จัดใหญ่ “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” ยกระดับนวัตกรรม “บึงกาฬ 4.0”

กลับมาอีกครั้งสำหรับ “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” งานมหกรรมยางพาราอันดับ 1 ของประเทศไทย จัดขึ้นที่จังหวัดบึงกาฬ เมืองหลวงของยางพาราภาคอีสานต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬศูนย์กลางยางพารา การท่องเที่ยวก้าวหน้า การค้าก้าวไกล”

การจัดงานในปีนี้นอกจากจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ สอดรับกับสถานการณ์ราคายางพาราที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเต็มไปด้วยสาระความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะยกระดับสู่การเป็น “บึงกาฬ 4.0”

ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

พิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์
พิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์

พิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ บอกว่า การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬปีนี้ มีการเชื่อมโยงที่สำคัญจากทุกฝ่าย ซึ่งสามารถพัฒนารายได้และนวัตกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ไปสู่ประเทศไทย 4.0 ถ้างานวันนี้สำเร็จ นอกจากจะสร้างไฮไลต์ในการเป็นศูนย์กลางยางพาราแล้ว จะยกระดับเป็นยางพาราบึงกาฬ 4.0 ในอนาคตด้วย

Advertisement
พินิจ จารุสมบัติ
พินิจ จารุสมบัติ

ขณะที่ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เเละประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ผู้ผลักดันและสนับสนุนการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ยืนยันชัดเจนว่า งานยางพาราบึงกาฬปีนี้จะเป็นบึงกาฬ 4.0 แน่นอน เพราะจะมีนวัตกรรมล้ำสมัยมากมาย รวมถึงไฮไลต์สำคัญอย่าง “เครื่องกรีดยางอัตโนมัติ” รุ่นล่าสุดจากประเทศจีน ที่สามารถตอบสนองนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในการสร้างรายได้ ยิ่งในช่วงที่เเรงงานหายไป

“ปีนี้ทางประเทศจีนจะนำเครื่องกรีดยางอัตโนมัติมาจัดแสดงที่งาน 9 เครื่อง เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูง ได้น้ำยางสม่ำเสมออยู่ในระดับมาตรฐานของสากล กรีดแล้วมันไม่เข้าเนื้อยางมากจนเกินไป ไม่ทำให้ต้นยางเสียหายหรือเป็นแผล เวลาฝนตกก็สามารถกรีดยางได้โดยที่หน้ายางไม่เปียกน้ำ แล้วยังช่วยประหยัดเวลาและกำลังคนด้วย ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจอยากได้เครื่องกรีดยางจำนวนมากเนื่องจากวันนี้เขาหาแรงงานกรีดยางไม่ได้ โดยราคาผมกำลังพยายามเจรจาจะไม่ให้เกิน 4,000 บาท/เครื่อง แต่มีความคุ้มค่าแน่นอน สามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 2 ปี” พินิจอธิบาย

นอกจากนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อน จ.บึงกาฬ สู่การเป็นบึงกาฬ 4.0 แล้ว งานวันยางพาราในปีนี้ยังยกระดับสู่ความเป็นสากลมากขึ้น โดยมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องด้านยางพาราจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม

Advertisement

พินิจบอกว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งบทบาทงานวันยางพาราจึงมีผลต่อตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนที่เป็นผู้ใช้ยางพารามากที่สุดในโลก ซึ่งงานในปีนี้จะมีเนื้อหาที่เข้มข้นและมีการพัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติโดยมีผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว มาเลเซีย กัมพูชา อินเดีย และจีนเข้าร่วมด้วย จึงนับเป็นความสำเร็จอย่างมากที่งานระดับภูมิภาคสามารถดึงดูดต่างประเทศเข้าร่วมได้มากแบบนี้ งานวันยางพาราบึงกาฬยังขยายผลต่อเนื่อง ถึงเรื่องการค้า การลงทุน ตลอดจนความร่วมมืออีกมากมาย

นิพนธ์ คนขยัน
นิพนธ์ คนขยัน

อีกตัวอย่างความสำเร็จที่มีจุดเริ่มต้นจากความร่วมมือต่อเนื่องในงานวันยางพาราบึงกาฬ สำหรับโรงงานหมอนและที่นอนยางพารา ที่มีการผลักดันโดย นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ

