บทสรุป การเมือง จาก บวรศักดิ์ อุวรรโณ ‘เขาอยากอยู่นาน’

บทสรุปอันเผย “เงื่อนงำ” การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อเดือนกันยายน 2558 จาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ส่ง “ผลสะเทือน” เป็นอย่างสูง

ไม่เพียงเพราะ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ถูกคว่ำอย่างไม่เป็นท่า

หากแต่อย่าลืม “ฐาน” ที่มาของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

Advertisement

เขามีความสัมพันธ์ทั้งในทาง “ส่วนตัว” และในทาง “ความคิด” อย่างลึกซึ้งกับ นายวิษณุ เครืองาม และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

3 คนนี้ได้รับยกย่องให้เป็น “เนติบริกร”

3 คนนี้ได้รับเกียรติจากคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ให้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างสูงในทางกฎหมาย

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็มาจาก “สมองก้อนโต” ของ 2 ใน 3

วัจนะอันถือว่าเป็น “ยอดคำเท่” จากปาก นายวิษณุ เครืองาม ที่ว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” สะท้อนถึงภาระหน้าที่ในทางการเมืองได้อย่างเด่นชัด

ฉะนั้น บทสรุปที่ว่า “เขาอยากอยู่นาน” จึงทรงความหมาย

 

ประเด็นอันเกี่ยวกับ “ระยะเวลา” ของการอยู่ในอำนาจ ประเด็นอันนำไปสู่บทสรุปที่ว่า “อยากอยู่นาน” ความจริงมิได้เป็นเรื่องใหม่

แม้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะเพิ่ง “ตกผลึก” เอาเมื่อเดือนกันยายน 2558

แต่หากใครติดตามบทบาทของ โหรวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ แห่งสำนักสุขิโต จังหวัดเชียงใหม่ อย่างเกาะติดและต่อเนื่อง

ก็จะต้องร้อง “ฮ้อ” อย่าง “อัตโนมัติ”

เพราะโหรวารินทร์อาศัย “นิมิต” อันได้มาจากท่านฤๅษีเกวาลัน แห่งเทือกเขาหิมาลัย มาโฆษณาตั้งแต่แรกที่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว

ว่าจะอยู่ “ยาว”

จึงไม่แปลกที่เคยคิดกันว่าจะมีเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2558 ก็เกิดการเลื่อนโดย “ปฏิญญาโตเกียว” เป็นเดือนตุลาคม 2559

แล้วเมื่อผ่าน “ยุทธการ” ใหญ่ในการ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ก็นำไปสู่การประกาศ “ปฏิญญานิวยอร์ก” ในเดือนกรกฎาคม 2560 อันส่อแนวโน้มว่าความเป็นไปได้ก็คือ ทุกอย่างจะเรียบร้อยโรงเรียน คสช.ก็ประมาณต้นปี 2561 ซึ่งเดือนที่เหมาะสมอย่างยิ่งก็คือเดือนพฤษภาคม

เท่ากับครบ 4 ปีของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

กระนั้น หากสัมผัสได้จาก “บทเฉพาะกาล” อันเป็นต้นฉบับโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประสานกับข้อเสนอ 16 ข้อจาก ครม.

ก็จะรับรู้ถึงแนวโน้ม “ใหม่” จังหวะก้าว “ใหม่”

เป็นจังหวะก้าวที่ขุนพลนักกฎหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ประเมินและสรุปด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า

เท่ากับเป็นการ “ต่อท่อ” แห่ง “อำนาจ”

นั่นเท่ากับ “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้หลักประกันกับกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในแบบ “ดับเบิล”

1 การคงอำนาจแห่งมาตรา 44 ไว้

1 การคงอำนาจแห่ง “โครงสร้าง” การกำกับการทางการเมืองโดยองค์กรอิสระ โดยศาลรัฐธรรมนูญและโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ถึงไม่เรียกว่า “คปป.” แต่นั่นแหละคือ “ใช่เลย”

โครงสร้างเหล่านี้เท่ากับเป็น “สายล่อฟ้า” อันทรงพลานุภาพยิ่งทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน “ประชามติ” ก็ตาม

สรุปได้ตามนิทานโบราณเรื่องตาอินกับตานาได้อย่างเด่นชัด

นั่นก็คือ กินหัว กินหาง กินกลางตลอดตัวและ “ยาว” ไปเลยอย่างที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มองเห็นเมื่อเดือนกันยายน 2558

 

ยิ่งผ่านจากเดือนมกราคมและกำลังเคลื่อนย้ายไปยังเดือนกรกฎาคม 2559 อันเป็นกำหนดแห่ง “ประชามติ”

ไม่เพียงแต่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะรู้สึก ไม่เพียงแต่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จะรู้สึก ไม่เพียงแต่ นายนิกร จำนง และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จะรู้สึก

หาก “ความรู้สึก” ก็กำลังยกระดับไปสู่ขั้น “ซาโตริ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image