คอลัมน์ มหัศจรรยการ์ตูน : กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างไรก็กินอย่างนั้น

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่แวะมาพบจิตแพทย์ด้วยอาการซึมเศร้ามักมีปัญหากินอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร ตามมาด้วยน้ำหนักลดลง ซึ่งสังเกตได้จากเสื้อผ้าหลวม โดยเฉพาะกางเกง แต่ก็มีบางคนที่ซึมเศร้าแล้วกินมากขึ้นค่ะ คุณสุภาพบุรุษท่านหนึ่งหลังเลิกกับแฟนเมื่อ 4 ปีก่อนก็เสียใจมาก หลังจากนั้นทุกครั้งที่คิดเรื่องแฟนเก่าขึ้นมาก็จะพยายามกินเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น แม้จะยังทำงานได้เหมือนเดิมแต่ก็เริ่มแยกตัวไม่เข้าหาเพื่อนฝูงเหมือนเคย ทำอะไรก็ไม่มีความสุขเลย มีแต่ช่วงกินเท่านั้นที่รู้สึกทุกข์น้อยลงแต่ก็ยังคงไม่มีความสุข พูดน้อยลง ไม่รักษาเวลาเหมือนเคย และบางครั้งขาดงานหายตัวไปดื้อๆ ความที่เครียดแล้วกินทำให้น้ำหนักตัวขึ้นจากเดิมหกสิบกว่าเป็นร้อยกว่ากิโลกรัมใน 4 ปี หลังจากกินยารักษาซึมเศร้าได้ 3 เดือนก็พบว่าอารมณ์ดีขึ้น ร่าเริง และบอกว่าเพื่อนทุกคนเห็นว่าเขากลับมาเป็นคนเดิมแล้ว แน่นอนว่าน้ำหนักลดลงไปสิบกว่ากิโลกรัมเลยทีเดียวค่ะ

จริงอยู่ที่เรากินอะไรเข้าไปก็จะเป็นเหมือนอาหารที่กิน อย่างเช่น กินขนมหวานมากก็จะอ้วน แต่บางครั้งเพราะเราเป็นคนบางแบบจึงเลือกกินอาหารตามความคิดความอ่านของตัวเราเหมือนกัน ตัวอย่างคุณผู้ชายคนนี้ที่มีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง จึงเลือกกินอาหารปริมาณมากเพราะรู้สึกว่ากินแล้วสบายใจ มีการ์ตูนคลาสสิกของฝรั่งเศสเรื่องหนึ่ง ที่นอกจากมีมุขจิกกัดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้และชนชั้นในปารีสแล้วก็ยังกล่าวถึงคนที่พยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็นอีกคนหนึ่งเพื่อต้องการกินของดีๆ

“La vieille dame et les pigeons” หรือหญิงสูงวัยกับนกพิราบ เป็นแอนิเมชั่นขนาดสั้นของฝรั่งเศสที่เผยแพร่ในปี 1997 คือราว 20 ปีที่แล้ว กล่าวถึงตำรวจสูงวัยที่ยากจน จนกระทั่งเวลาเดินตรวจรอบหอไอเฟลก็ต้องแอบกินข้าวโพดคั่วที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ เขาสังเกตว่านกพิราบแถวนั้นตัวอ้วนมากกว่าปกติ เมื่อตามไปดูจึงพบว่ามีหญิงสูงวัยคนหนึ่งนำขนมเค้กมาโปรยให้นกพิราบ คุณตำรวจครุ่นคิดทั้งคืน จึงตัดสินใจปลอมตัวเป็นนกพิราบด้วยการสวมหัวตุ๊กตานกพิราบขนาดใหญ่ เขาไปหาหญิงสูงวัยที่ห้องพักและได้กินอาหารดีๆ ทุกครั้งจนอ้วนขึ้นเหมือนนกพิราบตัวอื่น คุณตำรวจเคยชินกับการหลอกลวงหญิงสูงวัย จนกระทั่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นนกพิราบจริงๆ แต่เขาไม่ใช่คนเดียวที่ปลอมตัวเป็นนกพิราบไปหลอกหญิงสูงวัยคนนี้ มีคนที่ร้ายกว่าเขาอีกขั้นหนึ่งด้วยค่ะ

