สุจิตต์ วงษ์เทศ : ควนลูกปัด อ. คลองท่อม จ. กระบี่ คือเมืองตักโกลา “สถานีการค้ายุคแรกเริ่ม” เมื่อหลายพันปีมาแล้ว

คลองท่อม ไหลผ่านเนินดินควนลูกปัด อ. คลองท่อม จ. กระบี่ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

กระบี่ เหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

ควนลูกปัด อ. คลองท่อม จ. กระบี่ และบริเวณต่อเนื่องโดยรอบ คือเมืองตักโกลา “สถานีการค้ายุคเริ่มแรก” เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ไม่ใช่ตามที่เคยเชื่อว่าอยู่ที่ตะกั่วป่า             จ. พังงา

อ. ศรีศักร วัลลิโภดม เขียนบทความวิชาการบอกไว้นานมากแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 และเขียนต่อมาอีกหลายครั้ง มีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ อู่อารยธรรมแหลมทอง คาบสมุทรไทย (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546) จะคัดโดยสรุปมาดังนี้

เหรียญสำริดรูปเรือ พบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม เป็นของชาวอินเดียใต้ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-6 เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับชาวอินเดียใต้ รูปเรือแบบนี้เคยพบที่ดวงตรา ที่พบที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
เหรียญสำริดรูปเรือ พบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม เป็นของชาวอินเดียใต้ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-6 เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับชาวอินเดียใต้ รูปเรือแบบนี้เคยพบที่ดวงตรา ที่พบที่เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี
แผ่นหินคาร์นีเลียนแกะสลักเป็นรูปผู้หญิง ศิลปะแบบโรมัน พบที่บริเวณเมืองท่าโบราณ อ. คลองท่อม จ. กระบี่ (ภาพจากศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ)
แผ่นหินคาร์นีเลียนแกะสลักเป็นรูปผู้หญิง ศิลปะแบบโรมัน พบที่บริเวณเมืองท่าโบราณ อ. คลองท่อม จ. กระบี่ (ภาพจากศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณ)

ตักโกลา อยู่คลองท่อม

Advertisement

“เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ใช้ในการขนถ่ายสินค้าจากเมืองตักโกลาทางฝั่งทะเลด้านตะวันตก มายังเมืองท่าทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกนั้น คือการเดินทางจากเมืองท่าแห่งใดแห่งหนึ่งในเขต จ. กระบี่ ทางฝั่งทะเลด้านตะวันตก ผ่านมายังเมืองเวียงสระ แล้วเดินทางต่อไปตามลำน้ำตาปีขึ้นไปยังพุนพินและไชยา หรือไม่ก็แยกจากเวียงสระตัดข้ามช่องเขาในเขต อ. ทุ่งสง ลงมายังเมืองนครศรีธรรมราช

ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า เมืองตักโกลาจะอยู่ที่ อ. ตะกั่วป่า ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งจอดเรือพักสินค้าแห่งหนึ่ง

เมืองตักโกลาอาจจะอยู่ใกล้กับลำน้ำที่ไหลออกทะเลในเขตอ่าว จ. กระบี่ ในแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือบางทีอาจจะเป็นแถวๆ คลองท่อม ในเขต อ. คลองท่อม ก็เป็นได้ เพราะบริเวณนี้พบโบราณวัตถุมากมายหลายยุคหลายสมัย”

Advertisement

คลองท่อม มีควนลูกปัด อ. ศรีศักร เขียนพรรณนาหลักฐานไว้ด้วย ดังต่อไปนี้

ควนลูกปัด

ควนลูกปัดอยุ่หลังวัดคลองท่อม อ. คลองท่อม จ. กระบี่ เป็นบริเวณชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ติดกับลำน้ำคลองท่อม ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านไปออกปากน้ำทางทิศตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างจากควนลูกปัดเพียง 6 กิโลเมตร

แผนที่สังเขปแสดงพื้นที่ อ. คลองท่อม จ. กระบี่ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)
แผนที่สังเขปแสดงพื้นที่ อ. คลองท่อม จ. กระบี่ (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 2 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

ที่ควนลูกปัด มีเนินและคันดินซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นลักษณะชุมชนแต่เดิมในระยะรัศมี 500 เมตร ตั้งแต่ริมฝั่งลำน้ำคลองท่อมไปทางตะวันออก จากริมฝั่งน้ำในบริเวณนี้มีร่องคูน้ำสั้นๆ แยกออกจากลำน้ำ 4 แห่ง มีลักษณะเป็นที่จอดเรือ

