เปิดใจนิสิตวิศวะ จุฬาฯ ทำไมต้องค้านกฎแต่งชุดผิด ตัดสิทธิทุน-ชวดเกียรตินิยม

จากกรณีฝ่ายกิจการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายภายในคณะจนมีลักษณะค่อนข้างเข้มงวด ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มนิสิตจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าระเบียบดังกล่าวมีความเข้มงวดเกินไป และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ กระทั่งมีการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล่ารายชื่อขอให้คณบดีมีการทบทวนระเบียบดังกล่าว

นายฐาปกร แก้วลังกา นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในนิสิตที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดวันนี้ (10 กุมภาพันธ์) จะมีการขยายจุดลงรายชื่อเป็นสามจุดคือ ที่ลานเกียร์ คณะวิศวะ บริเวณจุดรอรถประจำทางมหาวิทยาลัย และบริเวณคณะอักษรศาสตร์ ในส่วนกระแสตอบรับนั้นก็มีทั้งกระแสให้กำลังใจทั้งในคณะและนอกคณะ แต่ก็มีเสียงคัดค้านมาบ้าง

นายฐาปกรอธิบายว่า โดยกลุ่มที่ให้กำลังใจนั้นเห็นว่ากิจกรรมที่เราจัดขึ้นถูกต้องแล้ว เป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อตัวนิสิตเอง นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้กำลังใจด้วย อาทิ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ ที่มาร่วมลงชื่อเมื่อวาน โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่า การที่กิจการนิสิตประกาศตรวจสอบนิสิตอย่างเข้มงวด และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์จะเริ่มตัดคะแนนความประพฤติ ตัดสิทธิทุนและอาจไม่ได้เกียรตินิยม อาจารย์เจษฎาเห็นว่า ไม่มีกฎระเบียบข้อไหนที่ระบุว่าแต่งกายผิดระเบียบแล้วอาจจะหมดสิทธิเกียรตินิยม ถือเป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อนิสิต นอกจากนี้ก็ยังมีอาจารย์ในคณะวิศวะหลายคนที่กล่าวให้กำลังใจกับกลุ่มที่เคลื่อนไหว ระบุว่าทำถูกแล้ว ไม่ได้ทำผิดอะไร ส่วนนิสิตนอกคณะก็มาให้กำลังใจ ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ระเบียบของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการแต่งกายก็มีอยู่แล้ว แต่เมื่อคณะวิศวะมีความเข้มงวดมากขึ้น คณะอื่นที่สังกัดอยู่ใช้ข้ออ้างแบบคณะวิศวะก็จะมีปัญหา

นายฐาปกรเล่าเรื่องการแต่งกายในอดีต ระบุว่าขณะนี้ตนศึกษาอยู่ในชั้นปีที่3 โดยในอดีตการแต่งกายของนิสิตวิศวะสามารถใส่ชุดเสื้อช็อปทับกับชุดไปรเวตมาเรียนได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับอาจารย์ประจำวิชาว่าเป็นการเรียนวิชาใด การเข้มงวดก็จะแตกต่างกัน อย่างในภาควิชาไฟฟ้าก็จะมีบางวิชาที่อาจารย์ห้ามใส่เสื้อช็อปมาเรียน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการออกเป็นกฎระเบียบบังคับในระดับคณะขนาดนี้

Advertisement

โดยปัญหาในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่คณะเริ่มประกาศมาตรการดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก โดยนิสิตเข้าใจว่าฝ่ายกิจการนิสิตจะเข้าไปตรวจเสื้อผ้ามีสิทธิในห้องเรียน คนที่มาเรียนก็เลยแต่งกายถูกระเบียบกันหมด กระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์เริ่มมีการตรวจจริงจัง ช่วงเวลาพักเที่ยงถึงบ่ายโมง ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกิจการนิสิตเดินมาตรวจเสื้อผ้า ตั้งแต่บริเวณโรงอาหาร ลานเกียร์ ใต้อาคาร และรอบคณะทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือนิสิตที่ไม่มีเรียนหรือชั้นเรียนยกเลิก บางส่วนมาทำงานเฉยๆ ก็ใส่ชุดไปรเวตมา จนถูกฝ่ายกิจการนิสิตเรียกตัวไป เพื่อนๆ ในกลุ่มต่างเห็นว่าเป็นการกระทำที่มากเกินไป ในการบังคับให้เราต้องแต่งตัวอย่างไร แม้ว่าจะอยู่นอกห้องเรียน เย็นวันนั้นจึงมีการสร้างแคมเปญนี้ขึ้นมา

“โดยในวันนั้นมีคนถูกตรวจจับระเบียบเสื้อผ้าทั้งหมดสี่คน ซึ่งทางกลุ่มเพื่อนเห็นว่าการเดินไล่ล่าจับผิดเครื่องแต่งกายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดขณะนี้นิสิตวิศวะร่วมลงชื่อมากกว่า 450 คนแล้ว และยังคงทยอยมาลงชื่อได้เรื่อยๆ โดยเป้าหมายของกลุ่มจะมีการนำรายชื่อไปยื่นให้คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ขอให้ทบทวนและยกเลิกการเข้มงวดกวดขัน” นายฐาปกรระบุ

