คู่แข่ง 4.0 คือการศึกษาและคุณภาพชีวิต : โดย สุกรี เจริญสุข

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทย (พ.ศ.2502-2506) เป็นผู้ริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายให้ทุกคนท่องจำจนขึ้นใจว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ทำให้คนไทยมุ่งหาเงิน ทุกคนทำงานเพื่อให้ได้เงิน เพราะเชื่อว่ามีเงินแล้วก็จะมีความสุข “มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่” โดยถือคติว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง คนมีเงินทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด เงินคือพระเจ้า ซึ่งบางครั้งเงินใหญ่กว่าพระเจ้าเสียอีก คือเป็นพ่อของพระเจ้า เมื่อเงินทำหน้าที่ให้ความสุข

สำหรับความสุขของผู้ชายไทยก็คือ “ได้ลงอ่างกับลงขวด” สังคมไทยได้พัฒนาคู่ขนานเรื่องเงินกับความสุข ในขณะนั้นเป็นยุคประเทศไทย 1.0 ก็คือ การขายที่นา ขายที่ดิน ขายแรงงาน และขายตัว เพื่อให้ได้เงินแล้วมีความสุข โดยมีอุดมการณ์ว่า “ของดีเอาไว้ขายได้เงิน ของไม่ดีเอาไว้ใช้และเอาไว้กิน” คนไทยจึงมีชีวิตอยู่กับของไม่ดียุคประเทศไทย 1.0 คนชนบทไทยรู้สึกว่า ตัวเองยากจนขึ้นมาทันทีเพราะไม่มีเงิน ทั้งๆ ที่มีบ้านอาศัย มีที่ดิน มีข้าวปลาอาหารกิน มีไร่นา มีวัวควาย มีต้นไม้ มีอากาศสะอาด มีน้ำใส มีความมืด มีความเงียบ มีความร่มเย็น อาศัยธรรมชาติให้เทวดาเลี้ยง มีความอบอุ่นในครอบครัว มีพ่อแม่ลูก มีปู่ย่าตายาย แต่คนไทยก็ยังรู้สึกว่าไม่มีความสุข ยุคนี้ชนบทไทยยังไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านไม่มีกิจกรรมอะไรทำ จึงปั๊มลูกเพื่อให้ออกมาช่วยทำนา

เมื่อนโยบาย “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” คนในชนบทไทยกลายเป็นคนจนทันที ทั้งๆ ที่เป็นยาจกที่นั่งบนถุงทอง โดยมองไม่เห็นถุงทองของตัวเองว่าคืออะไร คนชนบทไทยจึงได้ทำลายทุกสิ่งที่มีอยู่ในชนบทก็เพื่อจะแลกเปลี่ยนให้เป็นเงิน คนชนบทจึงออกจากบ้านไปอยู่ในเมืองเพื่อหาเงิน

ปี พ.ศ.2504 มีเพลงลูกทุ่งที่โด่งดังมากคือเพลง “ผู้ใหญ่ลี” โดยครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ หัวหน้าวงดนตรี ได้แต่งเพลงล้อเลียนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้น โดยให้ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เป็นผู้ขับร้อง

Advertisement

เพลงผู้ใหญ่ลีโด่งดังมาก ทำให้มีเพลงอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายเพลง อาทิ ผู้ใหญ่ลีเข้ากรุง ผู้ใหญ่ลีหาคู่ เมียผู้ใหญ่ลี ลูกสาวผู้ใหญ่ลี ผู้ใหญ่ลีกับผู้ใหญ่มา เป็นต้น ซึ่งต่อมาก็ทำเป็นภาพยนตร์ด้วย

ประเทศไทยยุค 2.0 เงินคือความสุดยอดปรารถนา ทุกคนอยากรวย ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน กลายเป็นหัวใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน การสร้างโรงงานผลิตสินค้าเพื่อขายขายทุ่งนาเพื่อทำบ้านจัดสรร ปลูกผักผลไม้ใส่ยาฆ่าแมลงเพื่อขายให้ได้เงิน ใช้สารเคมีใส่ในอาหารเพื่อขายโดยมุ่งค้ากำไรสูงสุด ครอบครัวแตกแยกโดยเงินเป็นเหตุ พ่อแม่ต้องแยกจากกันไปทำงานเพื่อหาเงิน เด็กๆ ต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย การค้ามนุษย์เพื่อเงิน การทำลายชุมชนเพื่อเงิน การทำลายวิถีชีวิตเพื่อเงิน การกระทำทุกอย่างมีเป้าหมายก็เพื่อเงิน การทำลายผู้อื่นก็ยอมเพราะทำเพื่อเงิน

