‘ปริมประภา เจริญสุข’ น.ศ.ไทยสร้างชื่อในจีน

สวัสดีค่ะ ดิฉัน “น้องปริม” ปริมประภา เจริญสุข เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุราษฎร์ธานี ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยยูนนาน นอร์มัล สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง มรภ.สุราษฎร์ธานี และม.ยูนนาน นอร์มัล ว่าสาขานี้เรียนปี 1-2 ที่ประเทศไทย และปี 3-4 เรียนที่ประเทศจีน เพื่อให้ได้ภาษาจีนที่ครบเครื่องและผ่านประสบการณ์จากประเทศเจ้าของภาษาจริงๆ

ดิฉันเป็นสาวตรัง สนใจและหลงใหลวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่สมัยเรียน ม.ปลายที่โรงเรียนสภาราชินี 2 จนทำให้ได้ทุนเป็น 1 ใน 4 ตัวแทนนักเรียนไทยไปใช้ชีวิตที่กวางโจวเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมไทย-จีน การได้ทุนครั้งนั้นยิ่งตระหนักว่าชอบภาษาและวัฒนธรรมจีนจริงๆ เมื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงเลือกเรียนสาขาภาษาจีนที่ มรภ.สุราษฎร์ธานี

2

2 ปีแรกที่เรียน มรภ.สุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยจัดหาอาจารย์จีนเจ้าของภาษามาสอนให้ และเรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับจีน วัฒนธรรมจีน ประวัติศาสตร์จีน การเขียนพู่กันจีน พอถึงปี 3 ก็ไปเรียนที่ ม.ยูนนาน นอร์มัล มณฑลยูนนาน ไปกันทั้งหมด 26 คน พวกเราเป็นนักศึกษาไทยรุ่นที่ 4 ฉะนั้น เรารู้สึกอุ่นใจที่มีรุ่นพี่รุ่นที่ 3 เรียนอยู่ที่โน่นแล้ว คอยดูแลให้คำปรึกษาพวกเรา นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ประจำอยู่ที่จีน 1 คน คือ ดร.ภูมิ พรหมพาหกุล ตอนนั้นอยู่ในช่วงทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกพอดี ทำให้อาจารย์ยุ่งมาก แต่ก็แบ่งเวลามาดูแลพวกเราอยู่ตลอด อาจารย์เปรียบเสมือนพ่อของนักเรียนไทยและมี อาจารย์อุมา สินธุเศรษฐ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาอีกคนที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย

Advertisement

เรื่องการปรับตัวไม่ยาก เพราะ 2 ปีแรกที่เรียนในไทยเหมือนการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ประกอบกับได้เพื่อนนักศึกษาชาวจีนที่เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่และมีน้ำใจมาก ทำให้รู้สึกอุ่นใจ เช่น เจ็บป่วยไม่สบาย ก็พาไปโรงพยาบาล การบ้านไม่เข้าใจก็สอนให้ การเรียนก็ติวให้ นับว่าโชคดีมากๆ ที่ได้เพื่อนดี

จริงๆ แล้วตอนไปใหม่ๆ ก็คิดถึงบ้านมาก แต่หลังๆ เริ่มสนุก ไม่อยากกลับบ้านแล้ว โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้คนไกลรู้สึกเหมือนอยู่ใกล้กัน ดิฉันให้พ่อแม่ลงแอพพลิเคชั่นวีแชต แล้ววิดีโอคอลคุยกันวันละ 1-2 ครั้ง ก็หายคิดถึงหายเป็นห่วงไปได้ ตอนแรกนักเรียนไทยก็รู้สึกอึดอัดเพราะที่จีนไม่สามารถใช้ไลน์ ยูทูป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์หรือแม้แต่กูเกิลได้ คนจีนส่วนใหญ่ใช้วีแชตหรือ คิวคิว แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวคิว เปรียบเสมือนเฟซบุ๊กของจีน ใช้สำหรับแชตและโพสต์รูป

ที่จีน ดิฉันคว้ารางวัลมากมาย เริ่มต้นที่ “รางวัลเข้าเรียนยอดเยี่ยมประจำปี 2559” โดยมหาวิทยาลัยพิจารณาจากการเข้าเรียนตรงเวลา ไม่สาย ไม่ขาดเรียน จากนั้นยังได้รับ “รางวัลนักศึกษาดีเด่นประจำปี 2559” จาก ม.ยูนนาน นอร์มัลด้วย แต่รางวัลใหญ่ที่สร้างความฮือฮา คือ “รางวัลนักศึกษาต่างชาติดีเด่น ประจำปี 2559” ซึ่งรัฐบาลจีนมอบให้พร้อมทุนการศึกษา โดยพิจารณาจากหลายด้าน เช่น ผลการเรียนดี ผลคะแนนสอบ HSK (การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน) ดี ซึ่งดิฉันสอบ HSK ได้ 221 คะแนนจากคะแนนเต็ม 300 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่สูง

Advertisement

ส่วนเคล็ดลับการเรียนภาษาจีน สิ่งแรกที่ทำ คือเอาโน้ตบุ๊กที่เพิ่งซื้อจากไทยไปลบข้อมูลออกทั้งหมด แล้วทำให้เป็นภาษาจีน แม้แต่แป้นพิมพ์ก็ใส่ภาษาจีนไปแทน ประกอบกับการที่เป็นหัวหน้าห้อง มีหน้าที่ประสานงานเป็นตัวกลางระหว่างนักเรียนไทยกับสำนักงานของมหาวิทยาลัย เลยทำให้มีโอกาสได้ใช้ภาษาจีนอยู่เสมอ ช่วยให้พัฒนาได้เร็วขึ้น

ปริมประภา เจริญสุข
ชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์
มรภ.สุราษฎร์ธานี

3

4

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image