Future Perfect เมื่อออฟฟิศจับตาคุณ : Internet of Things กำลังจะทำให้‘จับคนอู้’ง่ายขึ้น โดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณอาจเคยได้ยินคำว่า Internet of Things, มันเป็นคำที่ถูกพูดกันบ่อยในปัจจุบันและเป็นคำที่กำลังถูกใช้อธิบายโลกที่เรากำลังก้าวเดินเข้าไปถึง, โดยย่นย่อ, Internet of Things หมายถึงความสามารถในการทำให้วัตถุต่างๆ ที่มีตัวตนจริงทางกายภาพ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ กักเก็บข้อมูลผ่านทางเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อส่งข้อมูลต่อให้ระบบนำไปวิเคราะห์ เพื่อค้นหา “Insight” หรือความรู้ ความเข้าใจเชิงลึก

นักเทคโนโลยีมักพูดถึง Internet of Things ในทางที่ดี พวกเขาพูดถึงประโยชน์ของมันในเชิงการพัฒนาระบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลองจินตนาการถึงห่วงโซ่ของสินค้า ที่เราสามารถติดตามได้ตลอดเวลาว่าสินค้าชิ้นนี้เดินทางไปที่ไหน ผ่านเส้นทางใด และใช้เวลาเท่าไรบ้าง เมื่อเรามีข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทั้งหมด ประกอบเข้ากับถึงข้อมูลสาธารณะต่างๆ เช่น สภาพอากาศหรือสภาพการจราจร เราก็จะสามารถ “ลดความไร้ประสิทธิภาพ” ได้มากที่สุด เราจะสามารถลดแรงเสียดทานต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และทำให้ระบบเคลื่อนตัวไปอย่างสะดวก เพิ่มทั้งผลผลิต ผลกำไร และยังอาจช่วยลดการใช้พลังงานด้วย

ในทางเดียวกัน เมื่อ Internet of Things สามารถติดตามการเดินทางของสินค้า ค้นหา “จุดอ่อน” ภายใต้ระบบทั้งหมดเพื่อกำจัดความไร้ประสิทธิภาพ, มันก็สามารถทำอย่างเดียวกันในออฟฟิศได้ด้วย, มันสามารถ “กำจัดความไร้ประสิทธิภาพ” ที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ได้เช่นกัน

หากลองหลับตาคิดดู ลองคำนวณดูสิครับว่าในแต่ละวัน พนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ เสียเวลาไปกับการคุยเล่น การเข้าห้องน้ำ การลุกนั่ง เดินช้าๆ กินข้าวช้าๆ ขึ้นมาออฟฟิศเลต ฯลฯ มากน้อยแค่ไหน และเมื่อคำนวณรวมกันทั้งหมดแล้ว มันจะถือเป็น “ต้นทุนที่บริษัทต้องเสียไป” มากขนาดไหน บริษัทต่างๆ จึงมีแรงจูงใจโดยสมบูรณ์ในการลดความไร้ประสิทธิภาพเหล่านี้ (โดยแน่นอนแหละครับ – อาจต้องนำตัวแปรอย่างเช่นความสุขของพนักงานเข้ามาคำนวณด้วย การลดความไร้ประสิทธิภาพทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์เลยจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน)

Advertisement

หลายคนอาจจะจำข่าวเมื่อสักปีก่อนได้ ที่นักข่าวของ The Telegraph หนังสือพิมพ์ของสหราชอาณาจักร ดันไปเห็นว่าที่โต๊ะของตัวเองมีอุปกรณ์อะไรไม่รู้สีดำๆ ติดอยู่ ซึ่งปรากฏว่าอุปกรณ์สีดำๆ นั้นมีชื่อว่า OccupEye เป็นอุปกรณ์ที่คอยตรวจจับว่าพนักงานลุกจากโต๊ะของตัวเอง (เพื่อไปทำอย่างอื่นที่อาจจะไม่ใช่งาน) หรือเปล่า เมื่อรู้แบบนี้ นักข่าวของ Telegraph ก็เดือดร้อนกันยกใหญ่ เพราะถือว่าบริษัทไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของพนักงาน ราวกับอยู่ในหนังสือ 1984 ของจอร์จ ออร์เวล

