‘หนังผี-การ์ตูนเล่มละบาท’ วัฒนธรรมชายขอบที่ถูกผลักจาก ‘ความเป็นไทย’

ภาพยนตร์สยองขวัญและการ์ตูนเล่มละบาทปรากฏในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้ถูกให้ความสนใจหรือใส่ใจศึกษาเท่าไรนัก ด้วยภาพความเป็นวัฒนธรรมชั้นรอง ไม่ใช่ศิลปะชั้นสูงที่วัฒนธรรมหลักของไทยให้คุณค่า

ดร.ชนกพร ชูติกมลธรรม อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เลือกทำวิทยานิพนธ์โดยศึกษาผ่านเอกสารที่ไม่เป็นทางการทั้งสองสิ่งนี้

ชนกพรจบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง ปริญญาโทสาขาวัฒนธรรมศึกษา โกลด์สมิธ มหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาเอกจากโซแอส (SOAS)

ในการสัมมนาบัณฑิตศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผ่านมา ชนกพรนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์เรื่อง การประกอบสร้างความเป็นไทยและวัฒนธรรมชายขอบ : แนวคิดเรื่องหมู่บ้านในภาพยนตร์สยองขวัญและภาพสตรีอันตรายในการ์ตูนเล่มละบาท ทศวรรษ 2520-2550

Advertisement

จึงได้สรุปความเบื้องต้นจากการนำเสนอไว้

ชนกพรเริ่มต้นงานจากการตั้งคำถามถึงแนวคิดเรื่องความเป็นไทย เมื่อเห็นว่าในความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา วัฒนธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในหลายส่วน

ชนกพร ชูติกมลธรรม
ชนกพร ชูติกมลธรรม

ความเป็นไทยผ่านภาพของ “หมู่บ้าน”

ความเป็นไทยเป็นอำนาจนำทางวัฒนธรรมที่สถาปนาขึ้นมาเหนือวัฒนธรรมอื่น โดยวัฒนธรรมที่มีค่าสูงสุดของไทยคือวัฒนธรรมราชสำนักและลดหลั่นไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น

Advertisement

หลุยส์ อัลธูแซร์ บอกว่า การรักษาอำนาจชนชั้นนำต้องคงอำนาจทางสังคมไว้ รัฐมีเครื่องมือสองอย่างที่ใช้ควบคุมการผลิตซ้ำของสังคม คือ การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามและการครอบงำเชิงอุดมการณ์ควบคุมความคิดคนให้อยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบเดิม

กระบวนการนี้ทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ เกิดความสัมพันธ์เชิงการเมือง ให้คุณค่าชนบางกลุ่มเป็นพิเศษตามแนวคิดวัฒนธรรมส่วนกลาง ขณะที่วัฒนธรรมชายขอบถูกให้คุณค่าต่ำ แท้จริงแล้ววัฒนธรรมชั้นรองอาจมีคุณค่ารองรับคนละกลุ่มกับวัฒนธรรมส่วนกลาง

แนวคิดเรื่องความเป็นไทยมักถูกนำไปเกี่ยวเนื่องกับภาพหมู่บ้านชนบท คอนเซ็ปต์เรื่องหมู่บ้านในสังคมไทยมักถูกใช้เพื่อคิดถึงความเป็นชาติไทยหรืออัตลักษณ์ไทย จะเห็นได้จากละครและภาพยนตร์ว่าความเป็นไทยแท้คือหมู่บ้านชนบท เป็นยูโทเปียอุดมสมบูรณ์ไม่มีความขัดแย้ง

“การจินตนาการนี้ไม่ได้หยุดแค่ที่ความคิดแต่ไปกำหนดไอเดียที่นำไปสู่การกระทำ เช่น เรื่องหมู่บ้านละล้านถูกมองว่าคนกู้เงินไปซื้อมือถือเป็นสิ่งไม่จำเป็น เกิดไอเดียแช่แข็งว่าคนชนบทไม่ควรเป็นอย่างนี้”

“หมู่บ้าน” มีหลายความหมายไม่ใช่เพียงในมโนภาพ ภาพหมู่บ้านที่บริสุทธิ์ผุดผ่องถูกลดทอนความหมายที่ไม่ดี เกิดการทำให้แนวคิดเรื่องหมู่บ้านมีความโรแมนติก

