‘บิ๊กตู่’ สั่ง ‘มินิคาบิเนต’ เข้มจัดซื้อจัดจ้าง ป้อง ‘ฮั้วประมูล-ล็อกสเปก’ หากจำเป็นพร้อมใช้ ม.44

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอำพน กิตติอำพน ผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (มินิคาบิเนต) ครั้งที่ 2/2560 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน
นายอำพนกล่าวว่า นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง วางแนวทางการปฏิบัติในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ในระหว่างที่รอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ โดยเน้นในเรื่องของการกำหนดทีโออาร์ หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง ให้มีความโปร่งใส และภาครัฐได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องทำให้ได้ราคากลางที่ถูกต้อง แก้ปัญหาการสมยอมราคา รวมถึงการพิจารณาการจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต โดยไม่ผ่านคนกลาง นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินการได้ เรื่องนี้จะต้องมีการกลั่นกรองกติกาต่างๆ อย่างรอบคอบและเหมาะสม รวมถึงการเพิ่มจำนวนโครงการที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่ปัจจุบันมีการดำเนินงานใน 35 โครงการแล้ว เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ รวมถึงการลดการใช้งบประมาณของภาครัฐ และที่สำคัญต้องเพิ่มกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้หลังจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีผลบังคับใช้ แต่กฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 บังคับใช้ไปก่อน แนวทางทั้งหมดจะมีการศึกษาและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายอำพนกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ปี 2558 ทั้งในส่วนของ e-bidding หรือ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ การดำเนินข้อตกลงคุณธรรม และการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้าง สามารถแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของการสมยอมราคาและการล็อกสเปก โดยสามารถทำให้ประหยัดงบประมาณได้กว่า 69,670 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ปี 2558 ทั้งในส่วนของ e-bidding หรือ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ การดำเนินข้อตกลงคุณธรรมและการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้าง สามารถแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของการสมยอมราคาและการล็อกสเปก โดยสามารถทำให้ประหยัดงบประมาณได้กว่า 69,670 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image