ตามคาด’ไข้หวัดใหญ่’ระบาดปี’60 หลังป่วยพุ่งปลายปี’59 แนะเด็กมีไข้ต้องหยุดเรียน

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ประกาศหยุดทำการเรียนการสอนในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ เนื่องจากพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ เอ ว่าการปิดโรงเรียนถือเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ให้แพร่กระจาย แต่ที่ดีที่สุดคือ หากพบว่าลูกหลานเริ่มมีอาการไข้ พ่อแม่ควรให้หยุดเรียนทันที หรือหากโรงเรียนพบว่าเด็กนักเรียนมีอาการไข้ แม้จะไข้ต่ำๆ ก็ควรแจ้งผู้ปกครองและให้หยุดพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ดีกว่ามีการติดต่อไปยังเด็กอื่นๆ จนต้องปิดโรงเรียน

“จริงๆ แล้วการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่มากขึ้นในปีนี้ เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งทาง คร.ได้ประกาศเตือนแนวโน้มโรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2560 คือ โรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากพบมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา”  รองอธิบดี คร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเกณฑ์ในการพิจารณาหรือไม่ ว่าเด็กป่วยกี่คนจึงต้องปิดโรงเรียน นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ไม่มีตัวเลขสากลขนาดนั้น แต่จากตัวอย่างเมื่อครั้งเกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 จะใช้วิธีพิจารณาว่า หากเด็กนักเรียนหายไปร้อยละ 10-20 ยกตัวอย่าง ในห้องเรียนมีนักเรียน 40 คน แต่เด็กขาดเรียนหรือป่วยไป 15 คน ก็ถือว่าต้องสั่งหยุดเรียนชั่วคราว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ต้องการให้ถึงขั้นนี้ เพราะโรคนี้ป้องกันได้ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการลูก หากมีไข้ก็ควรให้หยุดเรียน

เมื่อถามว่า ขณะนี้ คร.ได้รับรายงานหรือไม่ ว่ามีโรงเรียนกี่แห่งต้องปิดเรียนชั่วคราว นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ทราบว่าใน กทม.มีประมาณ 3-4 แห่ง ขณะที่ในภูมิภาคมีประมาณ 1-2 แห่ง ซึ่งหลายแห่งเปิดเรียนตามปกติแล้ว สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น จะมีการฉีดให้ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกประมาณเดือนเมษายน และช่วงที่ 2 คือ ช่วงเดือนตุลาคม จริงๆ แล้วจะฉีดช่วงไหนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ

Advertisement

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา คร. ที่มีการพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปี 2559 ระบุว่า ในปี 2560 ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะพบมากขึ้น เนื่องจากเริ่มพบมากตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยพบผู้ป่วยถึง 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย จึงคาดว่าปี 2560 จะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมักมีการระบาดใหญ่ในช่วงหน้าฝน เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แล้วค่อยมาระบาดเล็กๆ อีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงควรฉีดช่วงก่อนเข้าหน้าฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือก่อนเปิดเทอม ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศส่วนมากเป็น เอช3 เอ็น2 (H3N2) ซึ่งวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคนั้นก็ถือว่ามีความครอบคลุมเรื่องการป้องกันโรคได้ แต่ก็ป้องกันได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image