ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย

ผมจะไม่เข้าร่วมกระบวนการ “ปรองดอง” ที่ คสช.จัดขึ้นเป็นอันขาด เพราะเท่ากับผมยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่มีลักษณะผิดปกติซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผมมีส่วนในการทำให้เกิดขึ้นด้วย

ผมอาจใช้วาจารุนแรงตลอดจนกระบวนการทางการศาลในการต่อสู้กับปฏิปักษ์ทางการเมือง ผมอาจใช้วิธีเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการประท้วงของฝูงชนขนาดใหญ่ และในการนั้นอาจมีบางคนทำผิดกฎหมาย แต่ผมไม่เคยขัดขวางการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นตามครรลองของกฎหมาย

ทั้งหมดที่ผมได้ทำมา ดีชั่วก็แล้วแต่ประชาชนชาวไทยจะตัดสิน แต่ผมยืนยันว่าไม่เคยทำอะไรที่เลยขอบเขตของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าร่วมกระบวนการปรองดองของคณะรัฐประหาร จึงเท่ากับผมยอมรับว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีขอบเขตจำกัดที่คับแคบมากๆ เช่นจะแสดงความขัดแย้งทางการเมืองต่อสาธารณชนไม่ได้ หากผมยอมเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ผมจะคงความเป็นพรรคการเมืองต่อไป

Advertisement

ตรงกันข้ามกับบทบาทและการเคลื่อนไหวของผมด้วยซ้ำ กลุ่มชนชั้นนำไทยได้ลักลอบเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านกลไกของรัฐ โดยเฉพาะกลไกในกระบวนการยุติธรรม เพื่อบ่อนทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของผมทุกวิถีทางที่พวกเขาจะทำได้ แต่ความชอบธรรมของผมก็ไม่เสื่อมถอยลง คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของผู้เลือกตั้งก็ยังเป็นของผม กลุ่มชนชั้นนำไทยจึงเร่งทำลายผมด้วยการร่วมกับปฏิปักษ์ของผม สร้างความเคลื่อนไหวของฝูงชนขึ้นมาบ้าง แต่จุดมุ่งหมายของฝูงชนคือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายนอกกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ว่าผมทำให้รัฐล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะ “ยกเว้น” ที่ชนชั้นนำจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้โดยตรง

แม้จะกะปลกกะเปลี้ยอย่างไร ผมก็ยังอยู่รอดพอที่จะคืนอำนาจให้แก่เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง แต่นั่นกลับทำให้ชนชั้นนำไทยทุ่มเทให้แก่วิธีการนอกกฎหมายแทบสุดตัว คือใช้ฝูงชน นักเลงหัวไม้ และเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบ ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง แม้กระนั้นการเลือกตั้งก็ยังเกิดขึ้นจนได้ถึงไม่ครบทุกหน่วย จึงต้องอาศัยกลไกรัฐที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ยิ่งกว่าทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะก็คือ ชนชั้นนำไทยได้ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นทางออกแก่การเมืองไทยชั่วกาลนาน และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องอาศัยการเคลื่อนไหวนอกกฎหมายขั้นสุดท้าย คือใช้กลไกรัฐที่มีกองทัพบกเป็นแกนนำในการทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

Advertisement

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผม แม้ว่าฝูงชนที่สนับสนุนผมอาจล่วงละเมิดกฎหมายเล็กๆ บางข้อไปบ้าง เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายการใช้เครื่องขยายเสียง ฯลฯ แต่ผมใคร่ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ยังอยู่ในกรอบการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงคือกลุ่มชนชั้นนำไทย ซึ่งถูก “ยกเว้น” ออกไปจากกระบวนการปรองดองทุกชนิดที่คิดกันขึ้น

หากบ้านเมืองของเราจะมีความสงบสุขในอนาคตได้ ชนชั้นนำซึ่งเกาะกันเป็นเครือข่ายกลุ่มนี้ต่างหาก ที่จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการปรองดองยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น พวกเขาต้องยอมรับเสียทีว่าความได้เปรียบนานาประการที่พวกเขาได้ และพยายามจะรักษามันไว้ด้วยเลือดเนื้อของประชาชนข้างล่างจะต้องยุติลงเสียที คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลิกล้มทั้งหมดลงทันที แต่ความได้เปรียบส่วนที่ทำร้ายชาติบ้านเมืองตลอดมาจะต้องยุติลงเสียก่อน เช่น อำนาจอิทธิพลที่อยู่เหนือกลไกของรัฐทุกแขนงของพวกเขาจะมีต่อไปไม่ได้ เขาจะไม่มีอำนาจพิเศษที่จะขัดขวางการออกกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอีกต่อไป พวกเขาจะไม่ได้เป็น “ข้อยกเว้น” เหนือพลเมืองไทย
อีกแล้ว