โบราณวัตถุสำคัญที่พบในบริเวณควนลูกปัดซึ่งขณะนี้เจ้าอาวาสวัดคลองท่อมเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด มีดังนี้

  1. ลูกปัด ทำด้วยหินและแก้วสี มีพบทั่วไปเป็นจำนวนมากในบริเวณโคกเนินที่อยู่ริมลำน้ำคลองท่อม ลูกปัดหินมีขนาดใหญ่รูปกลมทำด้วยหินสีเหลืองปนขาว ส่วนที่ทำด้วยแก้วนั้นส่วนมากเป็นสีเขียวและสีน้ำเงิน ขณะที่พบลูกปัดพบเศษก้อนแก้วทั้งสองสีที่ใช้ทำลูกปัด รวมทั้งเศษโกเมนและขี้แร่ที่ใช้ในการทุบแก้วและถลุงแร่ปะปนอยู่ด้วย การพบลูกปัดเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณโบราณสถานนี้ว่า ควนลูกปัด
  2. เบ้าดินเผา พบในลำน้ำคลองท่อมหน้าควนลูกปัด เป็นเบ้าที่มีทรายผสมมากเป็นพิเศษ (เพื่อต้องการให้มีความร้อนสูง) เบ้านี้จะใช้หลอมโลหะดีบุกหรือหุงแก้วยังไม่ทราบชัด เพราะปรากฏพบแท่งและเศษดีบุกปะปนอยู่กับเศษแก้ว
  3. เครื่องประดับ ทำด้วยดีบุก สำริด และทองคำ มีกำไล ตุ้มหู และแหวน เป็นส่วนมาก ลวดลายและลักษณะของศิลปกรรมของเครื่องประดับเหล่านี้ส่วนมากเป็นแบบศิลปะอินเดียใต้ ตุ้มหูบางอย่างเป็นแบบฟูนันและทวารวดี ซึ่งพบในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
  4. เหรียญโลหะ ส่วนมากทำด้วยดีบุก มีตรารูปสัตว์และเรือสำเภา คล้ายกับตราแบบฟูนันและทวารวดี
  5. ซากเรือเก่าทำด้วยไม้ ขนาดปากเรือประมาณ 3 เมตร จมอยู่ในลำน้ำคลองท่อมหน้าควนลูกปัด จะแลเห็นได้ในเวลาน้ำลง

เมื่อพิจารณาโบราณวัตถุที่พบและตำแหน่งที่ตั้งของควนลูกปัดซึ่งอยู่ริมลำน้ำและใกล้กับอ่าวไทยแล้ว ข้าพเจ้าใคร่เสนอว่าควนลูกปัดเป็นเมืองท่าโบราณแห่งหนึ่งในภาคใต้ และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการทำดีบุก ทำแก้ว ตลอดจนเครื่องประดับแห่งแรกที่พบในภาคใต้ของประเทศไทย

ขณะนี้เศษแก้วสีน้ำเงินและสีเขียวที่พบเป็นจำนวนมาก ณ ที่นี้ เป็นแก้วลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ทำลูกปัดแบบบ้านเชียง แบบทวารวดี และแบบลพบุรี แก้วเหล่านี้คงได้รับถ่ายทอดมาจากประเทศในภาคตะวันออกกลางของเอเชีย โดยผ่านอินเดียเข้ามา ตรารูปสัตว์และเรือสำเภาบนเหรียญโลหะที่ควนลูกปัดซึ่งมีลักษณะเก่าแก่คล้ายแบบที่พบในวัฒนธรรมแบบฟูนันและทวารวดีนั้น เป็นหลักฐานที่ดีในการศึกษาหาอายุความเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ ว่าจะมีความสัมพันธ์กันกับเมืองท่าตักโกลาในสมัยสุวรรณภูมิ อันมีกล่าวถึงในคัมภีร์ของอินเดียโบราณและจดหมายเหตุของชาวกรีกและโรมันโบราณหรือไม่

ความเชื่อในเรื่องที่ว่าเมืองตักโกลาก็คือตะกั่วป่า และเส้นทางค้าขายโบราณจากตะกั่วป่าไปสุราษฎร์ธานีนั้น ควรได้รับการสอบสวนใหม่ เพราะทั้งหลักฐานในทางอายุของโบราณวัตถุ ตลอดจนความเป็นไปได้ในทางภูมิศาสตร์ของตะกั่วป่าไม่มีเพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานที่พบที่ควนลูกปัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image