เส้นทาง47ปี ‘ธรรมกาย’ ก่อนเผชิญ ‘ม.44’

"ธรรมกายเจดีย์" ขณะก่อสร้างต่อมาถูกกลุ่มต่อต้านเรียกเชิงเสียดสีว่า "(ลัทธิ)จานบิน" ด้วยรูปแบบอาคารที่คล้ายคลึง

กลายเป็นสถานการณ์ร้อนแรงที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สังคมไทย เมื่อรัฐบาลงัดมาตรา 44 ออกมาใช้ในการตรวจค้นพื้นที่วัดพระธรรมกาย ด้วยเป้าหมายหลักคือการนำตัว “พระธัมมชโย” มาสู่กระบวนการทางกฎหมาย

เขตอารามที่เคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม แปรสภาพราวกับสมรภูมิแห่งการไล่ล่า นำมาสู่คำถามที่ว่า “ธรรมกาย” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

มาย้อนรำลึกความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาของวัดแห่งนี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น

พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

2513 ปักเสาเข็มธรรมกาย

หมุนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน อุบาสิกานามว่า ยายจันทร์ ขนนกยูง หรือที่รู้จักกันในนาม “ชีจันทร์” ศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ถ่ายทอดวิชาให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย แล้วชักชวนกันก่อตั้งวัดพระธรรมกายขึ้น โดยเริ่มบุกเบิกตั้งแต่ พ.ศ.2513 คุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดีได้บริจาคที่ดินถึง 196 ไร่เพื่อสร้างวัด อาคารหลังแรกคือ ศาลาการเปรียญชื่อว่า “จตุมหาราชิกา” ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2519 จุคนได้ราว 450 ราย จากนั้นจึงก่อสร้างพระอุโบสถในราวปี 2523

Advertisement
อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (แม่ชีจันทร์) ผู้สอนวิชาธรรมกายให้พระธัมมชโย ถ่ายภาพร่วมกับหมู่คณะรุ่นแรกที่บ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (แม่ชีจันทร์) ผู้สอนวิชาธรรมกายให้พระธัมมชโย ถ่ายภาพร่วมกับหมู่คณะรุ่นแรกที่บ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

อภิมหาอลังการแห่งศรัทธา

วัดพระธรรมกายมีชื่อเสียงมากขึ้นตามลำดับ มีผู้เดินทางมาที่วัดจนศาลาการเปรียญเดิมรับไม่ไหว ต้องสร้างอาคารชั่วคราวขนาดใหญ่หลังคามุงจากในพื้นที่เกือบ 10 ไร่ จุคนได้ราว 50,000 รายแต่ก็ยังไม่เพียงพอ นำไปสู่การสร้าง “สภาธรรมกายสากล” จุคนได้หลักแสน ในพื้นที่ 100 ไร่ สะท้อนให้เห็นถึงแรงศรัทธาที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น

ทางวัดเผยแพร่คติการทำงานว่า “ไม่ได้ไม่มี ไม่ดีไม่ได้ ต้องได้และดี ให้ดีกว่าดีที่สุด”

ไม่เพียงสาธุชนคนไทย ฝรั่งต่างชาติก็ยังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาธรรมที่วัดแห่งนี้ กิจกรรมด้านพุทธศาสนานับไม่ถ้วนถูกจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงงานยักษ์อย่างการประชุมวิชาการทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติเมื่อปี 2533 มีนักวิชาการทั่วโลกเข้าร่วม

บุคคลสำคัญ มีการศึกษา ดารานักร้อง คนดัง ตบเท้าเข้าสู่ร่มเงาวัดพระธรรมกาย

ในปี 2541 มีภิกษุสามเณรถึง 1 พันรูป ศิษย์วัด 700 คน ญาติโยมมหาศาล เงินทองหลั่งไหลนับแทบไม่ทัน

ทว่า ไม่นานนัก ก็เกิดการตั้งคำถามจากสังคมต่อแนวคิด หลักธรรม และวิธีการบางอย่างที่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งพากันค้างคาใจ

ภาพถ่ายมุมสูงวัดพระธรรมกาย ปี 2522 ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน 196 ไร่ แถบทุ่งรังสิตจากคุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี โดยเริ่มก่อสร้างปี 2513
ภาพถ่ายมุมสูงวัดพระธรรมกาย ปี 2522 ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน 196 ไร่ แถบทุ่งรังสิตจากคุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี โดยเริ่มก่อสร้างปี 2513
การก่อสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะยุคเศรษฐกิจตกต่ำรวมถึงแนวทางปฏิบัติหลายอย่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
การก่อสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะยุคเศรษฐกิจตกต่ำรวมถึงแนวทางปฏิบัติหลายอย่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

สังคมวิพากษ์ นักวิชาการกังขา “ธรรมกายไม่ใช่พุทธ”?

