9.00 INDEX กระบวนทัศน์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ ‘คำถาม’ ในสถานการณ์ปรองดอง

ข้อเสนอว่าด้วยการเปลี่ยน “กรอบคิด” หรือ “กระบวนทัศน์” อันมาจาก นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

แหลมคม

เพราะไม่เพียงแต่จะยกตัวอย่างจากสถานการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2485

ตอนที่กองทัพ “ญี่ปุ่น” รุกเข้ามา

Advertisement

หากแต่ยังยกตัวอย่างจากสถานการณ์ในห้วงของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อเนื่องมายังรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ส่งผลให้แปรคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” มาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

หากไม่ทำความเข้าใจต่อ “กรอบคิด”

Advertisement

หากไม่ทำความเข้าใจต่อ “กระบวนทัศน์” ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง”

แหลมคมเพราะเสนอในบรรยากาศ “ปรองดอง”

ต้องยอมรับว่าในคนรุ่นนี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ มีบทเรียนและประสบการณ์อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า

“อุดม” และ “สมบูรณ์”

ในทางการเมืองอาจเริ่มที่ “พรรคประชาธิปัตย์” แต่ก็แยกตัวออกมาจัดตั้ง “พรรคมหาชน” พร้อมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

แต่ในความเป็นจริงเขามี “ประสบการณ์” มากกว่านั้น

อย่าลืมว่าเขาเคยร่วมจัดตั้ง “พรรคจุฬาประชาชน” และเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายก สจม.ก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

จากนั้น ก็เดินทางไป “ศึกษาต่อ” เขตงานพัทลุง-ตรัง

จากนั้น ก็เดินทางไป “ศึกษาต่อ” ยังฐานที่มั่นจังหวัดน่าน และฐานที่มั่นจังหวัดพะเยา

ก่อนไปทำปริญญาเอกที่ “มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย”

จากสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 มายังสถานการณ์ปรองดองเดือนกุมภาพันธ์ 2560

จึงต้อง “เปลี่ยน” กระบวนทัศน์มาแล้วหลายครั้ง

อย่าว่าแต่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เลยที่เปลี่ยน “กระบวนทัศน์” มาหลายครั้ง

สมณะ “สิทธัตถะ” ก็เช่นเดียวกัน

หากไม่มีการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” ไฉนจะนั่งม้าออกจากพระราชวัง หากไม่มีการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” ไฉนจะยุติการอดอาหารแล้วลงมือฉันอาหาร กระทั่งปัญจวัคคีย์มีความเห็น

เพราะการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” นั่นแหละจึง “บรรลุ”

กระนั้น คำถามที่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จำเป็นต้องตอบก็คือ ใครกันเล่าที่ต้องเปลี่ยน “กระบวนทัศน์”

เป็นฝ่ายของ “นักการเมือง” หรือเป็นฝ่ายใด

หากเปลี่ยนฝ่ายเดียว ข้างเดียว แล้วคำว่า “ปรองดอง” จะต่างอะไรกับ “มัดมือชก” เล่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image