สุริยา นามวงษ์ ภัณฑารักษ์ นิทรรศการเพื่อผู้ลี้ภัย

“ผมชอบ อ.ถวัลย์ ดัชนี มากๆ ทั้งในเรื่องของการสร้างสรรค์ การใช้ชีวิต การศึกษาค้นคว้าที่จะสร้างสรรค์งาน และความเฉียบคมทางสติปัญญา ความแม่นยำของความจำ คืออัจฉริยะอย่างครบเครื่อง”

นี่คือความในใจของ สุริยา นามวงษ์ ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Moca)

หลายคนสงสัย “ภัณฑารักษ์ทำหน้าที่อะไร”

สุริยา หรือพี่ยา ตอบสั้นๆ ว่า “เป็นผู้คัดเลือก ดูแล และเผยแพร่ศิลปะล้ำค่า”

Advertisement

แม้จะเป็นคำตอบที่สั้นๆ แต่ในกระบวนการที่ดูเหมือนง่ายนั้นแฝงรายละเอียดไว้มากมาย

และสิ่งที่พี่ยามองว่าเป็นสิ่งสำคัญของการเป็นภัณฑารักษ์คือ “ทำด้วยใจรัก”

“มองว่าต้องถามจริตของตัวเอง เพราะเป็นงานที่หนัก ต้องเรียนรู้ธรรมชาติของคนทั้งส่วนที่เป็นศิลปินและผู้ชม และต้องไม่ฝืนธรรมชาติของตัวเองด้วย มันจะเหนื่อย เจอแรงกดดันเยอะ”

Advertisement

สุริยา นามวงษ์ เป็นบุตรชายคนโตของ พ่อ-บุญมี แม่-พิมศร

เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2521 ที่ จ.ร้อยเอ็ด และเติบโตมากับธรรมชาติของทุ่งกุลาร้องไห้

ที่นั่นเองที่สุริยาบอกว่าทำให้เขาได้ซึมซับความงามจากธรรมชาติ จนเกิดสุนทรียภาพที่ธรรมชาติจัดสรรค์ให้

“นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมได้เห็นองค์ความรู้ที่วิเศษขึ้นมา คือการอยู่ในวิถีของเกษตรกร คนรากหญ้า เกิดขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้อยู่ในใจตั้งแต่เด็กๆ เป็นสุนทรียภาพที่ธรรมชาติจัดสรรค์ให้เรา แต่ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่าศิลปะคืออะไร”

และเริ่มรู้เรื่อง “ศิลปะ” ก็ตอนได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดวาดภาพตอน ป.6

“พอเข้ามัธยมต้นแล้วถ้าเรียนดีจะอยู่ในสายอังกฤษ-คณิต ตอนนั้นเริ่มเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปประกวดวาดภาพ เมื่อเข้า ม.ปลายก็ได้โควต้าเข้าเรียน ม.ปลายสายวิทย์-คณิต ระหว่างนั้นก็อยู่วงโยธวาทิตโดยเล่นทรัมเป็ตกับยูโฟเนียม ก็ได้ประสบการณ์ดีเพราะได้เข้าค่าย ได้รู้จักคนที่ไม่ใช่สายวิทย์อย่างเดียว พอ ม.5 ก็เข้ามาเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ฝั่งบางขุนเทียน ตามพ่อที่เข้ามาทำงาน”

สุริยาเล่าถึงสมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

“ตอนนั้นคิดว่า ม.3 ก็พอแล้วเพราะการศึกษาภาคบังคับแค่ ป.6 ตอนนั้นต้องเข้ามาเรียนในตัวอำเภอ ค่ารถเทอมละ 900 ค่าเทอม เทอมละ 500 กว่าบาท เรียนมัธยมต้น เรารู้เลยว่าครอบครัวต้องหาเงินมาจ่าย ซึ่งไม่พอหรอก นี่ขนาดสมัยก่อนต้นทุนยังไม่สูงมากนะ

“พ่อเลิกสูบบุหรี่เพื่อจะมีเงินส่งลูกเรียน พอเราเห็นพ่อเลิกสูบเราก็ตั้งใจเรียน ตอนที่เราเรียนก็ตั้งใจเรียน ปรากฏว่าพอจะขึ้น ม.4 ก็ได้โควต้าโดยไม่ต้องสอบอีก พ่อเลยเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ช่วง ม.5 จึงย้ายมาอยู่กับพ่อที่กรุงเทพฯ”

