สัญญาณเศรษฐกิจขาลง : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวฮือฮาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ท่านหนึ่งที่ได้ตั้งข้อสังเกตอันสำคัญว่า เงินคงคลังของรัฐบาลได้ลดลงมาตามลำดับในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จากที่เคยมีสูงถึง 6 แสนล้านบาท ลดลงมาเหลือเพียง 7.5 หมื่นล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2559

แม้ว่าการลดลงอย่างต่อเนื่องของเงินสดในบัญชีเงินคงคลังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่ถึงกับเป็นอันตรายมากนัก เพราะบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเงินบาท ไม่ใช่บัญชีเงินตราต่างประเทศในบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่เราควรจะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เพื่อใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ซึ่งต้องชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการอย่างน้อยไม่ต่ำกว่ามูลค่านำเข้าสินค้าและบริการประมาณ 3 เดือน

สำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น ขณะนี้เรามีมากเพียงพอ กล่าวคือมีมากกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการถึงกว่า 6 เดือน เป็นทุนสำรองจริงๆ เพราะได้มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ใช่ทุนสำรองที่เกิดจากการไปกู้หนี้ยืมสินมา เพราะขณะนี้โดยส่วนรวมประเทศเราเป็นเจ้าหนี้สุทธิของต่างประเทศ เพราะทรัพย์สินต่างประเทศส่วนใหญ่ของเราเป็นพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันและทองคำ พันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นมีบ้างเป็นครั้งคราวแต่ก็ไม่มาก

เงินคงคลังที่เคยมีมากก็เพราะในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น การประมาณการรายรับของรัฐบาลมักจะประมาณการไว้ต่ำกว่ารายรับที่เกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกันรายจ่ายจริงของรัฐบาลก็มักจะต่ำกว่ารายจ่ายที่ตั้งไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี จึงทำให้เงินสดในบัญชีเงินคงคลังเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกปี มาบัดนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน เงินคงคลังลดลงทุกปี จนมาอยู่ที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ก็เป็นเพราะรัฐบาลชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีตาม พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี โดยใช้เงินคงคลังก่อนจนเงินคงคลังเหลือเท่าที่มีความจำเป็นตาม
ฤดูภาษีอากร ก่อนที่จะเอาพันธบัตรออกขายในตลาดเพื่อรักษาสภาพคล่องของรัฐบาล ซึ่งก็เป็นปกติของการบริหารเงินสดที่มีประสิทธิภาพ เหมือนๆ กับการบริหารเงินสดของบริษัท ห้างร้าน เอกชน ที่ไม่ควรถือเงินสดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แต่ถ้าเกิดเหตุจำเป็นก็ยังสามารถออกตั๋วเงินคลังขายในตลาด หรือไม่ก็กู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เพราะเช็คสั่งจ่ายของกระทรวงการคลังเป็นเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เช็คของธนาคารพาณิชย์

Advertisement

ประชาชนสมัยนี้มีความรู้และคอยติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจอยู่ด้วยความสนใจ จึงติติงรัฐบาลแต่รัฐบาลก็ไม่ควรตกอกตกใจ ไม่ควรจะโมโหโกรธา ค่อยๆ อธิบายทำความเข้าใจกับสังคม ให้ความรู้เพื่อให้คลายความวิตกกังวลลงบ้าง เพราะสถานการณ์อย่างนี้จะเรียกว่ารัฐบาล “ถังแตก” ก็ไม่ผิด แต่ถังที่แตกก็เอาชันเอาปูนมาปะมาอุดได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะตระหนักก็คือสถานการณ์ที่เงินคงคลังลดลงจนข้างหน้าอาจจะติดลบ เหมือนที่เคยเป็นมาแล้วก็ได้ เพราะเป็นสัญญาณว่าขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขาลง แต่เศรษฐกิจขาลงเที่ยวนี้ต่างกับเที่ยวก่อนๆ เพราะแม้จะเป็นเศรษฐกิจขาลงแต่เสถียรภาพการเงินยังเข้มแข็ง เพราะดุลการค้าก็ดี ดุลบัญชีการชำระเงินก็ดี ยังเกินดุลอยู่ แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ดุลบัญชีการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะติดลบอยู่บ้าง กล่าวคือ มีเงินทุนไหลออกมากกว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นเหตุให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ค่าเงินบาทจึงอ่อนลง แต่ก็ไม่มาก ค่าเงินสะบัดไปสะบัดมาเล็กน้อย ซึ่งก็นับว่ามีเสถียรภาพดี ไม่น่าจะต้องวิตก

แต่สิ่งที่น่าวิตกก็คือเศรษฐกิจที่แท้จริง หรือที่ตำราฝรั่งเขาเรียกว่า real sector กำลังเป็นขาลง สาเหตุของเศรษฐกิจขาลงสำหรับระบบเศรษฐกิจที่เล็กและเปิด “small and open economy” อย่างประเทศไทย ก็คือ การส่งออกซบเซา เพราะเราอาศัยการส่งออกถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ จะไม่พึ่งการส่งออกก็เป็นไม่ได้ เพราะตลาดภายในประเทศเล็กเกินไป จึงต้องอาศัยตลาดต่างประเทศ จะผลิตสินค้าหรือบริการอะไร หรือไม่ก็ต้องผลิตมากๆ เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ จนแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศที่คอยจะส่งเข้ามาตีตลาดภายในประเทศของเราได้ ซึ่งภาษาฝรั่งเรียกว่าต้องมี “economy of scale” ถ้าผลิตน้อยต้นทุนต่อหน่วยก็จะสูง และไม่ควรจะผลิตสินค้าทุกอย่าง เพราะบางอย่างเราไม่มีความได้เปรียบเชิงเทียบ comparative advantage ในการผลิต เราไม่ได้มีทรัพยากรทุกอย่างที่ใช้ในการผลิตในสัดส่วนที่เสมอกัน

