รายงาน : ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุค’โดนัลด์ ทรัมป์’

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายคีธ เอ็ม. แอนเดอร์ตัน ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งโดยเน้นย้ำว่า สิ่งที่สามารถพูดได้คือความร่วมมือระหว่างสหรัฐและไทยจะยังคงมีความต่อเนื่องต่อไปในฐานะชาติพันธมิตรระหว่างกัน เพราะรัฐบาลสหรัฐแต่ละชุดมาแล้วก็ไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเพียงเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็คือผลประโยชน์แห่งชาติ เช่นเดียวกับประเด็นหลักๆ อย่างการทำให้ผู้คนมีความปลอดภัย การช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนกับผู้คนทั่วโลก ยังคงเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐเช่นเดิม

นายแอนเดอร์ตันกล่าวว่า แน่นอนว่าเอเชียยังคงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องเกาหลีเหนือ การก้าวขึ้นมาของจีน ตลอดจนการรวมตัวกันของอาเซียน และจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคล แม้ว่าสหรัฐจะมีผู้นำใหม่ แต่ผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐยังคงยึดมั่นที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นพื้นฐานของผลประโยชน์ของเรา ทั้งนี้สหรัฐมีผลประโยชน์จากสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก จากตลาดที่เปิดกว้าง การค้าเสรี และการเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็ง จากที่ประชาคมระหว่างประเทศยึดโยงกับหลักกฎหมาย ประชาธิปไตย และมีธรรมาภิบาล ดังนั้นจึงเชื่อว่าสหรัฐจะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับเอเชียเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว

นายแอนเดอร์ตันกล่าวต่อว่า สำหรับไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับสหรัฐมายาวนานกว่า 200 ปี เราจะยังคงทำงานร่วมกันต่อไปในหลากหลายมิติ โดยในปีนี้จะมีการหารือยุทธศาสตร์สหรัฐ-ไทยอีกครั้ง เพื่อพูดคุยถึงความร่วมมือ โอกาส และความท้าทายของความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย ความร่วมมือทางทหาร ในด้านการค้า ในปีนี้จะมีการหารือระดับรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งนี้ เชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ทั้งต่อสองประเทศจะยังคงร่วมมือเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันและหาทางที่จะทำให้ความสัมพันธ์ยังคงแข็งแกร่งและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นต่อไป

Advertisement

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี

นายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จุดอ่อนของไทยขณะนี้คือความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยเสียบทบาทผู้นำในภูมิภาคในการเป็นพันธมิตรชั้นหนึ่งของสหรัฐ และยังเสียความเป็นช่องทางในการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนและการเป็นช่องทางในการมีปฏิสัมพันธ์กับกรอบความร่วมมือในภูมิภาคอื่นๆ ของสหรัฐไป ขณะนี้สหรัฐก็หันไปใกล้ชิดกับสิงคโปร์ อินโด เวียดนาม และมาเลเซียมากขึ้น ขณะที่ความสัมพันธ์กับไทยตกต่ำลงสวนทางประเทศในอาเซียน

ส่วนตัวมองว่านโยบายทรัมป์เป็นตัวแปรสำคัญทั้งไทยและต่อโลกโดยรวมเพราะมีความไม่แน่นอน แนวนโยบายของทรัมป์เป็นแบบอนุรักษนิยมหรือขวาจัดสุดโต่ง ตามสโลแกนอเมริกาต้องมาก่อน อย่างไรก็ดี หากสหรัฐลดบทบาททางทหารลง ดุลยภาพแห่งอำนาจจะเปลี่ยน นโยบายต่อเอเชียและไทยมีผลกระทบแน่นอน เมื่อสหรัฐมีนโยบายปกป้องทางการค้า การส่งออกของไทยไปสหรัฐก็จะยากขึ้น การลงทุนของสหรัฐในไทยก็ลดลงไปด้วย ถ้าสหรัฐมุ่งเน้นแก้ปัญหาในประเทศ มิติทางทหารก็ต้องลดลงไป ยอมรับว่าเดานโยบายต่ออาเซียนของทรัมป์ไม่ออก แต่คิดว่าจะเน้นกรอบทวิภาคีเพราะสหรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า

ไม่ว่าสหรัฐจะดำเนินนโยบายอย่างไร การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐก็ต้องเดินหน้าต่อไปและต้องกระชับความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้าน สิ่งสำคัญคือเราต้องคงความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเอาไว้ และสร้างดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีนซึ่งจะยากขึ้นเรื่อยๆ

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

กล่าวว่า การวิเคราะห์ทรัมป์ไม่สามารถวิเคราะห์ในรูปแบบเดียวกับที่ใช้วิเคราะห์คนทั่วไป เพราะทรัมป์เป็นคนฉลาด เป็นนักธุรกิจที่เขี้ยวมาก จะนำเอาหลักธุรกิจมาใช้ ทรัมป์เมื่อครั้งหาเสียงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งกับทรัมป์ในวันนี้ก็ต่างกัน อย่างไรก็ดีเวทีการเมืองไม่ใช่เรื่องของบุคคล ดังนั้นต้องดูการเดินหมากในภาพรวม ทรัมป์จะไม่หงายไพ่ แต่จะทำให้คนงงเพราะวันนี้พูดอย่างอีกวันพูดอีกอย่าง เขาจะยึดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นตัวตั้ง เห็นได้จากที่ทรัมป์จะพูดอย่างหนึ่ง แต่จะให้ลูกน้องมาพูดอีกอย่าง ดังนั้นการฟังทรัมป์ต้องฟังหูไว้หู