แม้เรายังไม่อาจแตะต้องความได้เปรียบอีกหลายอย่างที่เขาครอบครองอยู่ แต่เพียงเท่านี้ก็พอที่จะทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ ความขัดแย้งและต่อสู้ทางการเมืองคงมีอยู่และดำเนินต่อไป แต่จะดำเนินไปตามกรอบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กลไกรัฐจะไม่เป็นเครื่องมือของใคร แต่จะทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ด้วยความรู้ความชำนาญของตน

ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย

ผมจะไม่ให้ค่าแก่คำพูดไร้เดียงสาหรือแสร้งไร้เดียงสา ที่ว่าให้มุ่งมองแต่อนาคตโดยไม่ต้องหันกลับไปดูอดีตอีก เพราะมันไม่มีหรอก อนาคตหรือปัจจุบันที่ปราศจากอดีต (เช่นเดียวกับไม่มีอดีตที่ไม่มีปัจจุบันและอนาคตเช่นกัน) เวลาสามส่วนนี้ไม่ได้มีในธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นในสมองมนุษย์ ซึ่งไม่อาจแยกสามส่วนออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

เราจะมองอนาคตได้อย่างไร หากไม่มั่นใจว่าลูกหลานของเราจะไม่ถูกยิงทิ้งข้างถนนเช่นนั้นอีก หากไม่มั่นใจว่าอนาคตที่เราร่วมกันสร้างขึ้นจะไม่ถูกขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ด้วยเหตุผลที่ผิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล่วงละเมิดอำนาจการวางนโยบายของฝ่ายบริหาร หรือมติของรัฐสภา

อนาคตที่ไม่มีอดีต คือการย่ำเท้าอยู่กับที่ภายใต้เผด็จการชนชั้นนำของปัจจุบัน ซึ่งอาจถอดเปลือกออกได้อีกหลายชั้น

ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย

นอกจากจะไม่เข้าร่วมกระบวนการ “ปรองดอง” ของคณะรัฐประหารและอาจารย์ประเวศ วะสีแล้ว ผมยังยืนยันและจะเฝ้าเตือนคนไทยให้นึกถึงอดีตให้มาก มิฉะนั้นแล้ว เราจะไม่มีทางก้าวสู่อนาคตที่ดีได้เลย

หากผมเป็นพรรคเพื่อไทย

ผมจะเชิดหน้าขึ้นรับการวิพากษ์วิจารณ์ของคนไทยจำนวนหนึ่งว่า ผมเล่นการเมืองไม่เป็น เพราะเป็นที่เชื่อกันว่า การเมืองที่ดีคือการประนีประนอม ไม่นำแนวทางของตนไปสู่จุดสุดโต่ง เพราะจะกันตัวเองออกไปจากวงอำนาจตลอดไป นโยบายที่ดีๆ ทั้งหมดก็ไม่มีวันจะได้ดำเนินงานเสียที

ประนีประนอมเพื่อต่อรองให้นโยบายบางส่วนได้นำไปสู่การปฏิบัติดีกว่า พรรคกรีนในเยอรมนีก็ทำอย่างนี้ และอีกหลายพรรคที่มีแนวนโยบายก้าวหน้า ก็ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองเก่าๆ เพื่อทำให้นโยบายของตนได้เดินหน้าแม้เพียงน้อยอย่าง

ผมคงไม่เข้าไปเถียงประเด็นนี้ เพราะมันถูกต้องในบางสถานการณ์ และไม่ถูกต้องในบางสถานการณ์ สิ่งที่ต้องถามต้องคิดกันให้ดีก็คือ สถานการณ์ในเมืองไทยปัจจุบัน เหมาะหรือไม่ที่จะเข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร เนื่องจากกำลังสูญเสียความชอบธรรมไปด้วยเหตุหลายประการ

การประนีประนอมที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ ทำให้พรรคก้าวหน้าหลายพรรคเสื่อมความนิยม หรือถูกกลืนกลายเข้าไปในการเมืองน้ำเน่าจนอันตรธานไปจากความรับรู้ของประชาชน

ในฐานะพรรคการเมือง ผมวินิจฉัยว่าการเมืองไทยเวลานี้อยู่บนทางสองแพร่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเลือกให้ดี เพราะเป็นทางสองเส้นที่ไม่มีวันบรรจบกันได้อีกเลย

ทางเส้นหนึ่งนำคุณกลับไปสู่การเกี้ยเซี้ยผลัดกันเกาหลังของกลุ่มชนชั้นนำ แต่ละฝ่ายมีอำนาจต่อรองที่แตกต่างกัน ข้าราชการมีความชำนาญเฉพาะด้านซึ่งจำเป็นสำหรับรัฐสมัยใหม่ บางส่วนมีอาวุธและกำลังที่จะล้มกระดาน แต่จะใช้อำนาจเช่นนี้ได้ ก็ต้องร่วมกับพันธมิตรในกลุ่มอื่น บางส่วนของระบบราชการมีอำนาจตีความกฎหมาย นอกจากนั้นก็มีชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่มีอำนาจต่อรองแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มคณาธิปไตยมีเงินจำนวนมาก บางส่วนในกลุ่มนี้ยังมีอำนาจทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาแต่อดีต ปัญญาชนมีหูของผู้คนที่เงี่ยฟังอยู่บ้าง ประกาศกมีสาวกที่ฟังได้ยินโดยไม่ต้องใช้หู ฯลฯ บนทางเส้นนี้ประชาชนคนสามัญไม่เกี่ยว