และขณะเข้ามาเรียน ม.5 ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ก็ได้เข้าชมรมศิลปะ แหล่งที่ช่วยฝึกฝนทักษะทางศิลปะจนสามารถสอบตรงเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ประสานมิตร ได้

ขณะเรียนอยู่ปี 4 อ.ทินกร กาษรสุวรรณ ที่สอนภาพพิมพ์มาบอกว่า คุณบุญชัย เบญจรงคกุล อยากได้คนมาช่วยงานที่หอศิลป์ สนใจไหม ตอนนั้นบอกว่า “สนใจครับ” แล้วมาเจอกัน ก็ได้เลย ซึ่งคุณบุญชัยตั้งเกณฑ์ไว้ว่าต้องเป็นคนขยัน มีผลการเรียนดี ซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่ ซึ่งเราเข้าข่ายทุกอย่าง

สุริยาเล่าย้อนถึงวันที่ได้เข้ามาทำงานกับเจ้าสัวบุญชัย จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันร่วม 16 ปีแล้ว

ขณะที่ทำงานเป็นผู้ช่วย ก่อนจะทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ให้กับโมคาเต็มตัว เขาได้เรียนปริญญาโทที่เอกศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร

นอกจากบทบาทของภัณฑารักษ์แล้ว เขายังเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะหลากรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือแลนด์อาร์ต ณ ศูนย์วิปัสนาสากล ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย นอกจากนี้เขายังลงมือพัฒนาท้องทุ่งนาแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตชาวนา และเพื่อพิสูจน์ว่าใครก็เข้าถึงความงามและใช้ประโยชน์จากศิลปะได้ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบันนอกจากเป็นภัณฑารักษ์ที่โมคาแล้ว ยังมาช่วยงานของ UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ โดยการเป็นภัณฑารักษ์ให้โครงการ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก”

– เกี่ยวกับโครงการ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” เป็นอย่างไร

เคยทำงานประมูลมาแล้วหลายครั้ง ทั้งประมูลศิลปกรรมแห่งชาติและประมูลออนไลน์ เราก็จะเห็นว่างานศิลปะสามารถระดมเงินทุนได้

จึงเสนอท่าน ว.วชิรเมธี ว่าถ้าจะทำประมูลจริงๆ เราให้งานศิลปะเป็นตัวนำดีกว่า ส่วนรายได้จะตามมาเอง เพราะถ้างานดี เราเชื่อมั่นว่าการระดมทุนจะดีตามมา แต่ถ้างานไม่ดี การประมูลก็จะยิ่งเหนื่อย เมื่องานดีแล้ว เราจะเชิญเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เขาชอบงานศิลปะมาประมูล เขาก็จะอยากมา โดยชิ้นงานศิลปะที่นำมาประมูลในครั้งนี้มีทั้งชิ้นงานเดิมและชิ้นงานที่สร้างขึ้นใหม่

ส่วนตัวมุ่งหวัง 3 อย่างคือ 1) เราอยากให้งานสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นสิ่งนำทาง เพราะถ้าเราจัดกิจกรรมงานประมูลทั่วๆ ไป จะได้กิจกรรมที่ไม่ได้เกิดการสร้างสรรค์อะไรขึ้นมา แต่พอเราเจอแบบนี้ จะเห็นว่าสิ่งที่จะพูดกับประชาชนได้นั้นไม่ใช่แค่คำพูด แต่มันคือภาพที่ศิลปินแสดงออกมาด้วย และศิลปินได้เอาใจ เอาความคิดไปวิเคราะห์ ตระหนักถึงปัญหาแล้วแสดงออกมาให้เราเห็น เกิดเป็นงานสร้างสรรค์ออกมาชุดหนึ่ง เราสามารถพูดได้เลยว่าบางชิ้นเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินท่านนั้นได้เลย

งานมาสเตอร์พีซมันมีความสำคัญตรงที่ว่าอีกสัก 100 ปีข้างหน้า งานนี้ก็ยังเป็นงานศิลปะที่สามารถเป็นครูบาอาจารย์ให้กับนักเรียนรุ่นต่อไปได้ แต่ว่าถ้ามันเป็นงานที่ไม่ใช่มาสเตอร์พีซ อาจทำได้แค่ชื่นชมอย่างเดียว แล้วมันก็ค่อยๆ หายไป พอมันเป็นมาสเตอร์พีซมันจะเป็นมรดกของประเทศได้

