เปิด 16 ข้อเสนอครม. ดัน”กรธ.”ปรับ”ร่างรธน.”

1. มาตรา 24 วรรคสอง ให้บัญญัติการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณของตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมายให้ชัดเจน

2. คำว่า “ภาวะสงคราม” ในมาตรา 30 และ มาตรา 35 วรรคสาม ควรใช้คำเหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือ “ภาวะสงครามหรือการรบ” เพราะสถานการณ์บางอย่างไม่ถึงขั้นประกาศสงคราม แต่มีการสู้รบกัน

3. มาตรา 47 มหาดไทยเสนอให้กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้แก้ไขมาตรา 47 (8) ว่า “ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์ ส่งเสริม คุ้มครอง มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

4. มาตรา 48 กระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีเสนอความเห็นว่ามาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บัญญัตติไว้เหมาะสม แต่หากแก้ไขใหม่ ควรให้ครอบคลุมภารกิจที่ต้องใช้ทหาร โดยแก้ ตัด เพิ่มเติม เปลี่ยนถ้อยคำ

Advertisement

5.มาตรา 56 คำว่า “สิทธิในวงโคจรของดาวเทียม” ขอให้ตรวจสอบกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่าใช้คำถูกต้องหรือไม่

6. หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ควรกล่าวถึงบทบาทของรัฐในเรื่องสหกรณ์ การผังเมือง การปฏิรูปที่ดิน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มหาดไทยเสนอว่า ควรระบุถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

7. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการเสนอความเห็นว่า

Advertisement

7.1 ควรบัญญัติถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะตามหลักสากล

7.2 มาตรา 27 ควรมีข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ ที่ชัดเจนดังเช่นมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

7.3 สิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ ไว้ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักสากล การไม่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยถือว่าอยู่ในบังคับมาตรา 25 แล้ว อาจไม่เด่นชัด ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและ Bill of Rights ของนานาประเทศ

7.4 มาตรา 50 ลดสิทธิสวัสดิการทางการศึกษาที่เคยมีลงมาเหลือแค่ตามภาคบังคับคือ 9 ปี แต่ปัจจุบันรัฐจัดการศึกษาให้ไม่น้อยกว่า 12 ปีอยู่แล้ว ควรพิจารณาทบทวนไม่ให้เป็นการลดสิทธิของบุคคล

7.5 เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังขาดบทบัญญัติคุ้มครอง คนยากไร้ พิการ ทุพพลภาพ เด็กเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแล คนอายุ 60 ปี แรงงานเด็ก แรงงานสตรีอาจเป็นจุดอ่อนให้ถูกต่อต้าน มาตรา 51 อาจถูกตีความว่าลดสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของผู้ยากไร้ด้วย

8. สำนักงบประมาณเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 137 และมาตรา 139ว่า มาตรา 137 บัญญัติว่าร่างพ.ร.บ.งบฯ ต้องแสดงแหล่งที่มา ประมาณการรายได้ และผลสัมฤทธิ์ที่จะได้รับจากการจ่ายเงินนั้น เห็นว่าไม่ควรต้องแสดงผลสัมฤทธิ์ เพราะอาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งและข้อถกเถียงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เห็นสมควรกำหนดเป็น “ผลประโยชน์ที่จะได้รับ”

มาตรา 139 วรรคสอง วรรคสามและวรรคสี่เพิ่มหลักการให้ครม.และจนท.รัฐต้องรับผิดเกี่ยวกับการแปรญัตติ และการอนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของมาตราเดียวกันเห็นว่า หากตีความโดยเคร่งครัดจะทำให้ส.ส. -ส.ว. หรือกรรมาธิการไม่สามารถมีส่วนในการใช้งบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อาจขัดต่อหลักการงบประมาณที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนองบ และฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้อนุมัติ ทำให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการงบประมาณ

และเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ไม่กล้าที่ปฏิบัติงานตามปกติ เป็นผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าจะระงับยับยั้งการแสวงหาผลประโยชน์ ฯลฯ

9.มาตรา 190 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียว เพราะขัดต่อการปฏิบัติในนานาประเทศ ควรแก้ให้การอุทธรณ์เป็นสิทธิทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อให้เป็นระบบสองศาล

10.การแยกศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นหมวด 11 ไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่ามีการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น ก่อให้เกิดการโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ศาล” ตามหมวด 10 และตามมาตรา 3 หรือไม่

อายุของตุลาการรัฐธรรมนูญที่แก้จากเจ็ดสิบปีเป็นเจ็ดสิบห้าปี อาจถูกมองว่าเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล ควรใช้เกณฑ์เจ็ดสิบปีเช่นเดิม

11. มาตรา 181 ให้นำมาตรา 179 ห้ามส.ส.-ส.ว.ดำรงตำแหน่งต่างๆ เว้นแต่ “กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภา” และนำมาใช้กับรัฐมนตรีโดยอนุโลม ทำให้เกิดปัญหาว่ารัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งกรรมการเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่เกี่ยวกับกิจการของสภา ได้หรือไม่ ควรบัญญัติมาตรา 181 และมาตรา 179 ให้กว้างขึ้น

12.กระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการหลายแห่งเสนอว่า หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเปลี่ยนชื่อหมวดเป็น “การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” เปลี่ยนคำว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็น “องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น”

13.สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอว่า มาตรา 268 บัญญัติถึงการปฏิรูปตำรวจโดยละเอียด แต่ไม่ควรลงรายละเอียดเรื่องการบริหารงานบุคคลมากเกินไป โดยเฉพาะการดให้ใช้หลักลำดับอาวุโสในการแต่งตั้ง ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษารับรองว่าการแต่งตั้งไม่อาจใช้หลักอาวุโสแต่อย่างเดียว ในระบบข้าราชการพลเรือน และทหารก็ไม่ได้นำหลักอาวุโสมาใช้เพียงประการเดียว

14.คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรมีหมวดว่าด้วยการปฏิรูปแยกออกมาต่างหากเป็นการเฉพาะ แต่ไม่ควรกำหนดรายละเอียดในเชิงผูกมัดมากเกินไปเพราะอาจยืดยาว และยุ่งยากในการปฏิบัติ

15.การกำหนดเวลาและขั้นตอนหลังใช้รัฐธรรมนูญควรสอดคล้องกับ Roadmap ที่คสช.กำหนดให้เลือกตั้งใน พ.ศ.2560 (เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป) การที่มาตรา 259 และมาตรา 260 ให้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นรวม 10 ฉบับให้เสร็จ จึงให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน ทำให้การเลือกตั้งเนิ่นช้าออกไป หากแก้ไขให้จัดทำเฉพาะกฎหมายเท่าที่จำเป็นแก่การเลือกตั้งและจัดให้มีส.ว. แล้ว จะทำให้เลือกได้เร็วขึ้นและสอดคล้องกับRoadmap

16.คณะรัฐมนตรีเป็นห่วงปัญหาดังก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 จะย้อนกลับอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้ง และภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงเห็นว่าหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วงเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรกซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยมีข้อยกเว้นตามความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้นและเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก น่าจะแก้ปัญหา และอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image