การสร้างภาพหมู่บ้านที่ไม่มีความขัดแย้ง บอกว่าหมู่บ้านสงบสุขทั้งที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง จะไปกดว่าคนต้องอยู่อย่างสงบสุขอย่างเดียว เป็นการทำให้คนเชื่องหรือเชื่อฟัง

ชาวนา ไถ นา

กระบวนการสร้างภาพโรแมนติกของหมู่บ้าน

การสร้างภาพโรแมนติกของหมู่บ้านในไทยสมัยใหม่มี 2 ระลอกที่เข้มข้น

ระลอกแรก 1960s-1970s เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน บอกว่า ช่วงสฤษดิ์-ถนอม เป็น American Era อเมริกาให้เงินรัฐบาลไทยมาพัฒนาชนบทในช่วงสงครามเย็นเพื่อเป็นฐานต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดการสร้างตัวของหมู่บ้าน ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นเพราะจะง่ายต่อการจัดการสาธารณูปโภค จัดประกวดหมู่บ้านตัวอย่าง ให้หมู่บ้านมีรั้วรอบขอบชิด

ทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มอำนาจรัฐในการสอดส่องตรวจตรา จากนั้นเศรษฐกิจเติบโตพร้อมทุนนิยม ชนชั้นกลาง การขยายตัวของอุดมศึกษา และปัญญาชน เกิดขบวนการศิลปะเพื่อชีวิต เห็นคุณค่าของชนบท ต่อต้านอเมริกาและทุนนิยม

ระลอกสอง 1980s-1990s ช่วงเศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดดเป็นผลจากนโยบายพัฒนาช่วงก่อนหน้า เมืองขยายตัว คนย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เกิดอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้สังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ขณะที่ปัญญาชนพยายามต้านทานด้วยการวิพากษ์แนวทางของรัฐ

ปี 1997 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ตามมาด้วยแนวคิดที่จะไม่พึ่งตะวันตกที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจพัง เกิดแนวคิดต้องการความเป็นไทยและแนวคิดท้องถิ่นนิยมหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้คนจินตนาการถึงหมู่บ้านบริสุทธิ์ เห็นได้จากภาพยนตร์ไทยใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น “เรื่องตลก 69” ที่มีแนวคิดว่าทุนนิยมสกปรกปนเปื้อนและเรียกหาชนบทที่สงบ

หลังวิกฤตเศรษฐกิจคนชั้นกลางอยากกลับบ้านไปทำไร่นา มองความโรแมนติกของชนบท ทั้งที่ “หมู่บ้าน” มีหลายความหมาย เต็มไปด้วยกลุ่มต่างๆ มีการแย่งชิงอำนาจและทรัพยากร เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและการปะทะ

“ในแง่นี้เราจะยังมองหมู่บ้านว่าเป็นสวรรค์บ้านนาชนบทได้หรือไม่?”

ภาพหมู่บ้านในแบบเรียนหลักสูตรมานะมานี
ภาพหมู่บ้านในแบบเรียนหลักสูตรมานะมานี

หมู่บ้านในหนังสือเรียน ภาพสะท้อนความเป็นชาติ

จากการศึกษาภาพของหมู่บ้านในหนังสือเรียนพบว่า “หมู่บ้าน” ถูกใช้เป็นสถานที่หลักในหนังสือเรียน

การใช้ภาพหมู่บ้านแสดงความเป็นชุมชนเพื่อให้เห็นภาพความเป็นชาติ เพราะทุกคนมีประสบการณ์ในความสัมพันธ์ระดับนี้ นอกจากการทำให้ง่ายแล้วยังให้ภาพที่แตกต่าง

ภาพของหมู่บ้านประกอบด้วยภาพของครอบครัวอยู่ด้วย จึงทำให้ภาพความขัดแย้งระดับชาติถูกลดทอนลงไป

หนังสือเรียนหลักสูตรปี 2521 มานะมานี ตอบรับหมู่บ้านช่วงที่มีแผนการพัฒนายุคสฤษดิ์ จะเห็นภาพหมู่บ้านมีรั้วรอบขอบชิด สถานที่ราชการอยู่ตรงกลาง

