‘สรรพากร’ ประกาศอัตราภาษีเงินได้บุคคลใหม่ มีผลย้อนหลัง 1 ม.ค.60

นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44 ) พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป (จะมีผลต่อการยื่นแบบแสดงรายการภาษี 1 มกราคม-31 มีนาคม 2561) นั้น จึงขอแจ้งให้ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการคำนวณภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้มีเงินได้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีในแต่ละเดือนลดลง ส่งผลให้มีเงินได้เพิ่มมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่

2.ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้น โดยให้มีการหักค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้เพิ่มเป็น 60,000 บาท หักค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้เพิ่มเป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตร หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภรรยาของผู้มีเงินได้เพิ่มเป็นคนละ 30,000 บาท บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน อย่างไรก็ตาม หากมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายมาหักก่อน หากบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมจำนวนเกิน 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้แล้ว แต่ถ้าบุตรตามกฎหมายมีไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ แต่เมื่อรวมกับบุตรตามกฎหมายแล้วต้องไม่เกิน 3 คน ส่วนกรณีที่สามี-ภรรยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท ส่วนกองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60,000 บาท ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลเพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

นายสมชายกล่าวว่า 3.ได้ปรับปรุงขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้ บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปรับปรุงใหม่ เงินได้สุทธิ 1-300,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 5 เงินได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 10 เงินได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 15 เงินได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 20 รายได้ 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 25 เงินได้ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 30 เงินได้ตั้งแต่ 5,000,001 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 35

Advertisement

“สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดิม” นายสมชายกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image