แอนิเมชั่นของฝรั่งเศสให้ความรู้สึกแตกต่างจากแอนิเมชั่นของอเมริกาหรือเอเชียอย่างมาก ความสนุกไม่ได้ฉูดฉาดเหมือนแอนิเมชั่นสำหรับเด็ก ออกจะต้องใช้สมองคิดสักหน่อยด้วยค่ะ เด็กดูก็สนุกแบบหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่ดูก็สนุกอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่ตีความได้ว่าคนท้องหิวก็ยอมถอดชุดตำรวจไปใส่ชุดนกพิราบและหลอกลวงหญิงสูงวัยที่ใจดีได้เหมือนกัน ท้องหิวอาจไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้คนเปลี่ยน เพราะตอนคุณตำรวจท้องอิ่มและอารมณ์ดีขึ้นแล้วก็ยังคงหลอกลวงหญิงสูงวัยต่อไป เขากลายเป็นนกพิราบไปแล้ว นั่นคือเขากลายเป็นคนหลอกลวงไปแล้ว แอนิเมชั่นเหมือนอยากเสียดสีคนที่อ้างว่า “เพราะจนเลยต้องไปเป็นโจร” ทั้งที่จริงอาจจะเพราะเขามีความเป็นโจรอยู่แล้วจึงเอาความจนมาอ้างก็ได้ คุณตำรวจท่านนี้ ตอนที่ยังสวมชุดตำรวจอยู่ก็ไม่หลอกลวงใครค่ะ ยอมกินข้าวโพดคั่วที่คนโยนทิ้งไว้ยังดีเสียกว่า แต่เมื่อเขาทิ้งความเป็นตำรวจไปเป็นนกพิราบจอมหลอกลวง ศักดิ์ศรีของเขาก็หายไปด้วย

Advertisement

ตรงนี้น่าสนใจค่ะ เคยมีผู้ป่วยคนหนึ่งเล่าเรื่องชีวิตทุกข์ระทมของตัวเองให้ฟังมากมาย อยู่มาวันหนึ่งเขาทำผิดกฎหมายและญาติมาเล่าให้ฟังว่า เรื่องที่คุณหมอได้ยินน่ะเป็นเรื่องโกหกไปเสียครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคือเรื่องจริงที่เขาเล่าเฉพาะด้านน่าสงสารของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงเขาก็ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่นเหมือนกัน ผู้ป่วยท่านนี้บอกว่า สังคมไม่เชื่อว่าเขาไม่ได้ตั้งใจทำผิด ดังนั้นก็จะใช้ชีวิตหลังจากนี้ทำผิดจริงๆ เสียเลย ดูเหมือนเขาอยากประชด แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะเอาเรื่องนี้มาอ้างเพื่อหาความชอบธรรมในการกลายเป็นโจรของตัวเองก็ได้ ตอนนั้นเลยบอกไปว่า คนเกิดมาดี ต่อให้ตกต่ำแค่ไหนก็ไปเป็นโจรไม่ได้หรอก แต่คนที่เกิดเป็นโจรน่ะ ต่อให้พูดดีหรือแต่งตัวดีแค่ไหน ความเป็นโจรก็ไม่เคยหายไปหรอกนะ การกระทำของคุณหลังจากนี้จะพิสูจน์ว่าคุณเกิดมาดีอย่างที่คุณบอก หรือแท้จริงไม่ได้ดีอย่างนั้นกันแน่ ดูอารมณ์โกรธของเขาจะเบาบางลงนะคะ

การใช้ชีวิตของเรามีผลต่อการเลือกกิน และอาหารที่กินก็มีผลต่อชีวิตเช่นกันค่ะ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS One โดย ดร.แทมลิน คอนเนอร์ จากนิวซีแลนด์บอกเราว่า ถ้าผู้ใหญ่กินผักและผลไม้มากขึ้นจะช่วยให้อารมณ์ทางบวกเพิ่มขึ้นได้ใน 14 วัน เขาวิจัยในนักศึกษาอายุ 18-25 ปี จำนวน 171 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกินตามปกติ กลุ่มที่ผู้วิจัยจะส่งผักและผลไม้สด เช่น แครอต กีวี แอปเปิล และส้ม ไปให้กินเพิ่มขึ้นทุกวัน และกลุ่มที่ผู้วิจัยแค่ส่งข้อความเข้าโทรศัพท์เพื่อกระตุ้นเตือนให้กินผัก-ผลไม้เยอะขึ้น ผลพบว่าเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ มีเพียงกลุ่มที่ได้รับผัก-ผลไม้สดในปริมาณ 3.7 servings ต่อวันเท่านั้นที่มีอารมณ์ทางบวกเพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่ ความมีชีวิตชีวา แรงบันดาลใจ และความเบิกบาน ผัก-ผลไม้ 1 เสิร์ฟคือประมาณส้มหรือกล้วยหอม 1 ผล หรือผัก 1 ถ้วย อย่างไรก็ตาม การกินผัก-ผลไม้เพิ่มขึ้นไม่ได้ช่วยให้อารมณ์ทางลบเช่นอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลดีขึ้น ผู้วิจัยจึงสรุปว่า การกินผัก-ผลไม้สดเพิ่มขึ้นช่วยให้ใจคอเบิกบานขึ้นในระยะสั้นได้

สำหรับคนอายุ 18-25 ปีที่อยากอารมณ์ดี ลองกินผักและผลไม้ให้เยอะขึ้นสัก 2 สัปดาห์นะคะ อย่างไรก็ตาม ผลไม้มีน้ำตาลค่ะ เด็กและคนอายุเยอะโดยเฉพาะที่มีโรคเบาหวานควรเลือกผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะกับสุขภาพของตัวเองด้วย ถ้ากินเยอะเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพค่ะ ในทางกลับกัน ถ้าสุขภาพจิตเราไม่ดี เราก็มีโอกาสเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image