อันที่จริงแล้ว ในปัจจุบันมีบริการหลายตัวที่ทำหน้าที่ “เฝ้าดูพนักงาน” ในลักษณะเดียวกับ OccupEye แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะชูจุดขายว่าเป็นการเฝ้าดูเพื่อ “ประหยัดการใช้พลังงานในออฟฟิศ” มากกว่า เช่น ระบบอาจบันทึกได้ว่าพนักงานจะมาทำงานตอนกี่โมง แล้วไม่เปิดไฟ หรือเปิดเครื่องปรับอากาศก่อนหน้านั้น หรือระบบอาจคำนวณหาพื้นที่ที่มีพนักงานอยู่มากๆ เพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมได้ หรือใช้เพื่อคำนวณอัตราการใช้ห้องประชุม เพื่อที่ฝ่ายบริหารจะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วางแผนเปลี่ยนแบบแปลนของออฟฟิศได้ เป็นต้น

บริษัทอย่าง Enlighted ที่ติดเซ็นเซอร์ลักษณะนี้ให้กับลูกค้าองค์กร สามารถรวบรวมข้อมูลจากบริษัทมากกว่า 350 แห่ง โจ คอสเตลโล CEO ของ Enlighted บอกว่า พนักงานส่วนมากไม่สังเกตหรอกว่ามีเซ็นเซอร์แบบนี้ติดอยู่ เซ็นเซอร์พวกนี้อาจหลบอยู่ตามหลืบ ตามมุม บนเพดาน ในหลอดไฟ หรือกระทั่งในป้ายชื่อ

BusinessWeek รายงานว่า หากพูดในเชิงกฎหมายแล้ว องค์กรต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาสามารถที่จะติดเซ็นเซอร์เช่นนี้เพื่อเฝ้าดูการทำงานของพนักงานได้ทุกที่ (นอกจากห้องน้ำ) โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบเท่าที่ข้อมูลทั้งหมดถูกทำให้เป็นนิรนาม (anonymize) นั่นคือ ข้อมูลจะต้องไม่ผูก เชื่อมโยง หรือมีความสัมพันธ์กับปัจเจกบุคคล เช่น ไม่สามารถเก็บข้อมูลที่รู้ได้ว่า บ็อบ พนักงานคนหนึ่ง อู้เป็นเวลา 35 นาที ตั้งแต่ 10.15-10.50 น. แต่สามารถเก็บได้เพียงว่ามีพนักงานคนหนึ่ง (ไม่รู้ว่าใคร) อู้ในเวลานั้น
เป็นต้น

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ยังมีพนักงานบางส่วนที่รู้สึกว่าการเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัวอยู่ดี เช่น ในบริษัท Boston Consulting Group จะใช้บัตรพนักงาน (badge) ที่ติดทั้งไมโครโฟน ทั้งเซ็นเซอร์โลเกชั่น (ที่ใช้ตรวจจับว่าคุณอยู่ตรงไหน) โดยให้เหตุผลว่า ที่ต้องติดเซ็นเซอร์และไมโครโฟนนี้ ก็เพื่อวัดและวิเคราะห์การปฏิสัมพันธ์ (interaction) ในพื้นที่่ต่างๆ ในออฟฟิศ เพื่อให้สามารถวางแปลนออฟฟิศที่ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในกรณีนี้ พนักงานเองก็รู้สึกว่าถูกล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว ส่วนทางบริษัทเองก็ต้องปฏิญาณตนว่า ข้อมูลที่เก็บได้ทั้งหมดจะถูกทำให้เป็นนิรนาม (แต่ก็น่าสงสัยว่าข้อมูลอย่างเช่น เสียงพูดคุย นั้นจะถูกทำให้เป็นนิรนามได้จริงหรือ) และจะไม่ใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประเมินพนักงาน เช่น จะไม่มีผลต่อการเลื่อนขั้นหรือการได้โบนัส แต่ก็ยังน่าเป็นห่วงเช่นกันว่าเมื่อฝ่ายบริหารสามารถเก็บข้อมูลได้ขนาดนี้แล้วจะสามารถทนต่อแรงยั่วยวนในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
ได้จริงไหม

แน่นอนว่า การรู้ข้อมูล ทราบถึงตัวแปรทั้งหมดในระบบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงาน การขนส่ง การเรียน งานบริการ การจราจร ไปจนถึงตัวแปรต่างๆ ในเมือง และในประเทศ จะช่วยให้เราสามารถ “เข้าใจ” และใช้ประโยชน์จากระบบได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงเสมอก็คือคำถามที่ว่า ข้อมูลดังกล่าวจะเก็บ (collect) และถูกจัดเก็บ (store) อย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น สามารถนำมันไปใช้อย่าง “ผิดๆ”

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image