26

Advertisement

เมื่อถามว่าผู้บริหารคณะได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ นายฐาปกรระบุว่า คณบดีพูดชี้แจงเมื่อวานว่าชุดนิสิตมีความจำเป็น เป็นการฝึกให้นิสิตอยู่ในกฎระเบียบ โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการฝึกนิสิตเพื่อให้ออกไปสู่สังคม การมีกฎตรงนี้คือการฝึกให้นิสิตอยู่ในกฎ เป็นคล้ายๆ กับแบบจำลองทางสังคม

เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการฝึกระเบียบดังกล่าวหรือไม่ นายฐาปกรระบุว่า

“ไม่เห็นด้วย หากเทียบกับกฎหมายในสังคม ที่บอกว่าเป็นการฝึก แต่กฎหมายของสังคมไม่ได้บังคับเรื่องการแต่งกายของเรา หากยกตัวอย่างข้าราชการที่ต้องแต่งเครื่องแบบ ก็จะตอบว่านั่นคือทางเลือก คนที่เรียนจบมาไม่ได้ไปเป็นข้าราชการทั้งหมด ผมคิดว่าควรทำให้มันเป็นเรื่องของทางเลือก ไม่ควรจะต้องมาบังคับกันขนาดนี้ ส่วนที่บอกว่าเป็นเรื่องของแบบจำลองทางสังคม ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะว่าเป้าหมายของคนที่เข้ามาเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่ต้องการมาจำลองการใช้ชีวิตอะไร แต่ต้องการมาแสวงหาความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาสังคมหรือประกอบอาชีพในอนาคต”

และว่า “โดยการออกกฎเข้มงวดตรวจจับเครื่องแต่งกาย แม้ในทางตรงจะไม่ได้บั่นทอนศักยภาพในการเรียนรู้อะไร แต่อีกทางหนึ่งมันคือการปลูกฝังวิธีคิดผิดๆ เพราะกฎข้อนี้ไม่ได้มีการให้เหตุผลที่ชัดเจน หรือมีน้ำหนักมากพอว่าสมควรนำมาปรับใช้เพื่ออะไร เป็นการพยายามบังคับให้นิสิตทำตามๆ กันไป โดยไม่คิดว่าทำเพื่ออะไร สุดท้ายแล้วที่คณะบอกว่าให้เราเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียเป็นของตนเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าตั้งคำถาม แต่พอเราตั้งคำถามกับเรื่องพวกนี้ ถูกมองว่าเราดื้อ หรือเป็นคนไม่ดี สุดท้ายแล้วความคิดสร้างสรรค์ที่พูดมา หมายถึงอะไร?” นายฐาปกรระบุ

เมื่อถามว่าในมหาวิทยาลัยมีคณะที่ไม่เข้มงวดตรวจจับเรื่องการแต่งกายหรือไม่ นายฐาปกรระบุว่า

“มีที่คณะรัฐศาสตร์และคณะอักษรศาสตร์ โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ที่อาจารย์อนุญาตให้นิสิตใส่ชุดไปรเวทมาเรียนเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายแล้วเด็กที่จบคณะรัฐศาสตร์ก็เป็นคนมีวินัยได้ ก็เป็นคนที่เคารพกฎหมาย มีอาชีพการงานที่รุ่งเรือง ทำประโยชน์กับประเทศชาติได้มากมาย ไม่เห็นมีผลอะไรเลย ผมคิดว่าเรื่องวินัยมันเกิดจากสภาพสังคมและการปลูกฝัง ให้มีความตระหนักรู้และเข้าใจอย่างมีเหตุผล ว่าทำไปเพื่ออะไร ต้องการแบบไหนในสถานการณ์อย่างไร เพราะอะไร? ไม่ใช่การบังคับไปเลยว่าจะต้องแต่งกายยังไง การบังคับไม่ได้ก่อให้เกิดการคิด อยากจะฝึกวินัยระเบียบจริงๆ เราควรฝึกให้คนคิดอย่างมีเหตุผลและเข้าใจมากกว่า”

แกนนำคนดังกล่าวเสนอด้วยว่า ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์น่าจะมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการพัฒนาแนวคิดและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ รวมถึงความรู้ทางวิชาการของประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เมื่อทุกคนเดินเข้ามาในคณะวิศวะก็จะเห็นป้ายไวนิลเกี่ยวกับกฎการแต่งกายเต็มไปหมดเลย

“สุดท้ายแล้วเราให้ความสำคัญกับวิชาการแค่ไหน คณะจัดความสำคัญอะไรไว้เป็นอันดับหนึ่งกันแน่ ระหว่างนิสิตต้องแต่งกายให้เป็นระเบียบทุกคน กับนิสิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ทางวิชาการ” นายฐาปกรกล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการยื่นรายชื่อแล้วไม่ก่อให้เกิดการทบทวนหรือยกเลิก จะทำอย่างไรต่อ? แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวระบุว่า “อาจจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป ซึ่งก็ต้องดูท่าทีของทางคณะ เพราะได้ยินมาว่าคณะอาจจะมีเวทีให้พูดคุยเรื่องนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจัดตอนไหน ต้องดูอีกทีหนึ่ง ในระยะยาวหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็อาจจะมีการร้องเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยต่อไป”

 

31

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image