นาซาเผยผลกระทบ 1 ปีในอวกาศของมนุษย์

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา อาศัยข้อดีจากการมีนักบินอวกาศฝาแฝดคือ สก็อตต์กับมาร์ค เคลลี ในการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อหาความแตกต่างระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศเป็นเวลานานเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตตามปกติอยู่บนพื้นโลก โดยการส่งสก็อตต์ขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) นานเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์การใช้ชีวิตของมนุษย์ในห้วงอวกาศคือ 1 ปี เมื่อกลับมาก็เก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิจัยเปรียบเทียบกับข้อมูลของ มาร์ค

ทางนาซาเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นในการประชุมเชิงปฏิบัติการประจำปี โครงการวิจัยมนุษย์ของนาซา ที่รัฐเท็กซัส เมื่อต้อนเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจในการนำมาพิจารณาสำหรับการส่งมนุษย์ออกไปสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคต

ข้อมูลแรกสุดที่น่าสนใจมากก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “เทโลเมียร์” ในตัวของสก็อตต์ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศ “เทโลเมียร์” เป็นส่วนหนึ่งของสารพันธุกรรมสำคัญคือ ดีเอ็นเอ ซึ่งอยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของคนเรา เทโลเมียร์ จะอยู่บริเวณส่วนปลายสุดของโครโมโซม เมื่อคนเราอายุยังน้อย เทโลเมียร์ จะยาวแต่จะหดสั้นลงเรื่อยๆ ตามอายุขัย

อย่างไรก็ตาม เทโลเมียร์ที่ได้จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของสก็อตต์กลับเพิ่มความยาวขึ้น และเมื่อกลับมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกก็เริ่มหดสั้นลงอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

นาซา ตั้งข้อสังเกตว่าความยาวของเทโลเมียร์ของสก็อตต์อาจเป็นผลมาจากการเพิ่มการออกกำลังกายและปริมาณแคลลอรีที่ลดลงขณะใช้ชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองที่พบเบื้องต้นก็คือ การที่ร่างกายของสก็อตต์สร้างกระดูกน้อยลงเมื่ออยู่ในอวกาศในช่วง 6 เดือนหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า ภาวะไร้น้ำหนักส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างเนื้อกระดูกไม่ให้เป็นไปตามปกติ ทำให้ปกติแล้วนักบินอวกาศจะสูญเสียมวลกระดูกไปประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ 1 เดือนในอวกาศ

นาซายังพบว่าสก็อตต์ มีฮอร์โมนที่เกี่ยวกับสุขภาพของกระดูกและกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากการออกกำลังหนักกว่าปกติเพื่อชดเชยระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศเช่นกัน

Advertisement

นาซายังศึกษาการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการคิด โดยเปรียบเทียบกระบวนการดังกล่าวของสก็อตต์ในช่วง 6 เดือนแรกในอวกาศกับ 6 เดือนหลัง พบว่า เกิดภาวะลดลงเล็กน้อยในช่วง 6 เดือนหลัง ทั้งในแง่ของความเร็วและความแม่นยำ แต่ไม่มากพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะในการทำหน้าที่ในห้วงอวกาศ ในกรณีที่มีการยืดภารกิจจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซายังพบความแตกต่างของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารของมาร์คที่อยู่บนพื้นโลกและของสก็อตต์ที่อยู่ในห้วงอวกาศ แบคทีเรียในลำไส้ของสก็อตต์แตกต่างออกไปจากเมื่อครั้งที่อยู่บนพื้นโลก นอกจากนั้นแบคทีเรียของมาร์คยังมีสารเมทาโบไลท์ เพื่อการย่อยที่เรียกว่า 3-อินโดเลโพรไพโอนิค (ไอพีเอ) ซึ่งเป็นผลผลิตของแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ทีมของนาซายังตรวจสอบ ดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ของสก็อตต์และมาร์คในเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อเปรียบเทียบ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอในลักษณะของมิวเทชั่นที่แต่ละคนมีแตกต่างกันออกไปเป็นจำนวนหลายร้อยลักษณะในจีโนมของคนทั้ง 2 โดยมีการแสดงออกของอาร์เอ็นเอที่แตกต่างกันออกไปมากถึง 200,000 ลักษณะ

นักวิทยาศาสตร์ของนาซา ระบุว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาโดยละเอียดต่อไป เพื่อดูว่าในส่วนของสก็อตต์นั้นมี “ยีนอวกาศ” เกิดขึ้นมาและเป็นตัวสร้างความแตกต่างนี้หรือไม่นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image