2) เรามีความคาดหวังว่าคนไทยจะมีโอกาสได้แสดงออกถึงความเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมาร่วมประมูล และ 3) คนที่มาร่วมประมูลจะได้ทำบุญและได้ของที่มีคุณค่า ได้ผลงานศิลปะที่มีคุณค่ากลับไปด้วย

– เกี่ยวกับงานประมูลแบบนี้

เราคัดงานที่มีคุณค่าจริงๆ ดังนั้น ในเชิงมูลค่าแล้วไม่ต้องกังวลว่าวันหนึ่งราคาจะตก ราคาไม่มีตกแน่นอน มีแต่จะพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น มันสามารถเป็น asset ได้ ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งความมีคุณค่า

งานนิทรรศการอาจจะมีแบบนี้บ่อยๆ แต่การทำประมูลในลักษณะนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ เป็นครั้งบุกเบิกที่เรากล้าเอางานราคาสูงมาประมูล ปกติงานราคา 3-4 แสนบาท ประมูลได้สบายๆ งานแต่ละชิ้น เราเชื่อว่าถ้างานดีคนที่ได้จะรู้สึกว่าคุ้มค่าในวันข้างหน้า

การให้งานศิลปะนำ คนประมูลได้งานที่ดีและได้ทำบุญ มันก็ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

suriya namwong

– มาเป็นภัณฑารักษ์ทำงานกับคุณบุญชัยได้อย่างไร

เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เราไม่รู้จักภัณฑารักษ์ บ้านเรายังไม่รู้จัก ประชาชนยังไม่รู้จัก ผมเองก็ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นภัณฑารักษ์ ผมเองเริ่มต้นจากการมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง และคุณบุญชัยให้นโยบายมา 3 อย่าง คือ 1) เลือก งานที่ดี เพราะว่าคุณบุญชัยมีความมุ่งหวังว่าจะทำมิวเซียม ฉะนั้นเราต้องเลือกงานที่ดีเข้ามาในคอลเล็กชั่น 2) รักษา งานที่มีอยู่ให้ดี 3) เผยแพร่งานศิลปะ ที่เรามีอยู่

ผมมีส่วนร่วมกับการก่อตั้งโมค่า คุณบุญชัยใช้คำว่าพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ เรียนรู้ว่าเวลาคนมาชมงานในพิพิธภัณฑ์ แต่ละกลุ่มมีความชอบงานประเภทไหน สนใจงานประเภทไหน เวลามากันหลายๆ คน งานชิ้นไหนที่ดึงดูดและมีปฏิกิริยากับคนดู ตอนนั้นไม่ได้เปิดให้ชมเป็นสาธารณะ ส่วนใหญ่จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำเรื่องขอเข้าชม จะมีกลุ่มของชาวต่างชาติมาบ้าง กระทรวงวัฒนธรรมก็ของานบางชิ้นไปแสดงในต่างประเทศเป็นครั้งคราว เราก็ได้เรียนรู้การแพคกิ้งว่าทำอย่างไร รับส่งอย่างไร ได้รู้กระบวนการทั้งหมดของการจัดนิทรรศการ เราได้เรียนรู้จากตรงนั้น ภาพบางภาพกรอบไม่สวย ต้องเปลี่ยนกรอบอย่างไร ออกแบบกรอบอย่างไรแขวนอย่างไร จัดไฟอย่างไร

ที่สำคัญคือ ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวข้องกับการ Curate งาน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะ Curate อย่างไรถ้าเราไม่เป็นตัวเชื่อมระหว่างงานศิลปะกับประชาชน เราจะทำอย่างไรให้งานศิลปะที่มีคุณค่าเชื่อมโยงกับคนดูได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญ

– ส่วนร่วมกับการเกิดโมคา

ผมถือว่าตัวเองเป็นลูกมือของคุณบุญชัยดีกว่า (หัวเราะ) คุณบุญชัยเป็นแม่แรง เป็นภัณฑารักษ์หลักในการทำพิพิธภัณฑ์ และถ้าสังเกต เข้ามาเราจะเห็นรสนิยมที่ถูกทิ้งไว้ในบรรยากาศ การเรียบเรียง ลำดับภาพ ในการจัดห้องอะไรต่างๆ ทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้จากอาคารหลังเก่า

