“นาซา” เตรียมแผน สำรวจพื้นผิว “ยูโรปา”

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่แผนเตรียมการเบื้องต้นความยาว 264 หน้า ว่าด้วยเค้าโครงและเป้าหมายของการจัดส่งยานสำรวจพื้นผิวไปลงยัง “ยูโรปา” หนึ่งในดาวบริวารหรือดวงจันทร์ 17 ดวงของดาวพฤหัสบดี (จูปิเตอร์) ที่เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะ พร้อมทั้งรูปแบบเบื้องต้นของยานสำรวจพื้นผิวดังกล่าว (ดูภาพประกอบ)

แผนงานดังกล่าวเป็นเพียงแผนเบื้องต้นที่อาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมาก แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดหลังจากที่นาซาพูดถึงการสำรวจยูโรปามานานหลายปีแล้ว ทั้งนี้ มีการกำหนดเวลาคร่าวๆ เอาไว้ว่า ยานสำรวจพื้นผิวยูโรปาอาจถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศโดยเร็วในราวต้นปี 2024 เพื่อให้เดินทางไปร่อนลงบนยูโรปาให้ได้ในปี 2031 ทั้งนี้ การสำรวจพื้นผิวนั้นถูกกำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการ คือ การค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต, การตรวจสอบสภาพว่าเอื้อต่อการดำรงชีพของมนุษย์อย่างไรหรือไม่ และสุดท้ายก็คือ การกำหนดพื้นที่เพื่อการสำรวจครั้งต่อไปในอนาคต

ตามแผนดังกล่าว ยานสำรวจยูโรปาจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยระบบจรวดส่งขนาดใหญ่ที่ถือเป็นจรวดรุ่นใหม่สำหรับการสำรวจในอนาคตที่เรียกรวมๆ ว่า “สเปซ ลอนช์ ซิสเต็ม” ทั้งนี้ การส่งยานสำรวจผิวจะเป็นภารกิจลำดับถัดมา หลังจากมีการส่งยานสำรวจไปโคจรเฉียดผ่านเพื่อสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาก่อนในราวต้นทศวรรษ 2020 ตัวยานสำรวจพื้นผิวจะยิงจรวดเรโทรร็อกเก็ตและใช้ระบบสกายเครน เพื่อชะลอความเร็วขณะร่อนลงสู่พื้นผิวเพื่อให้สามารถลงสู่พื้นของยูโรปาให้นุ่มนวลมากที่สุด

ยูโรปาเป็นเป้าหมายของการสำรวจใกล้ชิดเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตมานานแล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า บนดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีแห่งนี้มีมหาสมุทรขนาดใหญ่ปรากฏอยู่เหนือพื้นผิวที่เป็นหิน แบบเดียวกับมหาสมุทรบนพื้นโลก ข้อสังเกตของนักดาราศาสตร์ก็คือ บนพื้นโลกนั้น พื้นผิวโลกใต้มหาสมุทรเป็นแหล่งที่มาสำคัญของพลังงานและสารอาหารรูปแบบต่างๆ ที่ถูกปล่อยให้ซึมซาบอยู่ในน้ำทะเล จนกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่เอื้อต่อการเกิดและดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น จึงคาดว่ามหาสมุทรบนยูโรปาเองก็น่าจะมีบทบาทในทำนองเดียวกัน และหากในท้องน้ำของยูโรปา สามารถมีสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบง่ายๆ เป็นสิ่งมีชีวิตปฐมภูมิได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอาจถูกส่งขึ้นมาสู่พื้นผิวมหาสมุทรที่เป็นน้ำแข็งบนยูโรปา ผ่านทางลำไอน้ำหรือเป็นผลจากการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งของแผ่นน้ำแข็ง จนสามารถตรวจสอบได้ในที่สุด

Advertisement

ตามแผนงานของนาซา ยานสำรวจพื้นผิวถูกกำหนดให้มีขีดความสามารถขุดเจาะพื้นผิวของยูโรปาลงไปอย่างน้อย 10 เซนติเมตร และจัดการเก็บตัวอย่างที่แตกต่างกันขึ้นมา 5 ตัวอย่างหรือมากกว่านั้น เพื่อนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทั้งที่เป็นอินทรียสารและอนินทรียสารของวัสดุที่เป็นตัวอย่างเหล่านั้น แล้วนำตัวอย่างแต่ละชิ้นเข้าไปวางไว้ในกล้องจุลทรรศน์ซึ่ง “มีความสามารถเป็นพิเศษในการจำแนกเซลล์จุลชีพ ที่มีขนาดเล็กมากถึง 0.2 ไมครอน และเจือจางอย่างมากถึงระดับ 100 เซลล์ต่อคิวบิกเซนติเมตร” ได้

การแผ่รังสีมหาศาลที่มาจากดาวพฤหัสบดีทำให้ถ้าหากมีสิ่งมีชีวิตบางอย่างอยู่บริเวณพื้นผิวของยูโรปาได้ก็อาจมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ไม่นานนัก เช่นเดียวกับยานสำรวจพื้นผิวของนาซา ซึ่งภายในติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ละเอียดอ่อนอยู่ภายในห้องผนึกกันรังสีทำนองเดียวกับอุปกรณ์ต่างๆ บนยานจูโน แต่ก็คาดหมายกันว่าจะสามารถอยู่รอดจากรังสีเข้มข้นได้เพียงแค่ราว 20 วันเท่านั้นบนพื้นผิวของยูโรปา

ถ้าหากยานสำรวจดังกล่าวพบหลักฐานของสิ่งที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต และเอื้อต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนยูโรปา แต่กลับไม่มีสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบต่อไปว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นเช่นนั้น

Advertisement

คำตอบที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติในอนาคตได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image