มุมมอง’เอไอเอส’ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ฉายภาพขับเคลื่อนไทยแลนด์4.0

การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นไทยแลนด์ยุค 4.0 อีกหนึ่งนโยบายรัฐบาล ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญค่อนข้างมาก

แต่หากไม่ใช่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงจริงๆ ประชาชนทั่วไป อาจไม่ทราบข้อมูลมากเท่าใดนัก ว่าภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยเหลือขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไร และมีมุมมองต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจของประเทศไทยในยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างไร

“มติชน” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 แห่งภาคธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ นายสมชัยจะเป็น 1 ในแขกรับเชิญพิเศษที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับหนทางก้าวไปสู่ความสำเร็จของการปั้นสตาร์ตอัพไทย และการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในเสวนา “ก้าวที่ 40 มติชนก้าวคู่ประเทศไทย 4.0”

นายสมชัยฉายภาพว่า จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ถือว่ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่ดีและถูกต้องอย่างมากในการประกาศนโยบายดังกล่าว เพราะประเทศจะเติบโต สร้างความกินดีอยู่ดี ยกระดับการแข่งขัน สร้างงาน สร้างคนได้ ต้องใช้นโยบายจากภาครัฐที่ถูกต้องเป็นตัวผลักดัน ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 นี้จะเป็นการก้าวกระโดดของประเทศไทยด้วยการใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน แต่หากถามว่าต้องใช้เวลานานไหม ส่วนตัวอาจจะตอบเป็นช่วงเวลาไม่ได้จริงๆ ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะนำนโยบายที่ดีดังกล่าวไปผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้รวดเร็วแค่ไหน รู้แต่ว่าหากภาคเอกชนอย่างเช่น เอไอเอส หรือบริษัทอื่นๆ ก็มีความพร้อมที่จะร่วมทำงานไปกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าเราจะทำสำเร็จได้อย่างแน่นอน หากรัฐบาลสนับสนุนภาคเอกชนอย่างจริงจัง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในการช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ของภาคเอกชน คือ การทำหน้าที่สนับสนุนภาครัฐใน 2 ส่วนอยู่แล้ว ส่วน 1.การตั้งใจทำธุรกิจของเราอย่างดีที่สุด มอบบริการดิจิทัลและระบบสื่อสารที่มีคุณภาพ สร้างบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ร่วมทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศจากรายได้ที่มาจากการเติบโตในอุตสาหกรรมของเรา และ 2.ในฐานะเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พวกเราปลูกฝังกันอยู่ภายในบริษัทเสมอว่า การทำงานของเรามีส่วนในการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารและดิจิทัลของประเทศ ฉะนั้น โซลูชั่นหรือแพลตฟอร์ม ใดๆ ของเราที่สามารถจะเข้าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศได้ เราจะไม่รีรอที่จะเข้าไปช่วยทำงานครับ อย่าง แนวคิด digital for ThAis ที่เราเพิ่งประกาศในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับบทบาทของภาคธุรกิจด้านโทรคมนาคมหลังจากเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรเริ่มขยายบทบาทมากกว่าการเป็นเพียงช่องทางรับ/ส่ง ข้อมูล หรือท่อ เท่านั้น หากแต่ควรเป็น แพลตฟอร์มของดิจิทัล เซอร์วิส หรือดิจิทัล คอนเทนต์ ที่กำลังทยอยเกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนบทบาทจาก Telecom Operator สู่ Digital Life Service Operator จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะโดนนวัตกรรมใหม่ทำลายล้าง จนไม่สามารถสู้ได้ และท้ายที่สุดก็อาจจำเป็นต้องออกจากตลาดในที่สุด

สำหรับการปรับตัวของเอไอเอสเอง การทำเรื่อง Digital Transformation เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในองค์กร โดยมี 4 เรื่อง ที่องค์กร Must do และ Must have ในการทำ Digital Transformation คือ 1.Mobility สินค้าและบริการของเราจะต้องสามารถใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา 2.การติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าเชิงลึก และ real time โดยมี Data Analytic เป็นเครื่องมือสำคัญ 3.สื่อสารผ่านโลก Social แบบให้โดนใจแต่ละ segment โดยต้องไม่มองการสื่อสารระดับ Mass เป็น Priority อีกต่อไป และ 4.ต้องใช้ คลาวด์ เพื่อให้มีความหลากหลายและต้นทุนต่ำ ทันต่อการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล

Advertisement

“นอกจากนี้ หัวใจที่สำคัญอีกด้านคือ คน ที่ต้องพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลด้วยเช่นกัน โดยองค์กรจะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ คน มองเรื่องดิจิทัลเป็นโอกาส และพร้อมพัฒนาตัวเองสู่ขีดความสามารถใหม่ๆ ที่จำเป็นในยุคดิจิทัล โดยในเอไอเอสเรามี Culture ที่เรียกว่า FIND U ซึ่งมาจาก Fighting Spirit, Innovation, New Ability, Live Digital Life และ Sense of Urgency ที่พนักงานทุกระดับจะต้องถูกปลูกฝัง”

สำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทยในยุค 4.0 ซึ่งมาจากกลุ่มสตาร์ตอัพ เอไอเอส ในฐานะที่เป็นบริษัทหนึ่งที่มีบทบาทสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพ มาแต่ปี 2554 ที่เอไอเอสเป็นรายแรกที่จุดประกายการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพขึ้นในประเทศไทย ผ่านโครงการ AIS The StartUp Week End เพื่อเปิดโอกาสให้นักคิด นักพัฒนา และผู้ประกอบการดิจิทัลหน้าใหม่ ได้เข้าร่วมเป็นดิจิทัลพาร์ทเนอร์กับเรา ในรูปแบบของกิจกรรมการประกวดนำเสนอผลงาน ต่อคณะกรรมการ เพื่อหาทีมชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดจริงกับเอไอเอสรวมถึงได้รับโอกาสในการนำเสนอผลงานต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศในเวทีนานาชาติต่างๆ

โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มสตาร์ตอัพเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 ไอเดียและผลิตภัณฑ์ และได้ร่วมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากมาย อาทิ StockRadars, Golfdigg, ShopSpot FlowAccount, Social Giver, Local Alike รวมถึงได้รับความสนใจจาก Venture Capital ร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจากการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทำให้เรามองเห็นว่า วันนี้เมื่อ Digital Infrastructure มีความพร้อมแล้ว

สตาร์ตอัพก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะนำไอเดียและ Business Model มาสร้างเป็นธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม จึงควรได้รับการสนับสนุนผ่านช่องทางที่สะดวกทุกเวลา อีกทั้งเทรนด์ของธุรกิจสตาร์ตอัพในไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจหันมาสร้างธุรกิจของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และธุรกิจเป็นเรื่องที่รอไม่ได้

ทุกวันนี้ หากสตาร์ตอัพรายใดมีไอเดียทางธุรกิจ สามารถติดต่อเราผ่านช่องทาง “AIS The Startup CONNECT” ได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอการประกวดประจำปีเหมือนที่ผ่านมา โดยทุกผลงานที่ส่งเข้ามาจะได้รับการพิจารณาโดยทีมงานมืออาชีพจากเอไอเอส และจะมีการนัดหมายสตาร์ตอัพ เพื่อเข้ามานำเสนอผลงานและร่วมพูดคุยธุรกิจด้วยกันต่อไป โดยที่ผ่านมาเราเปิดโอกาสให้แก่ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในหลากหลายรูปแบบ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ อาทิ On-demand Economy (แพลตฟอร์มที่ประสานความต้องการซื้อและขายสินค้า), สังคมออนไลน์ และไลฟ์สไตล์, Smart Living & IOT, Payment & FinTech (ระบบชำระเงินและเทคโนโลยีด้านการเงิน), Social enterprise (กิจการเพื่อสังคม), ดิจิทัลเกม และแกนล่าสุดอย่าง Travel Tech (เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว และ Smart SMEs Solutions (นวัตกรรมใหม่เพื่อธุรกิจขนาดย่อม) ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยว และธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น

ศูนย์รวมของสตาร์ตอัพและคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย สร้างสรรค์ พร้อมเทคโนโลยี ทั้ง Digital Infrastructure และ Digital Platform ที่สามารถใช้ทดลอง หรือจำลองบริการได้เสมือนจริง รวมถึงโอกาสในการปรึกษากับทีมงานจากเอไอเอสที่จะหมุนเวียนไปอยู่ที่นั่น นอกจากนี้กลุ่มสตาร์ตอัพจะมีโอกาสนำเสนอผลงานต่อผู้บริหารระดับสูงของโอเปอเรเตอร์ในเครือ Singtel Group ที่มีช่องทางเข้าถึงฐานลูกค้ากว่า 550 ล้านรายในภูมิภาค และนักลงทุนจากทั่วโลก

“เอไอเอสเชื่อมั่นว่าสตาร์ตอัพจะเป็นกลุ่มสำคัญที่จะสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีและไอเดียใหม่ๆ อันจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งในแง่โอกาส สตาร์ตอัพไทยยังมีโอกาสเติบโตจากความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีของเด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงความพร้อมของนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเทคโนโลยีที่น่าจับตามองคือ ไอโอที”

นายสมชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับประเทศเวลานี้ น่าจะอยู่ระหว่างไทยแลนด์ ยุค 2.0 ที่กำลังมาที่ 3.0 แต่มีระดับความเร็วที่เร็วกว่าตอน 1.0 มา 2.0 มากๆ และส่วนตัวอยากให้เราก้าวข้ามจาก 2.0 กว่าๆ ไปที่ 4.0 เลย เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันพัฒนาได้รวดเร็วและราคาถูกลงมาก โดยเอไอเอสเองก็ไม่ได้ทำแค่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้น หากแต่เป็นการให้บริการในเรื่องของดิจิทัลในภาพรวม รอบๆ ตัวของคนไทย รวมทั้งการเริ่มมีทีวีดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ทำให้การทำอี คอมเมิร์ซ ของผู้ประกอบการในต่างจังหวัด การเติบโตของกลุ่มสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอี เกิดขึ้นอย่างมากมาย

“ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมากนักที่เราจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่สำคัญเราต้องทำให้เร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงด้วย จึงจะชนะและได้ประโยชน์”

เรื่องราวที่สมชัยฉายภาพเรียกน้ำย่อยครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของสาระสำคัญที่จะมีการนำมาถ่ายทอดแก่ผู้สนใจ สามารถฟังแบบเต็มๆ ได้ ในงาน “ก้าวที่ 40 มติชนก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 08.30 น. ที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ ที่นั่งมีจำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image