ต่อมาหลักสูตรแก้วกล้า ภาพหมู่บ้านเริ่มใกล้เคียงกับภาพชนบทนิยม มีเรื่องหมู่บ้านทอผ้า ผู้ชายในหมู่บ้านทำไร่นาผู้หญิงทอผ้า ทุกคนอยู่ด้วยความสุขสงบ ภาพหมู่บ้านในหลักสูตรนี้ดูเก่ากว่ายุคมานะมานี ไม่ได้สะท้อนบริบทปี 1990 ที่คนเริ่มย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง การเกษตรลดน้อยลง เมืองกำลังเติบโต เป็นการสะท้อนภาพหมู่บ้านเชิงอุดมการณ์ที่ชนชั้นนำอยากให้คนเข้าใจ

ภาพหมู่บ้านทอผ้าในแบบเรียนหลักสูตรแก้วกล้า
ภาพหมู่บ้านทอผ้าในแบบเรียนหลักสูตรแก้วกล้า

หมู่บ้านในหนังผี

ภาพยนตร์สยองขวัญในวัฒนธรรมชั้นรองของไทยมักมีสถานที่อยู่ในหมู่บ้าน เป็นการปรากฏตัวของสิ่งที่ถูกกดทับจากวัฒนธรรมกระแสหลัก

ภาพยนตร์สยองที่ทำให้เห็นไอเดียหมู่บ้านที่เป็นดิสโทเปีย จะมีเรื่องที่โด่งดังซึ่งใกล้เคียงกับช่วงการสร้างภาพโรแมนติกของหมู่บ้านไทย 2 ยุคที่อธิบายไปข้างต้น

1.บ้านผีปอบ พ.ศ.2532 ผีปอบเป็นผีที่ต้องอยู่กับชุมชน ต้องมีคนสังเกตว่าคนนี้มีพฤติกรรมผิดไป ทางจิตวิทยาบอกว่าเป็นอาการโรคจิตเชิงวัฒนธรรม (Culture-BoundSyndrome) คนที่เป็นผีปอบมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน แปลกประหลาด ผีปอบเกิดจากความเป็นชุมชน ในหมู่บ้านที่คนสนิทกันเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเบี่ยงเบนของคนอื่น

ความเป็นผีปอบสะท้อนถึงความเป็นหมู่บ้านที่เปลี่ยนไปจากแนวคิดการพัฒนาที่ให้คนอยู่เป็นชุมชนเพื่อขยายสาธารณูปโภค ผีปอบเหมือนเป็นความหวาดกลัวที่ถูกกดทับกับความเชื่อว่าหมู่บ้านต้องสงบสุข

บ้านผีปอบ

2.ผีหัวขาด พ.ศ.2545 ใกล้เคียงยุคภาพยนตร์ไทยใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ช่วงที่มีภาพชนบทโรแมนติก แต่เรื่องผีหัวขาดสะท้อนภาพหมู่บ้านในอีกมุมมอง

ผีหัวขาดเป็นชายที่เข้ามาตามหาเพื่อนพ่อในหมู่บ้าน แล้วมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีธุรกิจผิดกฎหมาย โดยพระเอกเข้าไปขัดขวางและถูกตัดคอ กลับมาเป็นผีหัวขาดกลับมาจัดการ

เรื่องนี้เป็นที่ชื่นชอบ โดยเฉพาะตลาดคนต่างจังหวัด ให้ภาพตรงกันข้ามกับภาพชนบทโรแมนติก คนในหมู่บ้านเป็นคนพิการสารพัดแบบ เกิดภาพดิสโทเปีย เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจปกครองก็ฉ้อฉลแต่กลับให้คนที่ตายไปแล้วต้องมาจัดการ

