเป็นการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ที่อาจใช้เสริมหรือแทนที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มวัสดุซิลิกอนซึ่งมีขีดจำกัดมากในการพัฒนาต่อไป วิธีแก้ปัญหาคือหาวัสดุใหม่ที่มีความสามารถสูงกว่าสารกึ่งตัวนำแบบดั้งเดิม การวิจัยนี้ได้ประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ โดยทำการวิจัยในวัสดุ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโลหะออกไซด์และโลหะแชลโคจิไนด์ และกลุ่มวัสดุคาร์บอน ในระยะยาวคาดว่าความรู้ที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ อาทิ spintronics และ valleytronics รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง

201702031511522-20030220172247

Advertisement

ส่วนผลงานของ ผศ.ดร.บุญส่งนั้น สามารถใช้สร้างเซนเซอร์อาร์เรย์สูงสุด 8×8 จุดวัด มีระบบจ่ายสารตัวอย่างแบบอัตโนมัติ และโฟลว์เซลล์มีจำนวนช่องไหลมากที่สุด สามารถใช้ทดสอบสารตัวอย่างพร้อมกันได้สูงสุด 8 สารตัวอย่างต่อเซ็นเซอร์ชิพ เหมาะสำหรับใช้ในการออกแบบและสร้าง Biosensor arrays (Protein sensor array หรือ DNA sensor arrays) รวมทั้งการศึกษาด้าน Biomolecular interaction analysis แบบ High throughput ของคู่โมเลกุลอื่น ๆ ปัจจุบันเครื่องมือนี้ได้ติดตั้งและใช้งานที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา Sensor surfaces ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยด้านการพัฒนาพื้นผิวสำหรับใช้ในไบโอเซ็นเซอร์ และการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์อาร์เรย์สำหรับใช้งานทางการแพทย์และการเกษตร ที่มีศักยภาพนำไปใช้งานจริง

ขณะที่ผลงานของ ดร.ธนชาติ นั้น ผลการศึกษาสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้แก่ 1) ช่องว่างของออกซิเจน การสะสมของอิเล็กตรอนบนพื้นผิวและสมบัติการมีขั้ว/ไม่มีขั้วเป็นปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับการเกิดโครงสร้างทางอิเล็กทรอนิกส์สองมิติบนวัสดุโลหะทรานซิชันออกไซด์ เช่น สตรอนเทียมไททาเนต และโพแทสเซียมแทนทาเลต ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้างและควบคุมสมบัติของก๊าซอิเล็กตรอนสองมิติและการประยุกต์เกี่ยวกับเซ็นเซอร์แสง 2) กลวิธีใหม่ในการเตรียมวัสดุแบบผิวชั้นเดียวขนาดใหญ่ โดยการสอดแทรกของโพแทสเซียมเข้าไปในพื้นผิวของวัสดุโมลิบดีนัมไดซัลไฟด์ แถบตัวนำสองมิติได้ถูกทำให้ปรากฏขึ้นและอยู่ที่โมเมนตัมใกล้เคียงมากกับแถบวาเลนซ์ กล่าวได้ว่าวัสดุมีการเปลี่ยนแปลงจากประเภทช่องว่างแถบพลังงานแบบไม่ตรงเป็นประเภทช่องว่างแถบพลังงานแบบตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image