พบแรงผลัก ‘ทางช้างเผือก’ เคลื่อนที่ข้าม ‘จักรวาล’

ภาพจาก NASA

รายงานผลการศึกษาชิ้นใหม่ของ เยฮูดา ฮอฟฟ์แมน นักจักรวาลวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮีบรูว์ ในกรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการ “เนเจอร์” เมื่อเร็วๆ นี้ อ้างว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกกำลังถูกผลักให้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงข้ามจักรวาลด้วยแรงที่มองไม่เห็นจากอาณาบริเวณที่แทบไร้กาแล็กซี ที่ตั้งอยู่ห่างจากโลกไปราว 500 ล้านปีแสง

อาณาเขตดังกล่าวอยู่เลยออกไปด้านไกลสุดของกลุ่มดาวลาเซอร์ตา (เดอะ ลิซาร์ด คอนสเตลเลชั่น) มีลักษณะเป็นอาณาเขตกว้างใหญ่แทบไม่มีอะไรปรากฏให้เห็น และดูเหมือนจะอัตคัดกาแล็กซีมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งฮอฟฟ์แมนและทีมงานตั้งชื่อให้ว่า “ไดโพล รีเพลเลอร์”

นักวิทยาศาสตร์รับรู้กันมานานแล้วว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีระบบสุริยะอยู่ด้วย รวมทั้งกาแล็กซีใกล้เคียง อย่างเช่นกาแล็กซีอันโดรเมดานั้นเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากแรงดึงเชิงแรงโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างขนาดมหึมาที่หนาแน่นและใหญ่โตที่สุดเท่าที่ตรวจสอบได้ในจักรวาลชื่อกลุ่มดาวแชปลีย์ ซึ่งมีกาแล็กซีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลหนาแน่นมากจนถูกเรียกว่า “ซุปเปอร์คลัสเตอร์” อยู่ห่างจากทางช้างเผือกออกไปราว 750 ล้านปีแสง

แรงดึงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กาแล็กซีทางช้างเผือกเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่มุ่งสู่ “แชปลีย์ ซุปเปอร์คลัสเตอร์” ด้วยความเร็วสูงถึง 630 กิโลเมตรต่อวินาที หรือราว 2 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่นักดาราศาสตร์สงสัยมาตลอดว่าแรงดึงดังกล่าวคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของกาแล็กซีทางช้างเผือก

Advertisement

ฮอฟฟ์แมนทำงานร่วมกับเพื่อนนักดาราศาสตร์ในฝรั่งเศสและฮาวาย เพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติของกาแล็กซีใกล้เคียงทั้งหมด โดยอาศัยข้อมูลอัตราส่วนจากหอสังเกตการณ์ต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการเคลื่อนที่ของกาแล็กซีกว่า 8,000 กาแล็กซีว่าเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด อย่างไร ในจักรวาลซึ่งกำลังขยายตัวออกไปอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

เมื่อแล้วเสร็จ แผนที่ 3 มิติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวการเคลื่อนตัวที่แน่นอนแนวหนึ่งของกาแล็กซีต่างๆ มุ่งหน้าเข้าหาแชปลีย์ และออกห่างจากอาณาบริเวณหนึ่งไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน อาณาบริเวณดังกล่าวซ่อนอยู่หลังกาแล็กซีทางช้างเผือกโดยอยู่ในแกนเดียวกัน

การเคลื่อนที่ของกาแล็กซีทางช้างเผือกเกิดขึ้นจากแรงดึงอันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงของกาแล็กซีต่างๆ โดยรอบ ถ้าหากกาแล็กซีต่างๆ เหล่านั้นกระจายกันในรูปแบบสุ่มทั่วทั้งจักรวาล แรงดึงจะเกิดขึ้นเหมือนๆ กันในทุกๆ ทิศทาง แต่ในความเป็นจริง กาแล็กซีไม่ได้กระจายตัวสม่ำเสมอ ผลก็คือ กาแล็กซีที่กระจุกตัวอยู่หนาแน่นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็จะดึงกาแล็กซีอื่นๆ เข้ามาหากลุ่มกาแล็กซีดังกล่าวนั้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ซึ่งว่างเปล่ามากกว่าปกติก็จะไม่มีกำลังดึงมากพอ หรือในทางปฏิบัติก็คือ มันกำลังผลักสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ออกห่างจากพื้นที่ว่างดังกล่าวนั้นนั่นเอง

Advertisement

ฮอฟฟ์แมนกล่าวว่า แรงดึงและแรงผลักดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวของกาแล็กซีทางช้างเผือกด้วยความเร็วสูงดังกล่าว

ฮอฟฟ์แมนยอมรับว่ายังคงจำเป็นต้องมีการวิจัยอีกมาก และตั้งความหวังว่าเทคโนโลยีที่มีความละเอียดสูงในอนาคตจะช่วยยืนยันเรื่องนี้ได้ เพื่อค้นหาว่าโลกและกาแล็กซีทางช้างเผือกมุ่งหน้าไปยังที่ใดกันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image