ด้วยวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในวัดพระธรรมกาย แนวคิดเรื่องการทำบุญที่ใช้ทรัพย์มาก ยิ่งได้บุญมาก การสร้างสถาปัตยกรรมสุดอลังการ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงนักวิชาการในสาขาต่างๆ อาทิ

ส.ศิวรักษ์ เผยแพร่บทความ “ธรรมกาย ฟางเส้นสุดท้ายของสถาบันสงฆ์ไทย” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2542 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “หากเปรียบสถาบันสงฆ์ได้ดังเช่นหลังอูฐ กรณีธรรมกายที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงฟางเส้นสุดท้ายแห่งความเสื่อมสลายของสถาบันสงฆ์ไทย เช่นเดียวกับกรณีฟางเส้นสุดท้ายที่เคยเกิดขึ้นในชมพูทวีป…..วัดหมดความเป็นองค์รวมในทางความร่มรื่นร่มเย็น ซึ่งเป็นแหล่งอภัยทานสำหรับทุกหมู่เหล่า….. กระทั่งวัดกลายเป็นแค่ศูนย์พิธีกรรม เป็นลานจอดรถ และแหล่งรวมรายได้”

ปี 2548 เสฐียรพงษ์ วรรณปก ให้สัมภาษณ์กับกลุ่ม “เสขิยธรรม” อย่างตรงไปตรงมาจนเป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น โดยระบุว่า “ธรรมกายไม่ใช่พุทธ” มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “ฝรั่งมาสัมภาษณ์ผม ผมบอกเลยว่าไม่ใช่พุทธศาสนาในความหมายที่แท้จริง…เพราะว่าเขาไม่สำแดงคำสอนของพุทธศาสนา เพียงไปหยิบเอาคำสอนของพุทธศาสนาบางจุดเพื่อสร้างความร่ำรวย ความยิ่งใหญ่ให้แก่ตัว…ถึงกับสร้างสโลแกนว่า ขายบ้านขายรถ ทุ่มสุดฤทธิ์ ปิดเจดีย์ ไม่มีก็ให้ไปขอยืมเขามา…โอ้โห! นี่มันลัทธิขูดรีด…”

ไม่เพียงนักวิชาการ แม้แต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ อย่าง สมเด็จประยุทธ์ ปยุตฺโต ก็ยังเคยกล่าวถึงกรณีธรรมกายในแง่ของ “บทเรียน” โดยตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ใช้ชื่อว่า “กรณีธรรมกาย : บทเรียนเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและสร้างสรรค์สังคมไทย”

อาคม เอ่งฉ้วน (สวมสูท) รมช.ศึกษาธิการ พร้อมนักข่าวเข้าสนทนากับพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาส เมื่อปี 2541

บอกบุญ “ไดเร็กต์เซล” ขายปาฏิหาริย์ สะกดจิตหมู่

กระแสต้านของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วัดพระธรรมกาย จัดพิมพ์หนังสือ “เจาะลึกวัดพระธรรมกาย” เพื่ออธิบายความเป็นมา พร้อมแก้ต่างให้กับตนเองในประเด็นหลากหลาย ตั้งแต่ พ.ศ.2541 อาทิ ยืนยันว่า “ธรรมกาย” มีในพระไตรปิฎก, ปฏิเสธว่าไม่ได้บอกบุญแบบ “ขายตรง” เป็นเพียงการ “บอกต่อ”, ทำบุญมาก ย่อมได้มาก, เอาสวรรค์มาล่อ เพราะอยากให้สนใจ ซึ่งเป็นกุศโลบายที่พระพุทธเจ้าใช้เช่นกัน รวมไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่า ธรรมกายสร้างความแตกแยกในครอบครัว อันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างในด้านความศรัทธาของสมาชิกในบ้าน ทางวัดปฏิเสธว่า เกิดขึ้นจากสื่อมวลชนที่ไปหยิบประเด็นมาขยายเกินจริง พร้อมย้ำว่าไม่เก่งกาจขนาดสะกดจิตคนนับหมื่นให้เชื่อในปาฏิหาริย์หากมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ทั้งยังระบุว่า กระแสต้านหรือเสียงติติงนั้น อาจเกิดจากผู้มีใจไม่เป็นกุศล อิจฉาริษยา หมั่นไส้ หวาดระแวง หรือเสียผลประโยชน์