ก่อนสร้างตึกหลังนี้ขึ้นมา เราเอาภาพที่เราคิดว่าเป็นงานที่มีคุณภาพมาวางเรียงในคอมพิวเตอร์กราฟิกว่าถ้าคนเข้ามาแล้วจะเจอภาพไหนก่อน ตามด้วยภาพอะไรบ้าง เสมือนหนึ่งว่าเราลำดับภาพ คิดว่านั่นคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การมีอาคารก่อนแล้วมาออกแบบทีหลังว่าจะแขวนอะไร นี่เราออกแบบการติดตั้งก่อนแล้วค่อยมาสร้างบ้านให้กับงานศิลปะ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าห้องขนาดนี้เหมาะกับภาพไซซ์นี้ เมื่อเราลำดับภาพเรียบร้อยแล้ว จะรู้ว่าพื้นที่ระหว่างภาพกับห้อง อันไหนมันจะเหมาะสมได้อย่างไร ต้องใช้ห้องขนาดเท่าไหร่ เรื่องไฟมาทีหลัง ขณะเดียวกันเรื่องไฟก็มีความสำคัญ มีการจัดแสดงแบบดรามาติก แบบเกลี่ยแสงทั้งห้อง ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้คนดูเห็นอะไรที่อยู่ในภาพ


– หลักสำคัญของการเป็นภัณฑารักษ์

ต้องเป็นคนใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา เป็นคนรอบรู้ เพราะว่าเทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และงานศิลปะก็ไม่หยุดนิ่ง มีงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดตลอดเวลา

จุดเด่นที่ผมมีคือผมทำงานศิลปะด้วย ทำให้รู้ว่าชิ้นไหนมีความยากง่ายต่างกันอย่างไร เราจะรู้ว่างานชิ้นไหนที่ศิลปินค้นคว้ามามากๆ เสมือนหนึ่งว่าการทำวิทยานิพนธ์ เราแสวงหาสิ่งที่เราสนใจ หาความรู้เพื่อสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งหรือชุดหนึ่ง แต่กว่าจะควานหาองค์ประกอบต่างๆ เพื่อมาตกตะกอนทางความคิดและสร้างเป็นงานขึ้นมาได้นั้นใช้เวลาหลายปี ซึ่งเราสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดในงานชุดใหม่ได้ สร้างสรรค์งานชุดใหม่ขึ้นมาได้ แต่ถ้ายังใช้องค์ความรู้เก่า มันคือคอนเทนต์เดิม อาจจะดีเท่าเดิมหรือแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ถ้ามีการพัฒนา เราจะรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา

– เพราะทำงานศิลปะเองจึงโดดเด่นกว่าภัณฑารักษ์คนอื่น

ความพิเศษของผมคือ 1) เราทำงานศิลปะ จะรู้ว่าวิธีการสร้างสรรค์ของศิลปินแต่ละคนเป็นอย่างไร 2) เรามีหน้าที่รวบรวมงาน เราก็จะรู้ว่าเวลางานใหม่ๆ ของศิลปินที่เข้ามา ความตื่นเต้นที่เราจะได้เห็นงานใหม่ๆ เรามีความรู้สึกอย่างไร เราก็เปรียบเสมือนหนึ่งคนที่สะสมศิลปะเหมือนกัน เสมือนหนึ่งว่าเราเป็นผู้เสพงานทั่วไป เราก็เข้าใจทั้งส่วนที่เป็นอาร์ติสต์และส่วนผู้ชม ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้าเราไม่ทำงานศิลปะเลย เราก็สามารถหาองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์ได้ แต่เราได้จากการอ่าน ซึ่งตำราไม่ได้ถูกเขียนโดยศิลปิน แต่ถูกเขียนโดยนักวิชาการ เราอ่านจากตำรา ฟังจากครู ฟังจากศิลปิน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาพูดมา 100 แต่เราอาจจะได้แค่ 30 ของสิ่งที่ศิลปินพูด หรือได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของที่ อ.ถวัลย์พูด แต่ถ้าเราเอาสิ่งที่ อ.ถวัลย์พูดมาปฏิบัติ ลองผิดลองถูก เราก็จะได้องค์ความรู้ขึ้นมาในรูปแบบของเรา

Suriya namwong

– งานประมูลศิลปะในบ้านเรา

วงการประมูลของบ้านเราต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง เพราะว่าการประมูลเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจ เหมือนที่คริสตีส์ทำ ถ้ากำไรไม่ได้ก็ถือว่าล้มเหลว ซึ่งระบบธุรกิจเชื่อมโยงกันด้วยการตลาด

แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือ เรากำลังทำงานมาสเตอร์พีซ การตลาดเป็นตัวช่วย ซึ่งสิ่งหลักคือการสร้างงานมาสเตอร์พีซ ถ้าทำเชิงแบบนี้ได้ ซึ่งกองทัพหน้าอาจต้องเหนื่อยหน่อย ถ้าไม่เริ่มแบบนี้มันก็จะไม่สามารถไปสู่ปลายทางได้ แต่การเริ่มแบบนี้มันต้องเจ็บตัว

เช่น สร้างงานขึ้นมาแล้ว งานราคา 3-4 แสนบาท ยังพอสนับสนุนได้ พองานหลัก 1 ล้านบาทขึ้นมา ไม่ซื้อกับศิลปินที่บ้านดีกว่า พอคิดแบบนี้ได้ เวทีการประมูลมันก็เหนื่อย

แต่ว่าการประมูลมันช่วยได้ โดยต้องหางานที่พิเศษจริงๆ ซึ่งซื้อตามบ้านศิลปินไม่ได้ แต่ซื้อบนเวทีประมูลได้ ดังนั้น การเลือกงานที่มีคุณภาพและพิเศษจริงๆ บนเวทีประมูลถือว่ามีความสำคัญมาก การประมูลจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องเริ่มจากจุดนี้ก่อน พอได้มาสเตอร์พีซดีๆ มาแล้ว ค่อยหากลวิธีสนับสนุนให้ความสำเร็จมันใกล้เคียงกับเป้าหมายเรา

– ราคาศิลปินในบ้านเราสูงไม่เท่าใน ปท.เพื่อนบ้าน

เช่นงานของศิลปินจีน “กวน เซจู” ภาพเขาขนาด 70×90 ซม. เขาเป็นศิลปินที่วาดพอร์เทรต ถ้าเทียบชั้นก็เป็นรุ่น อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ถือว่าเป็นรุ่นบุกเบิกของศิลปกรรมร่วมสมัยของจีน เรียกว่ายุคยูโรเปียน คลาสสิคอล ของจีน

จีนเขาต่างจากบ้านเราคือส่งศิลปินของเขาไปเรียนศิลปะแบบอคาเดมิก ที่รัสเซีย แต่ของเราอาจารย์ศิลป์ เข้ามาสอนแบบอคาเดมิกที่เมืองไทย เราเรียนแบบศิลปินในกรุงโรม แต่สิ่งที่พิเศษคือ อ.ศิลป์ พีระศรี ท่านเก่ง ท่านมองว่าพระพุทธรูปปางลีลาของไทยมีความงดงามแบบนี้ มีสุนทรียภาพแบบนี้ ดังนั้น ยูเขียนได้ แต่ต้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังงทำอะไร ถึงเกิดศิลปินแบบ อ.เขียน ยิ้มศิริ เพราะท่านสอนให้ศิลปินมีทักษะ แต่ต้องต่อยอดรากเหง้าของตัวเองได้ ต่างกับศิลปินจีนที่โชว์ทักษะ

อย่างกวน เซจู งานเขาในอดีตอายุอยู่ที่ 1.5 แสนบาท แต่เดียวนี้งานของเขาไปที่ 35 ล้านบาทแล้ว หรืออย่าง อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ถือว่ามีมีมูลค่าผลงานมาก ภาพขนาด 70×90 ซม. มีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท แต่ 20 ล้านของท่านใช้เวลาหลายปี ต่างกับกวน เซจู ที่วาด 1-2 เดือน

นั่นเพราะเกี่ยวกับระบบการตลาดด้วย ซึ่งของราคาสูง ในเชิงศิลปะใช่ว่ามันจะเทียบเท่ากันได้ อย่างงานบางอย่างของไทย ถ้าเราเอาแค่ความเหมือน คือทักษะอย่างเดียว งานที่โชว์ทักษะของคนไทย 1 ล้านบาทก็ได้งานดีแล้ว

– คิดว่าสิ่งสำคัญของการทำงานคืออะไร

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเรามีความรู้มากขึ้น เราก็จะมีอัตตาในตัวเองมากขึ้น แต่อัตตาไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับเรา ท้ายที่สุดเราต้องสลายมันออกไป เพราะงานวัฒนธรรม เรายึดอัตตาตัวเองไม่ได้ ต้องสลายโดยการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image