ในยุคนี้เป็นยุคของปลอม โดยสุรพล สมบัติเจริญ เขียนเพลงของปลอม (เสื้อยกทรงเป็นนมปลอม สิงหาคม 2511) เพลงคุณนายโรงแรม (มีทองเส้นโตเท่าโซ่รถไฟ) พ.ศ.2514 ของระพิน ภูไท เป็นต้น สะท้อนสังคมไทยที่คนต้องทำงานเพื่อเงิน แต่มีคุณภาพชีวิตต่ำ เพราะต้นทุนชีวิตต่ำ

ประเทศไทยยุค 3.0 การพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เด็กไทยได้อ่านออกเขียนได้ มีโรงเรียนเกิดขึ้นทุกตำบล เด็กชนบทได้มีโอกาสเรียนหนังสือเพื่อให้ได้ใบปริญญา มีมหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยทางไกล มหาวิทยาลัยเพื่อชนบท และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้การศึกษาและให้คนมีใบปริญญา สังคมไทยตกอยู่ในสภาพที่มีคนมีใบปริญญาแต่ไร้การศึกษา ส่วนคนที่มีโอกาสก็จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ

การปลูกข้าวมีปัญหาเพราะไม่มีที่นาและไม่มีชาวนา การประมงหาปลาก็มีปัญหาเพราะไม่มีชาวประมง การก่อสร้างมีปัญหาเพราะไม่มีช่างก่อสร้าง ไม่มีช่างฝีมือที่จะทำงาน เพราะชาวไทยไปเรียนหนังสือเพื่อให้ได้ใบปริญญา แล้วหางานที่นั่งโต๊ะกินเงินเดือน ทุกคนต้องการเป็นมนุษย์เงินเดือนโดยไม่ต้องการทำงาน ต้องการรับราชการเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน สังคมไทยไม่มีคนทำงาน ขาดชาวนา ขาดช่างฝีมือ ขาดชาวประมง หนุ่มสาวไทยขอเงินพ่อแม่แต่ไม่เรียนหนังสือ เอาเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่อวดกัน กลายเป็นเด็กแว้นและสก๊อย

คุณภาพชีวิตสังคมตกต่ำ คนอยากรวยลัดโดยไม่ทำงาน โจรขโมยชุกชุม และเล่นการพนันเล่นหวย

ในขณะเดียวกัน คุณมีชัย วีระไวทยะ จัดตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน พ.ศ.2517 มีผลกระทบในยุคประเทศไทยยุค 3.0 เพราะว่าประเทศไทยมีประชากรลดลง มีผลกระทบโรงเรียนเริ่มร้าง มีวัดร้าง เพราะมีผู้ชายไม่พอที่จะบวช สังคมไทยต้องซื้อความสำเร็จจากต่างประเทศ ซื้อเทคโนโลยี ซื้ออุปกรณ์ทำงาน ซื้อความสุขและซื้อความเจริญ ซื้อสินค้าเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

แม้ยี่ห้อร้านก็ยังต้องซื้อจากต่างประเทศ โดยมีคติว่า “ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่” คนไทยไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ ต้องอาศัยผู้อื่นโดยการใช้เงินซื้อวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจติดลบ เป็นหนี้จนล้มละลายในความน่าเชื่อถือ ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานวิถีชีวิตใหม่ตามแบบ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ การกลับไปพึ่งตนเอง สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยกลับไปพึ่งความอุดมสมบูรณ์ของชนบท ให้ความสำคัญของเงินน้อยลง แต่ให้ความสำคัญต่อความพอดี พอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นความสุขขั้นพื้นฐาน การที่สังคมมีความพออยู่ พอกิน และพอเพียง ทำให้ภาระขั้นพื้นฐานสาธารณูปโภคจึงตกเป็นภาระของรัฐที่จะต้องทำ ซึ่งรัฐไทยก็ยังไม่พร้อม แม้คิดได้แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จ

รัฐบาลในปัจจุบันมีนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และพึ่งความเข้มแข็งจากภายในประเทศ โดยมีรัฐมนตรีสุวิทย์ เมษินทรีย์ เสนอตามแนวคิด คสช. เปิดเผย วันที่ 13 สิงหาคม 2558 (ไทยรัฐ 2 พฤษภาคม 2559)