สานุศิษย์นับหมื่นน้ำตาอาบแก้มขณะสถาปนาธรรมกายเจดีย์ เปล่งเสียง "ชิตัง เม" อย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าเกิดอัศจรรย์ตะวันแก้วในรอบ 1,000 ปี
สานุศิษย์นับหมื่นน้ำตาอาบแก้มขณะสถาปนาธรรมกายเจดีย์ เปล่งเสียง “ชิตัง เม” อย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าเกิดอัศจรรย์ตะวันแก้วในรอบ 1,000 ปี

มหาเถรฯฟันธงธัมมชโย”ไม่ปาราชิก”

การวิพากษ์ประเด็นวัดพระธรรมกาย ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมจำพวกธุดงค์ที่มีการปิดถนนโรยดอกดาวเรือง กระทั่งกลุ่มพุทธศาสนิกชนปทุมธานียื่นจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการจราจรที่ติดขัด ซ้ำยังผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

ทว่า เหตุการณ์ที่โหมไฟแห่งวิวาทะวงการผ้าเหลืองอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อ “มหาเถรสมาคม” (มส.) มีมติว่า พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่อาบัติปาราชิกจากข้อกล่าวหาเรื่องยักยอกทรัพย์ ไปจนถึงการผิดวินัยสงฆ์ ทำเอาสังคมหันมาวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการปฏิรูปศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ “พระพุทธะอิสระ” เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย นครปฐม ขอตรวจสอบการทำหน้าที่ของ มส.

วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา ออกมาสร้างความฮือฮาด้วยบทสัมภาษณ์แบบยิงหมัดตรงว่า ปัญหาธรรมกายที่ใหญ่และน่ากลัว เพราะเหมือนมีองค์กรสงฆ์ที่ใหญ่เหมือนกัน เป็นกระจกสะท้อนกัน ธรรมกายก็ใช้โครงสร้างคณะสงฆ์ของรัฐซึ่งมีอำนาจมากในการขยายอิทธิพลของตัวเองด้วย วิจักขณ์ยังบอกว่า ให้มองธรรมกายเป็น “สำนัก” อย่ามองว่าเป็นพุทธแล้วพยายามไปกำจัดทิ้ง พร้อมระบุว่าวิธีการเดียวที่จะจัดการประเด็นเช่นนี้ได้คือ การ “แยกรัฐกับศาสนา” ออกจากกัน ต้องคุยกันใหม่ว่าศาสนาคือเสรีภาพทางความคิด ทุกความเชื่อควรมีสถานะเท่าเทียม หากรัฐจะคุ้มครองศาสนา ก็ต้องทำอย่างเสมอภาค

ข้อคิดเห็นนี้ ก่อกระแสถกเถียงอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเกิดประเด็นสำคัญที่นำพาสถานการณ์มาถึงวันนี้ นั่นก็คือ คดีความที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินมหาศาล อย่างกรณีผู้เสียหายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เข้าร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ให้ดำเนินคดีกับพระธัมมชโยและอดีตประธานสหกรณ์ ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร อัยการสั่งฟ้อง แต่ยังไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาตามหมายศาลมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้

เหตุการณ์จึงดำเนินมาสู่จุดที่เป็นอยู่ และสังคมยังคงเฝ้าดูอย่างตาไม่กะพริบ

พิธีตักรบาตรทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2539 ช่วงที่วัดพระธรรมกายรุ่งโรจน์ ได้รับความศรัทธาอย่างล้มหลาม
พิธีตักรบาตรทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2539 ช่วงที่วัดพระธรรมกายรุ่งโรจน์ ได้รับความศรัทธาอย่างล้มหลาม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image