นักโภชนาการแนะ “กินนม” อย่างไรให้ “สูง”

จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าเด็กไทยยังสูงไม่มาก องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตนมไทย-เดนมาร์ค จัดเสวนาเรื่อง “คุณค่านมโคสดๆ ไม่ต้องผสม เพื่อเด็กไทยโตสมวัย” พร้อมจัดแคมเปญ “มองหาสัญลักษณ์ไม่ผสมนมผง” เพื่อรณรงค์ให้เด็กไทยเลือกดื่มนมโคสดๆ ไม่ต้องผสมนมผงปรุงแต่ง

ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลสำรวจการบริโภคนมของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 พบว่าคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละ 14 ลิตรต่อปี หรือ 30 มิลลิลิตรต่อวัน ทั้งๆ ที่ปริมาณที่แนะนำให้ดื่มคือ 200 มิลลิลิตรต่อวัน ปริมาณนมที่คนไทยดื่มนั้นน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก 4-7 เท่า ซึ่งการดื่มนมเป็นปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับส่วนสูง ด้วยผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในคนไทยวัย 19 ปี พบว่าผู้ชายสูงเฉลี่ย 169.5 ซม. ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.7 ซม.

“สาเหตุทำให้เด็กไทยดื่มนมน้อย เพราะพ่อแม่มักให้ลูกดื่มน้ำหวาน นมเปรี้ยว หรือน้ำผลไม้เร็วเกินไป เด็กจึงติดรสหวาน และปฏิเสธนม แม่ที่มีลูกวัยก่อนเข้าอนุบาลหรือวัยอนุบาล ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน และให้ลูกเริ่มรับประทานนมโครสจืดไม่ผสมนมผงปรุงแต่ง เพราะสดใหม่จากธรรมชาติ ให้สารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสที่เหมาะสมในนมโคทำให้แคลเซียมในนมโคดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าแคลเซียมจากอาหารชนิดอื่น จึงมั่นใจได้ว่าเพียงพอต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟัน และความอร่อย หอม มัน ที่เป็นเอกลักษณ์ จะเป็นตัวสร้างความประทับใจแรกแก่เด็ก ให้เกิดความชื่นชอบติดปาก เป็นการปลูกฝังให้ดื่มได้ต่อเนื่องไปจนโต โดยไม่ติดหวาน ฟันไม่ผุ”

สำหรับเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ย่างเข้าสู่วัยรุ่น เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการสร้างมวลกระดูกเพื่อความสูง การจะได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอจากอาหารทั่วๆ ไปเป็นเรื่องยาก คุณแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกวัยนี้ดื่มนมรสจืดแบบไม่ผสมนมผงปรุงแต่งวันละ 2-3 กล่องหรือ 400-600 มิลลิลิตร ไม่ควรดื่มนมมากกว่านี้ในแต่ละวันเพื่อหวังเพิ่มความสูงในช่วงวัยสำคัญนี้เพราะร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้หมด และต้องได้รับอาหารอื่นๆ ครบ 5 หมู่อาหารไทย

Advertisement

สำหรับเด็กโตที่มีภาวะอ้วน พ่อแม่ควรให้ลูกดื่มนมยูเอชทีไม่ผสมนมผง ชนิดพร่องมันเนย ทั้งนี้นมพร่องมันเนยไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีรับประทาน เพราะเด็ก 2-3 ปี ต้องการไขมันเพื่อการเติบโตของสมอง”

นอกจากให้ลูกดื่มนมในปริมาณที่เหมาะกับวัยแล้ว ต้องสนับสนุนให้ลูกออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย ลูกจึงจะเจริญเติบโตและมีน้ำหนักตัวสมวัย

ผศ.ดร.เรวดี
ผศ.ดร.เรวดี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image