เปิดโพลรับวาเลนไทน์ พบปัญหาคู่รักเจ้าชู้-คบซ้อน-นอกใจสูงสุด ชี้เกือบครึ่งถูกมองเป็นสมบัติสามี

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวาเลนไทน์ประจำปี 2560 ชูแนวคิด “รักไม่ใช่การครอบครอง”

นายสิทธิศักดิ์ พนไธสงค์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นเนื่องในวันวาเลนไทน์ ต่อ “สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก” จากกลุ่มผู้หญิง อายุ 17-40 ปี จำนวน 1,608 ตัวอย่าง สำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า “ไม่จำเป็นที่วันวาเลนไทน์ต้องแสดงความรักเพราะสามารถทำได้ทุกวันอยู่แล้ว” เมื่อถามถึงมุมมองความรัก พบว่า เกินครึ่ง หรือ 76.8% มองว่า ผู้หญิงต้องรักเดียวใจเดียว ขณะที่ 47.9% มองว่าผู้ชายควรเป็นผู้นำครอบครัว 43.3%ภรรยา/คนรักที่ดีต้องเชื่อฟัง เอาอกเอาใจ 40.3%“รักต้องครอบครอง” ผู้หญิงเปรียบเป็นสมบัติสามี นอกจากนี้ 20.8% มองว่าผู้ชายมีอะไรกับคนรักแล้วไม่ป้องกัน นั่นแสดงถึงความไว้วางใจ และ18.2% มองว่าการหลับนอนกับสามี/คนรัก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

“ที่น่าห่วงคือคู่รักที่เคยเจอทั้งกับตัวเอง/เพื่อน/คนรู้จัก ยังคงเป็นปัญหาแฟนเจ้าชู้/คบหลายคน/นอกใจ เคยถูกคู่รักกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกดุด่า/พูดจาหยาบคาย/ส่งเสียงดัง ถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ตบหน้า ทุบตี ข่มขู่คุกคามให้หวาดกลัว ประจาน ที่สำคัญพบกว่า 42.2% ล่อลวง/บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และ 41.1% ถูกบังคับให้ทำแท้ง สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในคู่รัก คือ การนอกใจ หึงหวง หวาดระแวง การใช้ยาเสพติด การดื่มสุรา การไม่ให้เกียรติกัน และพฤติกรรมติดสื่อโซเชียล” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว

IMG_3394

Advertisement

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลปัญหาความรุนแรงในคู่รักเกิดมาจากทัศนคติการมองความรักเป็นการใช้อำนาจ การแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ มองว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของคนรัก ล้วนมาจากทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ คนในสังคมจึงควรปรับเปลี่ยนมุมมองความรัก ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ความสำคัญกับความรัก ให้เกียรติกัน เข้าใจกัน แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน เช่น ผู้ชายช่วยงานบ้าน เลี้ยงดูลูกได้

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัจจัยกระตุ้น จากการใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่ามีส่วนสำคัญทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงและลุกลามบานปลาย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรมุ่งประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในเทศกาลวาเลนไทน์เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีมาตรการรับมือปัญหาจากปัจจัยกระตุ้นอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรรณรงค์สร้างความรักในนิยามใหม่ ที่เน้นความเข้าใจ การเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรปรับหลักสูตรเน้นการเรียนการสอน “มิติบทบาทหญิงชาย” เพื่อสร้างทัศนคติตั้งแต่วัยเด็กให้เข้าใจความรักในแบบที่มีความเคารพสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image