“ทรู” ชี้ยุค 4.0 ต้องทำน้อยได้มาก เตรียมทุน 3 หมื่นล้าน สร้างทรูดิจิตอลปาร์ค ฮับวิจัยพัฒนานวัตกรรม

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ กทม.บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนาหัวข้อ “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ส่องเศรษฐกิจ 4.0ปีไก่ทอง ท่ามกลางผู้ร่วมงานคับคั่งจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ อดีตส.ส. ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีส่วนของการเสวนา ซึ่งมีวิทยากรหลายท่านร่วมบรรยาย

นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ก้าวที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” จัดโดยเครือมติชน ที่โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า วันนี้มีเทรนด์ต่างๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1.เราอยู่ในโลกที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม เวลาเปิดตัวสินค้าในแต่ละประเทศในโลกง่ายมาก จะเกิดพร้อมๆกัน 2. เราอยู่ในโลกที่เร็วกว่าเดิม หากทำวิธีเดิมๆ ขนส่งสินค้าเดิมๆ การแข่งขันระยะยาวจะยาก เดี๋ยวนี้เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก 3.เราอยู่ในโลกที่ถูกกว่าเดิม แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โจทย์ไทยแลนด์ 4.0 วันนี้ คือ เราจะทำได้ดีแค่ไหนในภาพรวมของระบบ

เมื่อ 20ปีก่อน เศรษฐกิจไทยโต 7-8% ในปีที่ผ่านมาโต 3.2% ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟุบลง วันนี้จึงต้องการตัวผลักดันสำคัญ คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ โดยวันนี้มีสตาร์ทอัพรวมทั่วโลกที่มีเงินทุน 1 พันล้านเหรียญ และมีสตาร์ทอัพที่โดดเด่น 229 ราย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากรายเล็กๆ ส่งนี้ย้ำเตือนว่าเรากำลังแข่งกับโลกที่หมนุเร็ว มีผู้เล่นใหม่ๆ ไม่จำกัดรุ่นเกิดขึ้นมา
อะไรคือไทยแลนด์ 4.0 มองว่าไม่ได้เป็นลำดับว่าจาก 1 ไป 2 ไป 3 ไป 4 ขณะเดียวกัน 4.0 เองต้องลงมาเปลี่ยน 1.0 ด้วยการพัฒนาคน ให้มีความรู้เป็นของตัวเอง เราต้องหากลุ่มนักรบหนุ่มสาวเข้ามาทำตรงนี้ ขณะเดียวกันยุค 4.0 เอง เมื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความง่าย สร้างการกระจายรายได้แล้ว ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

“ยุค 4.0 แปลง่ายๆ คือ เปลี่ยนจากทำมากได้น้อย มาให้เป็นทำน้อยได้มาก ด้วยการสร้างความได้เปรียบสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งโจทย์ว่าสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเอกลักณ์หรือไม่ ดูความต้องการตลาด แล้วให้สตาร์ทอัพนำข้อมูลเหล่านี้มาเติมเต็มธุรกิจที่มีอยู่ บนฐานของต้นทุน เช่น ทรัพยากร วัฒนธรรมที่โดดเด่น ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพสูง นำสู่ต้นทุนต่ำ และแข่งขันได้ สิ่งสำคัญคือวันนี้รากฐานเราคือธุรกิจการเกษตร ที่จะสร้างการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์”นายธีระพลกล่าว

นายธีระพล กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับสตาร์ตอัพ จะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อาทิ การมีพื้นที่โคเวิร์คกิ้งสเปซ ดังนั้นสตาร์ตอัพแต่ละรายจะเป็นเลโก้หรือตัวต่อที่สำคัญในระบบนิเวศ โดยในส่วนที่สตาร์ตอัพจะต้องปรับปรุงคือ จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคมหาวิทยาลัย และการพัฒนานวัตกรรม โดยอาจจะดึงบุคลากรมาจากต่างประเทศ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และขณะนี้ทรูอยู่ระหว่างการก่อสร้าง True digital park เพื่อเป็นฮับด้านวิจัยและพัฒนา ในเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าอีกประมาณ 2 ปี การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ

“หากวันนี้คิดว่าจะสร้างทุกอย่างศูนย์ไม่ทันแน่นอน ควรจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ใช้ภาษีและสิทธิประโยชน์ให้คนเก่งมาถ่ายทอด และมองตลาดทั่วโลก ไม่ใช่แค่การแข่งขันกับประเทศอื่นๆ แต่มองว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการ Open Innovation เพื่อสร้างไทยแลนด์ 4.0 ให้เกิดขึ้น”

///

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image