เวลาทำอะไรทรัมป์ต้องคิดถึงฐานเสียง ไม่คิดว่าทรัมป์เองจะเชื่อว่าอเมริกาตกต่ำ แต่ใช้สิ่งนี้บอกฐานเสียงว่าอเมริกากำลังแย่ลง ทั้งที่ในความจริงเศรษฐกิจอเมริกาขยายตัวสูง ยังคงมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงสุด ส่วนบอกว่าจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น หรือที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐบอกว่าจะปิดกั้นจีนไม่ให้ไปทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือเป็นสงคราม ทั้งหมดนั้นไม่ต้องเชื่อเพราะเขากำลังเล่นละคร ด้านหนึ่งเพื่อเอาใจฐานเสียง ทำให้เห็นว่าสหรัฐมีอำนาจต่อรอง ประเทศไหนมีอำนาจต่อรองมาก เขาก็จะบีบมาก ประเทศไทยมีน้อยก็บีบน้อย อย่างญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ยังไม่ต้องต่อรองก็รีบมาพบแล้ว

ในส่วนของไทยที่ว่าจะได้รับผลกระทบแค่ไหน คิดว่าทรัมป์ไม่ได้พูดเรื่องอาเซียนเลย ดังนั้นเชื่อว่านโยบายจะไม่เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะโดดเดี่ยวตนเองทางการเมือง เพราะหากทรัมป์ถอยกลับทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองก็จะทำให้อิทธิพลจากรัสเซียและจีนเพิ่มขึ้นอีกซึ่งเป็นไปไม่ได้ คิดว่าขณะนี้ทรัมป์กำลังจัดการกับประเด็นต่างๆ ที่เคยพูดระหว่างหาเสียง ซึ่งต้องมาดูกับสถานการณ์การเมืองที่แท้จริงด้วย เชื่อว่าทำในสิ่งที่หาเสียงได้แต่ไม่ได้ทั้งหมด

การยกเลิกความตกลงการค้าเสรีและความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) จะทำให้สหรัฐส่งของมายังเอเชียก็ต้องถูกเก็บภาษี ดังนั้นสหรัฐจึงแปลงมาเป็นทำความตกลงแบบทวิภาคีซึ่งจะบีบได้ง่ายกว่า เป็นทีพีพีกลายพันธุ์ ในแง่การเมือง ทรัมป์บอกว่านาโตล้าสมัย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง พูดเหมือนจะถอนตัวออกไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะถ้าถอนก็จะเกิดช่องว่าง เชื่อว่าทรัมป์ยังให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิกอย่างมหาศาลทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เปลี่ยนวิธีโดยบีบบังคับ เล่นงานทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง เพราะประเทศเหล่านี้ได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐมาก

ที่จะลำบากมากที่สุดคือจีน เพราะทรัมป์คงพยายามพูดให้จีนปรับ แต่ขณะนี้ก็เริ่มเห็นจีนปรับแล้วโดยไม่ให้ค่าเงินหยวนอ่อนลงมาก เชื่อว่าหลังจากนี้ทรัมป์จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น อาทิ กล่าวหาว่าจีนทุ่มตลาด อุดหนุนทางการค้า แต่ไทยไม่น่าจะเจอกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงเพราะดุลการค้าของเรากับสหรัฐไม่มาก และการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการทำเป็นรายประเทศ ไม่ใช่ทำแบบภาพรวม

เหตุการณ์ทั้งหมดจะเกี่ยวกับไทยอย่างไร ในทางอ้อม หากสหรัฐปิดล้อมจีนก็อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลงไปบ้าง หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบ แต่ขึ้นกับแรงกดดันว่าจะมากแค่ไหน ในด้านการค้า เราเกินดุลการค้ากับสหรัฐไม่มาก น่าจะโดนแค่หางแถว ไม่มากมายเท่าไหร่นัก ด้านการลงทุนของสหรัฐในไทย เชื่อว่าจะยังมีการลงทุนแต่จะลดลง ในอนาคตจีนน่าจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเพราะนักธุรกิจจีนกำลังออกมาลงทุนนอกประเทศ

รศ.ดร.สมชายสรุปว่า ในภาพรวม เอเชียแปซิฟิกไม่น่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน จะเป็นไปตาม 3C คือ Confrontation การเผชิญหน้ากันในประเด็นทะเลจีนใต้ Competition มีการแข่งขันในด้านการค้าการลงทุน และ Coopperation ความร่วมมือกันในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย อย่างไรก็ดีเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะไม่กระทบกับไทยเท่าใดนัก

ที่สุดแล้วต้องยอมรับว่านับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เขาได้กลายเป็นผู้นำโลกที่เรียกความสนใจจากประชาคมโลก ด้วยนโยบายที่หลายฝ่ายมองว่าพูดได้แต่ทำแล้วป่วน บวกกับคำพูดที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย และไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง แต่หันไปยึดเอา “ความจริงทางเลือก” เป็นสรณะ ไม่ว่าจะชอบหรือชัง แต่ทรัมป์ก็กลายเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจที่มีสีสันที่สุด ณ เวลานี้ การกระทำและความเคลื่อนไหวของทรัมป์จึงเป็นสิ่งที่โลกต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image