ผีหัวขาด

‘ผู้หญิงอันตราย’ ในหนังผี-การ์ตูนเล่มละบาท

อีกมิติความเป็นไทยที่ถูกกดทับ คือ การสร้างภาพความเป็นหญิง ในยุคก่อนสมัยใหม่สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพศหญิงเป็นใหญ่ แต่การสถาปนาความเป็นไทยสมัยใหม่คุณค่าแบบวิกตอเรียนกดทับความเป็นหญิง เกิดวาทกรรมเรื่องการเป็นผู้หญิงที่ดี ต้องรักนวลสงวนตัวที่ขัดแย้งกับภาพหญิงไทยในสายตาต่างชาติที่มองว่ามีอุตสาหกรรรมทางเพศขนาดใหญ่

ความเป็นผู้หญิงที่ดีถูกสร้างจนถูกมองว่าสิ่งนี้คือความเป็นไทยแท้

เส้นแบ่งความเป็นหญิงดีหรือไม่ดีคือการแสดงออกเรื่องเพศ ผู้หญิงที่ดีไม่ควรแสดงความปรารถนาทางเพศ ทำให้เกิดการควบคุมตัวเองของผู้หญิงให้อยู่ในกรอบ

การสร้างภาพความเป็นผู้หญิงดีไปกดทับความเป็นผู้หญิง ภาพหนังผีส่วนใหญ่จะเป็นผีผู้หญิง อย่างแม่นาค ผีบุปผา เป็นความหวาดกลัวทางวัฒนธรรมที่กลับมาจากการกดทับความเป็นหญิงในวัฒนธรรมกระแสหลัก

หนังสือการ์ตูนเล่มละบาท

จูเลีย คริสเตวา เจ้าของทฤษฎี Abjection เสนอว่างานวรรณกรรมที่ใช้ภาพความสยองขวัญเป็นที่ให้คนได้ระบายอารมณ์ ปลดปล่อยความคับข้องใจ เราอยากดูหนังซอมบี้ที่ไม่น่าดู เพราะเห็นภาพที่น่าขยะแขยง ทำให้ขอบเขตสิ่งที่เป็นอยู่ถูกสลายไปชั่วขณะหนึ่ง เมื่อดูจบจะช่วยให้คนได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่ถูกกดทับ

ส่วนในหนังสือการ์ตูนเล่มละบาทมีภาพสยองขวัญที่มีความเป็นเพศสูง เกือบทุกเรื่องเป็นผีผู้หญิงที่น่าแหวะและเซ็กซี่ ภาพผู้หญิงในการ์ตูนเล่มละบาทขัดแย้งภาพผู้หญิงในวัฒนธรรมกระแสหลัก พล็อตเรื่องส่วนใหญ่จะซ้ำกัน ตัวละครผู้หญิงถูกละเมิด ข่มขืน ฆ่า หรือทำร้ายโดยผู้ชาย กลับเป็นผีมาล้างแค้นในรูปของผู้หญิงที่น่ากลัวอันตรายมีพลังอำนาจเหนือกว่า

เช่น การ์ตูนเรื่องหลอนทวงคืน ที่ระบบปิตาธิปไตยยังคงอยู่ช่วงภรรยามีชีวิต แต่เมื่อผู้หญิงละเมิดสถาบันการแต่งงานและถูกฆ่า ก็เกิดการสลับอำนาจ มาจัดการผู้ชาย เป็นการกลับมาของสิ่งที่ถูกกดทับ อำนาจจะกลับหัวกลับหาง ผู้หญิงมีอำนาจและมีความอันตรายไม่ใช่ผู้หญิงเชื่องๆ เหมือนตอนที่มีชีวิต หลายๆ เรื่องจะเป็นเช่นนี้

…….

“ที่สุดแล้วเรายังสามารถใช้ไอเดียเรื่องความเป็นหมู่บ้านจินตนาการถึงความเป็นไทยแท้ได้ไหม อีกทั้งเรื่องความเป็นหญิงที่เพิ่งถูกสถาปนา อยากให้ลองมองเรื่องราวในวัฒนธรรมที่เคยถูกมองว่าต่ำค่าว่าจะสามารถศึกษาอย่างจริงจังได้ไหม”

ชนกพรกล่าวสรุปทิ้งท้าย

“อำนาจนำสร้างแรงกดทับคนบางกลุ่ม สิ่งที่ถูกกดทับอาจจะยังอยู่ แต่กลับมาในมิติวัฒนธรรมชายขอบ ไม่ได้หายไปไหน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image