ความหวังของคณะรัฐประหาร (ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง) คือทำให้เส้นทางสายนี้ราบรื่นขึ้น มีความขัดแย้งน้อยลง ทำให้การเกี้ยเซี้ยกลายเป็นสถาบัน ชนชั้นนำกลุ่มไหนจะเกาะกับกลุ่มไหน หรือจะย้ายกลุ่ม ก็อาจทำได้อย่าง “สงบเรียบร้อย” เพราะต้องเกาะกลุ่มและแยกกลุ่มกันภายใต้ฉายาอำนาจและบารมีของสองเสาหลักคือกองทัพ และสถาบันอำนาจตามประเพณี

เกี้ยเซี้ยที่กลายเป็นสถาบันหรือเกี้ยซิยาธิปไตย จะมีพลังกีดกันประชาชนคนธรรมดาออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีความหมายตลอดไป อย่างที่ทำสำเร็จในประเทศละตินอเมริกาหลายประเทศ

ทางอีกเส้นหนึ่งนำคุณไปสู่ระบอบปกครองที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมือง แม้อย่างไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายต่อรองเรื่องที่สำคัญแก่ชีวิตของตนได้ โอกาสที่ระบอบปกครองเช่นนี้จะตั้งมั่นอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมีมากขึ้น เมื่อคำนึงถึงผู้คนจำนวนมาก ที่จะสร้างความก้าวหน้าแก่ชีวิตของตนได้ ก็จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และหากเส้นทางนี้มีพลังเพิ่มขึ้นเพราะมีคนอื่นๆ นอกจากประชาชนธรรมดาเข้ามาร่วมเดินด้วย ก็จะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ระบอบการเมืองที่มั่นคงยั่งยืน และ “สงบเรียบร้อย” เช่นกัน

ในฐานะพรรคการเมือง ผมจะเลือกเส้นทางที่สองนี้ หากพลังของพรรคเพื่อไทยยังพอมีความหมายแก่สังคมไทยอยู่บ้าง ก็จำเป็นต้องออกจากเส้นทางของเกี้ยซิยาธิปไตยเสียที ไม่มีเวลาผัดผ่อนลังเลอีกแล้ว เพราะเวลานี้คือจุดที่เราได้มาถึงทางสองแพร่งที่ไม่มีวันบรรจบกัน เราจะมารวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองทำไม เมื่อถึงจุดวิกฤตที่ต้องเลือกแล้ว เรายังไม่กล้าเลือก

ผมในฐานะพรรคเพื่อไทย ทราบดีว่าบุคคลผู้ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญแก่พรรคคือ คุณทักษิณ ชินวัตร ท่านผู้นี้เป็นอัครศิลปินของการเกี้ยเซี้ย โดยฐานะเขาก็เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาคณาธิปัตย์ไทย แต่เขาเดินเข้าสู่เกมเกี้ยเซี้ยโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ตนเอง เขาสร้างพันธมิตรข้ามกลุ่มได้อย่างกว้างขวางกว่าชนชั้นนำไทย “ทั่วไป” เคยทำมาได้ ความสามารถอันล้นเหลือของเขาในแง่นี้จึงทำให้เกมเกี้ยเซี้ยหมดความหมายลง เพราะฝ่ายอื่นแทบไม่เหลืออำนาจต่อรองอีกเลย ต้องรับทุกอย่างที่เขาหยิบยื่นมาให้อย่างต่อรองไม่ได้

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเลือกออกจากเส้นทางเกี้ยซิยาธิปไตย ไม่ว่าจะวางกฎการเกี้ยเซี้ยไว้อย่างรัดกุมอย่างไร อัครศิลปินอย่างเขาจะสามารถข้ามกฎนั้นไปจนได้ หากเขามีโอกาสหรือมีเครื่องมือคือพรรคเพื่อไทย

แต่ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย

ผมจะตัดสินใจแยกทางกับคุณทักษิณ เพื่อบากบั่นออกไปจากเส้นทางของเกี้ยซิยาธิปไตย ผมอาจจะล้มเหลวจนต้องสลายตัวไปในที่สุด แต่ชีวิตทางการเมืองของพรรคการเมือง ก็เหมือนชีวิตของมนุษย์ หากไม่กล้าลงจากอ้อมอกของคนอื่นเพื่อก้าวเดินด้วยตนเองแล้ว จะมีชีวิตของตัวเองได้อย่างไร นอกจากเป็นเพียงเครื่องประดับของบุคคลตลอดไป

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image