“ถ้าไม่มีงานวันยางพาราบึงกาฬ คงไม่มีวันนี้ โรงงานหมอนยางพาราก็คงไม่เกิด”

เป็นความในใจของนายก อบจ.บึงกาฬ ที่ปีแรกปฏิเสธเสียงแข็งไม่อยากจัดงานนี้และมองไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างไร แต่วันนี้ นิพนธ์เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการจัดงานอย่างเต็มที่

“งานวันยางพาราบึงกาฬเป็นเวทีสำคัญของพี่น้องเกษตรกร ไฮไลต์ของปีนี้คือความสามัคคีของการรวมกลุ่มชาวบึงกาฬในนามชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางฯ จำกัด สร้างโรงงานหมอนและที่นอนจากยางพารา ส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของคนบึงกาฬในการพึ่งพาตัวเองให้ความฝันของชาวสวนยางจะเป็นจริง เมื่อเศรษฐกิจดี คุณภาพชีวิตของเกษตรกรก็จะดีตามไปด้วย” นิพนธ์ทิ้งท้าย

“งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” คงจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากพันธมิตรสำคัญทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

อย่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไม่พลาดมาร่วมงานพร้อมกับการจัดนิทรรศการพิเศษเพื่อให้ความรู้ โดยเน้นเรื่องนวัตกรรมจากการแปรรูปยางพารา เป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา

เชาว์ ทรงอาวุธ
เชาว์ ทรงอาวุธ

เชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า งานวันยางพาราบึงกาฬเป็นงานที่มีความสำคัญ กยท.มีส่วนร่วมในการดูเเลส่งเสริมการบริหารจัดการยางพาราอย่างครบวงจร โดยจะเข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกรภาคอีสานในเรื่องทิศทาง แนวทางของ กยท.ในปี 2560 โดยจะเน้นเรื่องการแปรรูป เพิ่มมูลค่า และเรื่องงานวิชาการ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น หมอนยางพารา ที่นอน และแผ่นยางปูพื้น

“นอกจาก กยท.แล้วในงานนี้ยังมีหน่วยงานที่ทำงานด้านวิจัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือสถาบันที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับยางพารามานำเสนอ ผมว่าวันนี้เรื่องการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น นอกจาก กยท.จะมีมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หรือนักวิชาการอิสระ จะทำให้งานยางพาราบึงกาฬ เป็นงานสำคัญของประเทศไม่ใช่เฉพาะคนบึงกาฬ หรือคนภาคอีสานเท่านั้น เป็นงานที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรทั่วประเทศมามองหาแนวทางยางพาราร่วมกัน” นายเชาว์กล่าว

เฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน)
เฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน)

อีกหนึ่งพันธมิตรที่สำคัญจากประเทศจีนอย่าง “บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด” ผู้ให้การสนับสนุนและร่วมงานยางพาราบึงกาฬเป็นประจำทุกปี เฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้อำนวยการ ฝ่ายประเทศไทย บอกว่า งานยางพาราและกาชาดบึงกาฬเป็นเหมือนวันตรุษจีนยางพารา เป็นงานที่ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัทผู้ประกอบการจากประเทศจีนพลาดไม่ได้ สำหรับปีนี้ได้เชิญชาวจีนจากหลายบริษัท ปีนี้ยังมีโครงการใหม่เป็นการเปิดอีคอมเมิร์ซเพื่อซื้อขายยางพาราผ่านระบบออนไลน์ เป็นอาลีบาบารับเบอร์ ที่สามารถซื้อขายเเละส่งข้อมูลเรื่องราคาระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยางพาราในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

พานิชย์ ยศปัญญา
พานิชย์ ยศปัญญา

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน พานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ไม่พลาดนำสิ่งดีที่สุดมาร่วมจัดแสดงในงาน ผ่านการจัดเสวนาและนิทรรศการ เพื่อมุ่งหวังพัฒนาเข้าสู่การเกษตร 4.0

“เรามีเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ทั้งการนำเสนอเครื่องจักรกลที่ลดต้นทุนการผลิต และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากที่สุด ยังมีเรื่องของการแปรรูป และการต่อยอดการแปรรูป เรื่องของการปลูกพืชเสริมในสวนยางพารา ปีนี้มีมานำเสนอมากกว่า 20 ชนิดมาเล่าให้เข้าใจง่ายตามสไตล์เทคโนโลยีชาวบ้านด้วย”