เริ่มจากการนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ การขายความหวัง ขายความสงบ ขายความสุข ขายประโยชน์สุข การหล่อเลี้ยงความหวังให้งอกงาม พยายามที่จะลดความรู้สึกไม่สมหวัง ความผิดหวัง และลดความสิ้นหวังของประชาชน ปรุงแต่งให้ประชาชนมีความหวังต่อไป

ประเทศไทย 4.0 เป็นการพัฒนาให้มีความรู้ มีประสบการณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถที่จะเรียนรู้จากการเลียนแบบแล้วทำซ้ำ กล้าคิดและกล้าแหกคอก ค้นหาจนพบความเป็นเลิศ

และในที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาหาความเป็นฉัน จนกระทั่งขายความเป็นฉันได้ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อาศัยนวัตกรรม ที่มีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ขับเคลื่อนโดยอาศัยเทคโนโลยี และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่การบริการ ซึ่งความมีน้ำใจและรอยยิ้มของคนไทยนั้นอาจจะช่วยชาติได้

ประเทศไทย 4.0 ต้องเผชิญกับประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนร้าง วัดร้าง มหาวิทยาลัยปิดตัว คนไทยเริ่มไม่สนใจใบปริญญาอีกต่อไป คนมีใบปริญญาช่วยตัวเองไม่ได้ ขณะเดียวกันก็เกิดสินค้าทำมือ ชุมชนต้นแบบที่ต้องช่วยตัวเอง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งชนิด (OTOP) อาทิ มังคุดคีรีวง ข้าวสารเมืองพะเยา ปลาทูแม่กลอง ชุมชนอัมพวา ชุมชนปาย ชุมชนคีรีวง เป็นต้น ทุกชุมชนเริ่มกลับไปหารากเหง้าของตัวเอง แล้วผลิตสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนให้ออกมาเป็นสินค้าเพื่อใช้และขายได้

นโยบายปั๊มลูกเพื่อชาติของอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (มติชน 18 กุมภาพันธ์ 2559) อาจจะทำให้สังคมไทยสับสน เพราะสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ครอบครัวจะมีลูกน้อยลง เพื่อจะให้สามารถเลี้ยงลูกที่มีคุณภาพได้เท่านั้น แต่สังคมไทยยังประกอบด้วย “หญิงรักหญิง ชายรักชาย” มีปริมาณมากขึ้น แม้จะเป็นชายรักหญิงก็ตาม “เราก็อยู่กันได้ถ้าไม่มีลูก” เพราะถือว่าการมีลูกเป็นภาระที่จะต้องรับผิดชอบด้านคุณภาพ

ประเทศไทย 4.0 จะต้องพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อโรงเรียนร้าง มีเด็กน้อยลง โรงเรียนทุกโรงเรียนจะต้องมีคุณภาพ ครูจะต้องมีประสิทธิภาพ เพราะว่าครูเก่งนักเรียนเก่ง เด็กน้อยลงถือเป็นเรื่องยุติด้านปริมาณได้แล้ว ซึ่งรัฐจะต้องหันกลับไปพัฒนาคุณภาพคน คุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม อย่างจริงจัง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องปั๊มลูกเพื่อชาติอีกต่อไป แต่จะต้องปั๊มคุณภาพเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

ประเทศที่มีศิลปะและดนตรียิ่งใหญ่ ก็คือประเทศโลกที่หนึ่งและประเทศโลกที่สอง เพราะความยิ่งใหญ่ของศิลปะและดนตรีเป็นเครื่องหมายของความเจริญ ศิลปะและดนตรีที่ยิ่งใหญ่จะช่วยขัดเกลาให้จิตใจของคนในสังคมสูงขึ้น ซึ่งแปลว่าสังคมเจริญขึ้นด้วย

การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมจึงเป็นปัจจัยหลักของรัฐบาลที่จะใช้ประกอบการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ที่สำคัญที่สุด

ตราบใดที่ไทยยังซื้อความสำเร็จมาเพื่อใช้พัฒนาประเทศ โครงการซื้อเรือดำน้ำงมหอยหรือหาปลาทู ซื้อจรวดมาอวดงานวันเด็ก ก็คงพัฒนาให้ประเทศไทยเข้าถึง 4.0 ได้ยาก

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image