สำรวจ’สนามร้าง’ ครึ่งปีให้หลังบราซิลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก’รีโอเกมส์’

สภาพด้านนอกศูนย์กีฬาทางน้ำ (ภาพ Reuters)

เพียงครึ่งปีคล้อยหลังจากการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์หนแรกบนแผ่นดินอเมริกาใต้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้ายที่กลายเป็น “ของแสลง” ของบรรดาเจ้าภาพกีฬายุคใหม่ไปเรียบร้อย

ย้อนหลังไปสัก 10-20 ปีก่อน การทำหน้าที่เจ้าภาพมหกรรมกีฬารายการใหญ่อย่างโอลิมปิกเกมส์หมายถึงผลตอบแทนมหาศาลจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดและสิทธิประโยชน์จากสปอนเซอร์ต่างๆ จนบรรดาชาติสมาชิกแทบจะแย่งกันทำหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายๆ เมืองตั้งบรรทัดฐานเอาไว้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ด้วยการทุ่มงบประมาณถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.54 ล้านล้านบาท) ในการเป็นเจ้าภาพ ด้วยมองว่าโอลิมปิกเกมส์เป็นเวทีแสดงแสนยานุภาพในฐานะประเทศมหาอำนาจของโลก

ปัญหาคือ ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แตกต่าง ไม่ใช่ทุกชาติจะใช้เงินเป็นถุงเป็นถังได้เหมือนกับจีน และมักลงเอยด้วยภาระหนี้สิน ขณะที่สนามแข่งขันที่สร้างหรือปรับปรุงใหม่ก็ถูกทิ้งร้าง ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์หรือช่วยพัฒนาชุมชนตามแผนงานที่วางไว้ กลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำที่เปล่าประโยชน์

กรณี “รีโอเกมส์” ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าวไม่ต่างกัน เมื่อบราซิลเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหลังทุ่มงบประมาณกว่า 40,000 ล้านเรียล (4.5 แสนล้านบาท) เพื่อจัดการแข่งขัน พร้อม “คำมั่นสัญญา” มากมายเกี่ยวกับโครงการใช้ประโยชน์จากสนามหรือสาธารณูปโภคที่สร้างหรือปรับปรุงใหม่

Advertisement

หลังจบการแข่งขัน สนามกีฬาทุกแห่งก็ปิดล็อก ไม่เคยจัดการแข่งขันกีฬาใดๆ หรือเปิดให้คนในชุมชนเข้าไปใช้บริการ ยกเว้นเพียงครั้งเดียวตอนที่คอร์ตเทนนิสถูกปรับใช้เป็นสนามแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะโดนวิจารณ์ว่าไม่ควรนำทรายไปเทถมบนพื้นผิวคอร์ต แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เงียบไปเพราะยังดีกว่าไม่นำไปใช้อะไรเลย

ส่วนสภาพของสนามอื่นๆ ในตอนนี้แทบไม่เหลือเค้าเดิมจากตอนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สนามกอล์ฟถูกทิ้งร้างจนหญ้าบางส่วนเริ่มตาย สระว่ายน้ำเหือดแห้งเหลือเพียงน้ำขังก้นสระสีน้ำตาลไม่น่ามอง แม้กระทั่งสนามฟุตบอลมาราคาน่าที่ยิ่งใหญ่และเกรียงไกรก็ยังปิดล็อกและโดนตัดไฟ กลายเป็นสนามหญ้าปนดินทรายที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชี้ว่า ปัญหาการปล่อยสนามรกร้างนั้น นอกจากเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเพราะนครรีโอเดจาเนโรเพิ่งเปลี่ยนตัวนายกเทศมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว อีกทั้งยังมีปัญหาขัดแย้งกับคู่สัญญาที่ทำหน้าที่บริหารจัดการสนาม แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็คาดหวังว่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์สนามกีฬาที่อุตส่าห์ทุ่มงบประมาณสร้างขึ้นมา

ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อเตือนความจำว่า ครั้งหนึ่งประเทศนี้เมืองนี้เคยเสียเงินไปมหาศาลเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิกเกมส์” มาแล้วเท่านั้น

ภาพมุมสูงของศูนย์กีฬาทางน้ำ (ภาพ Reuters)
ภาพมุมสูงของศูนย์กีฬาทางน้ำ (ภาพ Reuters)
เด็กๆ เล่นฟุตบอลหน้าลานโอลิมปิกปาร์ก (ภาพ Reuters)
เด็กๆ เล่นฟุตบอลหน้าลานโอลิมปิกปาร์ก (ภาพ Reuters)
คอร์ตเทนนิสถูกแปรสภาพเป็นสนามแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด (ภาพ Reuters)
คอร์ตเทนนิสถูกแปรสภาพเป็นสนามแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด (ภาพ Reuters)
ภาพมุมสูงของโอลิมปิกปาร์กในรีโอเดจาเนโร (ภาพ Reuters)
ภาพมุมสูงของโอลิมปิกปาร์กในรีโอเดจาเนโร (ภาพ Reuters)
ภาพมุมสูงของสนามมาราคาน่าที่หญ้าเริ่มตาย (ภาพ Reuters)
ภาพมุมสูงของสนามมาราคาน่าที่หญ้าเริ่มตาย (ภาพ Reuters)
สระว่ายน้ำที่เหือดแห้ง (ภาพ Reuters)
สระว่ายน้ำที่เหือดแห้ง (ภาพ Reuters)
สนามทั้งหมดถูกปิดตายไม่ให้คนเข้า (ภาพ Reuters)
สนามทั้งหมดถูกปิดตายไม่ให้คนเข้า (ภาพ Reuters)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image