พีระพงศ์ คำชื่น
พีระพงศ์ คำชื่น

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาร่วมให้ข้อมูลกับเกษตรกรด้วย

พีระพงศ์ คำชื่น
ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธ.ก.ส. ระบุว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ธ.ก.ส.ในปีที่ผ่านมา เรามีทิศทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและยกระดับผู้ผลิต ผู้เพาะปลูก ให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับงานวันยางพาราบึงกาฬ ดังนั้นในงานนี้ ธ.ก.ส.จะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการเพิ่มมูลค่า รวมถึงนำตัวผู้ประกอบการมาพูดคุยกันในบูธนิทรรศการของธนาคาร

“ยังมีที่ปรึกษาเรื่องการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีการเกษตร ที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ มาให้ความรู้ด้วย หากใครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีการเกษตร รวมถึงเรื่องการเพิ่มมูลค่ายางพารา สามารถมาพูดคุยกันได้ที่บูธ ธ.ก.ส. ในงานวันยางพาราบึงกาฬได้ทุกวัน” พีระพงศ์อธิบาย

เพื่อให้ จ.บึงกาฬก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยางพาราของภาคอีสาน พร้อมมุ่งสู่การเป็นแหล่งศึกษาพัฒนานวัตกรรมยางพาราระดับประเทศ ปีนี้มีหน่วยงานต่างๆ มาให้ความรู้ด้วย

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี
ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บอกว่า เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ มจพ.ได้ร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬ สำหรับปีนี้ มจพ.มีนวัตกรรม

ตามแนว Industry 4.0 มานำเสนอ 2 ส่วน คือ นวัตกรรมเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งที่บูธ มจพ.ปีนี้จัดเต็มในส่วนของนวัตกรรม ทั้งถนนยางพารา ถนนกันลื่น ถนนเรืองแสง บล็อกปูถนนจากยางพารา และ นวัตกรรมที่เป็นการแก้ไขปัญหา โดยใช้โจทย์จากชาวบ้าน

“ตัวอย่างเช่น โจทย์จากชาวบ้านคือ เวลากรีดยางพาราแล้วฝนตก มีความสูญเสียเกิดขึ้นเยอะมาก เวลาน้ำยางพาราโดนฝน เป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ปีนี้มีทางออกให้ดูในงานวันยางพาราครั้งแรกเลยว่า น้ำยางโดนน้ำฝนแล้วจะทำอย่างไร? ยังมีไฮไลต์เด่นที่ มจพ.ร่วมกับจังหวัดจัดทำถนนยางพาราต้นแบบที่บึงกาฬ” ผศ.ดร.ระพีพันธ์ทิ้งท้าย

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์
ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์

ขณะที่อุทยานการเรียนรู้ยางพารา “รับเบอร์แลนด์ (RubberLand)” ก็มาเปิดอาณาจักรยางพาราที่งานนี้ด้วย

ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดพี.พี.สยามลาเท็กซ์ ระบุว่า รับเบอร์แลนด์เป็นพิพิธภัณฑ์ยางพาราแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย

เราต้องการให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วยางพาราไม่ได้น่าเบื่อ โดยจะย่อยความรู้ให้เป็นแหล่งบันเทิง โดยในงานยางพาราบึงกาฬปีนี้ รับเบอร์แลนด์จะยกพิพิธภัณฑ์ยางพาราแบบย่อมๆ ไปจัดแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วยางพาราใช้ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

“เราอยากจะเป็นจุดเล็กๆ ที่จุดประกายให้นักออกแบบ นักเรียนและนักศึกษาได้เห็นว่าเขาสามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่านี้พัฒนาสร้างนวัตกรรมที่เป็นของไทย โดยในงานจะมีกิจกรรมเวิร์กช็อปให้ร่วม ต้องติดตามกันว่าจะเป็นกิจกรรมอะไร” ฐวัฒน์ทิ้งท้าย

เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560” งานเดียวที่ครบครันทั้งความรู้และความบันเทิง ตลอด 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-22 กุมภาพันธ์นี้ ห้ามพลาด

แล้วพบกันที่จังหวัดบึงกาฬ

11

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image