‘สมคิด’เร่งดีอี วางระบบพื้นฐานรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างช้าต้องเห็นต้นปีหน้า

ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การมาเยี่ยมชมการทำงานของกระทรวงดีอีครั้งนี้ ทำให้ทราบว่ากระทรวงดีอีมีภารกิจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอะมาก โดยการเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ภาคการเกษตร และภาคสังคม ฉะนั้นจุดเริ่มต้นต้องทำให้คนภายในประเทศเข้าถึงเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการมีระบบไอซีทีเป็นตัวช่วยวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้ปี 2563 เข้าสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เต็มรูปแบบ จึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงดีอี ที่จะต้องช่วยวางรากฐานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ดังนั้น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ต้องขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 หรืออย่างช้าต้องไม่เกินต้นปี 2561

โครงการสำคัญอันดับแรกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล คือ จัดหาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงทุกหมู่บ้านในประเทศไทย หรือโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมติให้ทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบมูลค่า 13,000 ล้านบาท เป็นการสร้างถนนดิจิทัลด้วยเคเบิลใยแก้วความเร็วสูงไปสู่หมู่บ้าน ในพื้นที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งบริการภาครัฐให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1-2 ปี เพราะหากดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะเริ่มโครงการด้านอื่นๆไม่ได้เลย

นายพิเชฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้ขับเคลื่อนโครงการให้เกิดภายใน 2 ปี ซึ่งโครงการระยะยาวของดีอี จะส่งสัญญาณให้ต่างประเทศรับรู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วจะเป็นศูนย์พัฒนาดิจิตอล โดยโครงการหลักคือสร้างดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ เนื้อที่ 500 ไร่ ของ กสท ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ควบคู่กับนโยบาย 3 อี คือ 1.อี-คอมเมิร์ซ ทำให้ชุมชนสามารถใช้เครื่องมือไอทีในการช่วยทำตลาดและขายสินค้าชุมชนได้ 2.อี-เฮลธ์ จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อกระจายโอกาสพบแพทย์ไปยังชนบท 3. อี-กัฟเวอร์เมนท์ ทำให้ข้อมูลและบริการภาครัฐส่งไปถึงประชาชนระดับชุมชน ซึ่งโครงการสมาร์ท ซิตี้ จากเดิมทำในภูเก็ตและเชียงใหม่ จะเพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image