เดินหน้าต่อ “อ่างท่าแซะ” หลังนิ่งเป็นสิบปี ผบ.มทบ.44 ขอชลประทานเร่งทำข้อมูล 2 สัปดาห์

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมเขตอุดมศักดิ์ มณฑลทหารบกที่ 44 (มทบ.44) ต.วังใหม่ อ.เมือง จ.ชุมพร นายณรงค์ พลละเอียด ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย พล.ต.อุดมวิทย์ อโนวัลย์ ผู้บัญชาการ มทบ.44 ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำท่าแซะ อาทิ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ ผอ.สำนักชลประทานที่ 14 นายวีรวัฒน์ อังศุพานิชย์ ผอ.สำนักชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 นายศุภชัย วรรณะ ผอ.โครงการชลประทานชุมพร นายวนิพงศ์ มุณีน้อย นายอำเภอท่าแซะ ผู้แทนจากตำรวจภูธรจังหวัด (ภ.จว.) ชุมพร ที่ดิน อ.ท่าแซะ ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ธนารักษ์จังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ ผู้บริหารโรงเรียน นายกเทศมนตรี นายก อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน อ.ท่าแซะ ผู้จัดการบริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออย จำกัด (มหาชน) และชุดปฏิบัติการ รส.ร.25 พัน 1 เข้าร่วมประชุมรวม 108 หน่วยงาน

พล.ต.อุดมวิทย์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ชะลอโครงการอ่างเก็บน้ำท่าแซะมาตั้งแต่ปี 2551 เพราะยังมีผู้คัดค้านโครงการ ขณะที่ก็ยังมีผู้สนับสนุนโครงการอีกมาก จึงอยากให้ทั้งสองฝ่ายพูดความจริง สร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ส่วนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก็ถือเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ไม่ควรโหนกระแสแต่ว่าแก้มลิงหนองใหญ่และคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักสามารถป้องกันอุทกภัยได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะ ซึ่งฝ่ายชลประทานต้องสำรวจข้อมูลที่ชัดเจนให้ได้ตัวเลขที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด ไม่ควรเอาข้อมูลเก่าเมื่อปี 2551 มาพูดอีก เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

พล.ต.อุดมวิทย์ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับฝ่ายชลประทานแล้วว่า ต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ดีที่สุด เพราะพวกเขาคือผู้เสียสละ ต้องไม่ใช้คำว่าเวนคืนที่ดิน แต่ควรบอกว่ารัฐจะจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่พวกเขาต้องไปเริ่มอาชีพใหม่ได้เท่าใด เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน และเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ารัฐเป็นที่พึ่งได้ ประเด็นสำคัญที่กำลังมีการพูดถึงขณะนี้คือ การโยกย้ายชาวบ้านออกนอกพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ รัฐจะจ่ายค่าชดเชยเรื่องพืชผลอาสิน วิถีชีวิต และลูกหลานของพวกเขาที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียนอย่างไร สถานที่ใหม่ที่จะให้พวกเขาไปอยู่มีระบบสาธารณูปโภคพวกน้ำ ไฟฟ้าหรือไม่ โดยต้องสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ ที่มีจำนวน 300 กว่าคนให้ดีที่สุด

201702091514355-20021028190522

Advertisement

จากนั้น ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น ฝ่ายชลประทานพูดถึงภาพรวมของโครงการ ฝ่ายป่าไม้พูดถึงพื้นที่ป่าที่ต้องสูญเสียไป ฝ่ายนายก อปท.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านพูดถึงความกังวลใจของผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่ง พล.ต.อุดมวิทย์ได้ขอให้ฝ่ายชลประทานลงพื้นที่สำรวจข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้งใน 2 สัปดาห์

หลังการประชุม พล.ต.อุดมวิทย์ เปิดเผยว่า ข้อสรุปการประชุมครั้งนี้คือ อ่างเก็บน้ำท่าแซะที่หยุดชะงักมาเกือบ 10 ปีต้องเดินหน้าต่อ โดยต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่เรียนของบุตรหลาน โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องเอาข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องจริงจากชลประทานไปชี้แจงคำความเข้าใจกับชาวบ้าน ส่วนขั้นตอนทางวิศวกรรมและกฎหมายนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบมีพร้อมหมดแล้ว เพื่อเสนอให้ต้นสังกัด ซึ่งฝ่ายปกครองคงต้องเป็นพระเอก ส่วนฝ่ายวิศวกรรมคือชลประทานต้องเป็นพระรอง หากสร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะ ชาวชุมพรทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกจะได้ประโยชน์มหาศาล เพราะนอกจากจะทำหน้าที่ของเขื่อนแล้ว ก็จะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วม ป้องกันน้ำทะเลหนุน ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต่อไปจะไม่มีน้ำท่วมขังเหมือนที่ผ่านมา และปัญหาความแห้งแล้งใน อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว จะหมดไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายชลประทานจะต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก สิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะต้องมีการติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้กันใหม่ว่า การบ้านที่มอบให้แต่ละหน่วยงานไป ประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image