ผลงาน รัฐบาล ระยะทาง 2 ปี 6 เดือน จาก กรุงเทพโพล

ผลสำรวจ “ประเมินผลงาน 2 ปี 6 เดือนรัฐบาล” ที่ดำเนินการโดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือที่เรียกว่า “กรุงเทพโพล”

น่าศึกษา

เป็นการสำรวจประชาชนซึ่งมีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,202 ตัวอย่างจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ อาจจะน้อยนิดอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับประชากรกว่า 60 ล้านคน

แต่ “ผล” ที่ออกมาสมควรล้างหูน้อมรับฟัง

Advertisement

หากประเมินจาก “คะแนนเฉลี่ย” อันเป็นเงาสะท้อนความพึงพอใจต่อการบริหารประเทศในช่วง 2 ปี 6 เดือนของรัฐบาลอาจถือว่า “สอบผ่าน”

นั่นก็คือ ได้ 5.83 จากคะแนนเต็ม 10

มองจากสายตาของเด็กนักเรียน ถือได้ว่าเป็นการสอบผ่านอย่างชนิดเฉียดฉิว คือสูงจากร้อยละ 50 มาเพียง 8 เท่านั้น

Advertisement

เป็นเกรด C

ขณะเดียวกัน หากมองจากผลคะแนนในแต่ละด้าน หรือแม้กระทั่งคะแนนโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ก็อยู่ในระดับที่เรียกว่า

“ลดลง” จากผลสำรวจเมื่อ 6 เดือนก่อน

 

ตรวจสอบไปยังรายละเอียดอย่างรอบด้านมีเพียงคะแนนของนายกรัฐมนตรีในด้านความขยัน ทุ่มเทในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศเท่านั้นที่ได้ “เพิ่ม”

แต่ถึงได้เพิ่มก็เสมอเป็นเพียง “ความขยัน”

ผลที่ลดลงจากทางด้านความมั่นคงของประเทศ ทางด้านการบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านการต่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจ ต่างหาก

สำคัญและสะท้อนข้อน่าเป็นห่วง

เนื่องจากคะแนนเหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับ 6 เดือนก่อน ล้วนปรากฏในลักษณะที่ “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง

น่าเป็นห่วงเพราะนี่คือ “ดัชนี” ชี้ถึง “ผลงาน”

ทุกคนยอมรับว่า นายกรัฐมนตรีมีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และมีความขยันทุ่มเทในการทำงาน เป็นต้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจแล้วเป็นอย่างไร

ยิ่งเมื่อมองไปยังความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อการบริหารในด้านเศรษฐกิจที่ได้เพียง 4.63 คะแนน ลดลง 0.86 คะแนน

ตรงนี้ต่างหากที่จำเป็นต้อง “สำเหนียก”

 

หากเริ่มต้นนับตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ถือได้ว่าพรมแดนทางด้านเศรษฐกิจมีความอ่อนไหว

อ่อนไหวเพราะดำเนินไปอย่าง “เปรียบเทียบ”

การปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2558 เป็นการปรับโดยเอา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกไปแล้วนำเอา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามา

เหตุผลในการปรับ ครม.ครั้งนั้นคืออะไร

ตอบได้เลยว่า 1 เท่ากับเป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นว่า กระบวนการบริหารจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจของทีมที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ไม่ได้ผล

จึงต้อง “ปรับ” จึงต้อง “เปลี่ยน”

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญ การนำเอา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับทีมงานเข้ามาเท่ากับยอมรับว่าแนวทางของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับการเลือกแม้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับคณะเคยร่วมอยู่กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544

นั่นเท่ากับเอาความสำเร็จที่รับรู้ของพรรคไทยรักไทยมา “ต่อยอด” ภายหลังความล้มเหลวของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล

แต่แล้ว 2 ปี 6 เดือน กลับ “สอบตก”

 

มีความเป็นไปได้ที่ คสช.และรัฐบาลอาจเพิกเฉยและมองข้ามบทบาท ความหมายของ “กรุงเทพโพล”

เพราะว่าคะแนนอันได้มาจาก “ซูเปอร์โพล” เพราะว่าคะแนนอันได้มาจาก “นิด้าโพล” ล้วนสวยหรูและไพเราะเสนาะโสตมากกว่า

กระนั้น ก็อย่าลืมพังเพยที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” อย่างเด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image