วิป สปท.เตือน กม.สื่อส่อขัด รธน.-กมธ.สื่อฯ นัดปรับเนื้อหา เล็งตัด 4 ปลัดกระทรวงออก

วิป สปท.เตือนร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ อาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ชี้เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นกำกับมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จี้ลดจำนวนตัวแทนภาครัฐนั่ง กก.สภาวิชาชีพฯ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) มีความเห็นร่วมกันให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.กลับไปปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. อีกครั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้วิป สปท.ได้ทำข้อสังเกตเพื่อแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดว่า ชื่อร่างกฎหมายแม้จะระบุเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่เนื้อหาส่วนมากเน้นไปที่มาตรการกำกับดูแลสื่อมวลชน และควรจะเพิ่มบทบัญญัติการคุ้มครองประชาชน ผู้บริโภคสื่อที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น วิป สปท.เห็นว่า ควรลดจำนวนกรรมการที่เป็นตัวแทนภาครัฐให้น้อยลงโดยเน้นให้มาจากภาคสื่อมวลชน หรือภาคประชาชนให้มากขึ้น และควรปรับปรุงจากปลัดกระทรวงทั้ง 4 กระทรวง เป็นกรรมการอื่นที่สรรหามาจากภาครัฐ หรือผู้แทนจากระทรวงนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องระบุให้เป็นปลัดกระทรวง เพื่อลดความหวาดระแวงจากสื่อในกรณีเกรงการเข้ามาครอบงำหรือแทรกแซง ส่วนกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น ให้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนพิจารณาใหม่ว่าจะนำมาใช้หรือไม่ หรือควรจะพิจารณาเป็นรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในลักษณะใบอนุญาต เพราะสื่อมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนองค์กรวิชาชีพอื่นๆ และไม่ใช่แนวทางตามสากลวิธี ที่สำคัญอาจถูกนานาชาติมองว่าประเทศไทยจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อเสียเอง อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บทบัญญัติต่างๆในร่าง พ.ร.บ.นี้ ควรระมัดระวังกรณีที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่การขัดแย้งในตัวของบทบัญญัติตามมาตราต่างๆ

กมธ.สื่อฯ สปท.จ่อปรับเนื้อหา กม.ปฏิรูปสื่อ ตามแนวทางวิปฯ นัด 14 ก.พ.นี้ถกใหม่

Advertisement

ด้าน พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงว่า จากกรณีที่คณะ กมธ.วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ให้ความเห็นต่อ กมธ.สื่อฯเพื่อทบทวนร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน 6 ประเด็น กมธ.สื่อฯมีบทสรุป ดังนี้ กรณีชื่อร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพฯ มีความสอดคล้องกับเนื้อหาหรือไม่นั้น กมธ.ยืนยันจะคงชื่อร่างกฎหมายไว้เหมือนเดิม ขณะที่ประเด็นอื่นๆ อาทิ 1.การปรับปรุงกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่มาจากปลัดกระทรวง 4 กระทรวง 2.การลดจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพฯที่มาจากตัวแทนภาครัฐ 3.การปรับปรุงประเด็นการให้สิทธิผู้เสียหายต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนฟ้องร้องต่อศาล หรือกรรมการสภาวิชาชีพ 4.ประเด็นการพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 5.ประเด็นการเขียนเนื้อหาที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุมได้ให้การบ้านกับ กมธ.แต่ละคนกลับไปทำการบ้านเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ไปกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และให้นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กมธ.สื่อฯอีกครั้ง ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

“ยืนยันว่า การพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายนั้นจะมีการรับฟังข้อเสนอของภาคสื่อมวลชนด้วย แม้ตัวแทนขอสื่อมวลชนที่ร่วมเป็นอนุกรรมการด้านสื่อสิ่งพิมพ์จะลาออก แต่เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่ทิ้งการฟังความเห็น เพราะแม้แต่ในขั้นประชาพิจารณ์ ของคณะทำงานกฤษฎีกา ของรัฐบาล หรือในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะยังคงมีการสอบความเห็น” พล.อ.อ.คณิตกล่าว และว่า กมธ.สื่อฯจะเสนอรายงานข้อเสนอแนะและศึกษา เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้เป็นวาระการปฏิรูปเร่งด่วนที่สุด และจะมีร่างกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และแนวทางด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหลังจากนี้ กมธ.สื่อฯจะรายงานต่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. แล้วจะนำเข้าสู่การประชุมของคณะทำงาน ป.ย.ป. ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นเลขานุการต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.สื่อฯ กล่าวว่า สำหรับกรณีของการทบทวนกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น ที่ประชุมได้เสนอความเห็นและรูปแบบการปรับเปลี่ยนที่หลากหลาย อาทิ ให้องค์กรสื่อมวลชนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ทั้งหมด หรือให้ตัดตัวแทนภาครัฐออกจากตำแหน่งกรรมการ แต่เสนอให้มีตัวแทนขององค์กรอิสระ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปทำหน้าที่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image