Advertisement

เมื่อการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวช้าลงหรือหดตัว ก็จะทำให้ราคาสินค้า ทั้งที่เป็นวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนหรือสินค้าสำเร็จรูปมีราคาลดลง เมื่อราคามีแนวโน้มลดลง การจ้างแรงงานก็ต้องลดลง การทำงานล่วงเวลาก็ต้องลดลงหรือหยุด ต่อไปการทำงานในเวลาก็ต้องลดลง เครื่องมือเครื่องจักรก็จะไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ บางหน่วยก็ต้องหยุดหรือชะลอการเดินเครื่องลง สถานการณ์อย่างนี้จึงไม่มีใครลงทุนเพิ่มเติมเพิ่มขึ้น การขยายโรงงานเครื่องมือเครื่องจักร การลงทุนใหม่ก็ไม่เกิด

บริษัทห้างร้านต่างๆ เมื่อไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้เต็มที่ ก็ไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินได้ เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL หรือ nonperforming loan มากขึ้น สถาบันการเงินก็ต้องสำรองหนี้เสียมากขึ้น ทำให้กำไรมีแนวโน้มลดลง เป็นลูกโซ่ตามกันไป

อย่างไรก็ตาม การขาดดุลในขณะนี้ยังเป็นการขาดดุลเพียงดุลเดียว คือดุลงบประมาณ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน ยังไม่มีปัญหา เพราะแม้ว่ารายรับจากการส่งออกลดลง แต่รายจ่ายจากการนำเข้าก็ลดลงด้วย เนื่องจากสาเหตุความซบเซาของเศรษฐกิจเรา และราคาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างฮวบฮาบและรวดเร็ว จากที่เคยสูงกว่า 150 เหรียญต่อบาร์เรล มาเหลือเพียงไม่ถึง 50 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ความสมดุลระหว่างการใช้และการผลิตเริ่มเกิดขึ้น เพราะราคาน้ำมันดิบเริ่มไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ และคงจะไม่ลดลงต่ำกว่า 50 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว ถ้าราคาน้ำมันดิบกลับฟื้นตัวขึ้นราคาอีกครั้ง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็คงจะกลับคืนมา และขณะเดียวกันการขาดดุลบัญชีการเคลื่อนย้ายเงินทุนก็อาจจะเกิดขึ้น จะช้าหรือเร็วก็คงแล้วแต่ฝีมือของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้ดูแลนโยบายการเงินและดอกเบี้ย แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ หนี้ต่างประเทศสุทธิเป็นลบ กล่าวคือ เราเป็นเจ้าหนี้สุทธิ ยอดหนี้สาธารณะอันเกิดจากการออกพันธบัตร ขายให้กับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิตและอื่นๆ สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เพียง 40-50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น ยังไม่น่าต้องห่วง

แต่ที่น่าต้องห่วงคือ แนวโน้มเศรษฐกิจของเราเป็นเศรษฐกิจขาลง และอาจจะลงเร็วกว่าที่คิด ขณะนี้อุตสาหกรรม ธุรกิจบันเทิงและสื่อสารมวลชน ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์และอื่นๆ ทั้งหมดกำลังมีปัญหา เพราะค่าใช้จ่ายในการโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจชนิดนี้กำลังหดหายไปทุกๆ ไตรมาส

จากภาคธุรกิจบันเทิงไปสื่อสารมวลชน แล้วไปยังอุตสาหกรรมการส่งออก ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบทางด้านราคา เพราะภาคเกษตรกรรมจะผลิตเต็มกำลังการผลิตเสมอ ในระยะสั้นราคาผลผลิตก็จะเป็นตัวปรับลง ราคาสินค้าเกษตรจึงขึ้นลงอย่างฮวบฮาบ มีเสถียรภาพน้อยกว่าราคาสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับภาคบริการส่วนที่กระทบมากที่สุดก็คือการค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง เหลือที่สามารถขยายตัวอยู่ได้ก็คือการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

เศรษฐกิจขาลงที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นการปรับตัวของโครงสร้าง ไม่ใช่เป็นเรื่องชั่วคราว ดังนั้นคงต้องกินเวลา กว่าจะถึงจุดต่ำสุดและรอเวลาที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว คงไม่รวดเร็วอย่างที่เราปรารถนาอยากจะเห็น

สิ่งที่น่าห่วงและวิตกกังวลก็คือปัญหาจะลามไปสู่สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอย่างอื่น ถ้าเราไม่ระมัดระวังตัวเองให้มากพอ แต่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว เวลาที่พอมีก็น่าจะเตรียมตัวประคับประคองให้พ้นจากวัฏจักรขาลงไปได้ด้วยดี

เศรษฐกิจคงจะต้องปรับครั้งใหญ่อีกครั้ง

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image