นาซาเริ่มทดลอง หาทางทำ “สเปซฟาร์ม” เพื่อการยังชีพนอกโลก

NASA

ปัญหาเรื่องอาหารของนักบินอวกาศ เป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกาครุ่นคิดอย่างหนักมาตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มโครงการสำรวจอวกาศในอดีต นักบินอวกาศอเมริกันในยุคของ จอห์น เกล็น นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกา ต้องอาศัยเนื้อที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ปลอดเชื้อทุกชนิดกับผักบดละเอียด

นักบินอวกาศในยุคใหม่อาศัยอาหารที่ผ่านกระบวนการอบแห้งด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ฟรีซ ดรายŽ เป็นหลัก แต่นั่นก็ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาแบบถาวรซึ่งทำให้นาซาหันมาหาแนวทางใหม่ นั่นคือการหาหนทางให้นักบินอวกาศเพาะปลูกอาหารกินเองในอวกาศ

หัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบในโครงการดังกล่าวคือ ไบรอัน โอเนท วิศวกรประจำศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งเคยเป็นผู้นำทีมสร้าง เวจจีŽ ระบบเพาะปลูกพืชรุ่นแรกของนาซา ที่ช่วยให้นักบินอวกาศปลูกผักบนอวกาศได้สำเร็จมาแล้ว และในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ โอเนทเตรียมส่งระบบเพาะปลูกพืชรุ่นที่ 2 ที่พัฒนาเพิ่มเติมจากเวจจีและให้ชื่อว่า แอดวานซ์ แพลนท์ ฮาบิแททŽ หรือ เอพีเอชŽ ขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) และจะเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การทำฟาร์มเกษตรกรรมในอวกาศ เพื่อการยังชีพของมนุษย์นอกโลกในที่สุด

เอพีเอชŽ เป็นระบบเพาะปลูกสำเร็จรูป เหมือนกล่องโลหะขนาดเท่ากับตู้เย็นขนาดเล็ก ภายในติดตั้งเซนเซอร์มากกว่า 180 ตัว กับกล้องอีก 3 ตัว เพื่อทำหน้าที่เก็บบันทึกรายละเอียดของการเติบโตทุกๆ ระยะของต้นไม้ที่ปลูกไว้ภายในระบบที่จะนำไปติดตั้งไว้บนไอเอสเอสอย่างละเอียด เซนเซอร์ต่างๆ จะทำหน้าที่ตรวจบันทึกทั้งอุณหภูมิ, ความชื้น, ระดับออกซิเจน ภายในระบบตลอดเวลา ส่วนกล้อง ซึ่งหนึ่งตัวในจำนวนทั้งหมดเป็นกล้องอินฟาเรด จะทำหน้าที่เก็บบันทึกภาพที่เกิดขึ้นภายในเอพีเอชทั้งหมด ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จะถูกส่งไปประมวลผลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่นาซาตั้งชื่อไว้ว่า ฟาร์เมอร์Ž (PHARMER-Plant Habitat Avionics Real-Time Manager in Express Rack) เก็บบันทึกไว้เพื่อให้นักวิจัยทางภาคพื้นดินได้ข้อมูลที่ไม่เคยได้รับมาก่อนว่า พืชชนิดต่างๆ เติบโตอย่างไรเมื่ออยู่ในสภาวะแทบไร้น้ำหนักเหมือนในอวกาศ

Advertisement

ระบบเอพีเอช เป็นระบบอิสระที่แทบไม่จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์อวกาศเข้าไปยุ่งเกี่ยว ยกเว้นตอนติดตั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งอาหารไปยังสถานีอวกาศนานาชาติลงได้มาก ทั้งนี้ ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสิ่งของทั้งอาหารและสัมภาระขึ้นสู่ไอเอสเอสนั้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ดอลลาร์ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ ซึ่งหมาย ความว่า ขนมปัง 1 แถวที่ราคาบนโลกตกราว 3.35 ดอลลาร์ (ราว 117 บาทในสหรัฐอเมริกา) จะกลายเป็นขนมปังราคาแพงมหาศาลถึง 8,750 ดอลลาร์ (กว่า 300,000 บาท) แถมยังคงสภาพอยู่ได้ไม่นานอีกด้วย

”ถ้าผมพกมะเขือเทศเชอร์รีขึ้นไปถุงนึง มะเขือเทศของผมจะอยู่ได้ราวสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ แต่ถ้าผมเลือกเอาเมล็ดพันธุ์ไปแทน ผมสามารถปลูกมันได้ มีมะเขือเทศกินได้ตลอดŽ” โอเนทระบุ

Advertisement

ไบรอัน โอเนท เปิดเผยว่า นวัตกรรมใหม่จริงๆ ในเอพีเอช ก็คือระบบแสง แสงแดดปกติบนโลกจะมีความเข้มอยู่ที่ราว 2,000 ไมโครโมล ในเอพีเอชของนาซาจะปล่อยแสงสว่างที่มีความเข้มออกมาที่ 1,000 ไมโครโมล หรือราวครึ่งหนึ่งของความเข้มของแสงแดดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ไม่มีให้ในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือในที่อื่นใดในอวกาศที่มืดมิดอยู่ตลอดเวลา

ทีมวิจัยของนาซายังคาดหวังจะใช้เอพีเอชเป็นเครื่องทดสอบแสงในแถบสีต่างๆ ทั้งแดง, เขียว, น้ำเงิน และขาว ในระดับความเข้มข้นแตกต่างกันออกไปว่า จะมีผลต่อการเติบโตของพืชแตกต่างกันหรือไม่และอย่างไร โดยหวังว่าจะค้นพบแถบสีของแสงและระดับความเข้มของแสงที่กระตุ้นให้พืชเจริญเติบโตได้ดีที่สุดได้

ไบรอัน โอเนท เชื่อว่า เอพีเอชจะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอวกาศ หรือบนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ อย่างเช่นบนดาวอังคารในอนาคต

วันหนึ่งข้างหน้า ก้าวเล็กๆ ก้าวนี้อาจนำนาซาไปสู่องค์ความรู้ในการทำเกษตรกรรมในอวกาศ หรือบนดาวเคราะห์นอกโลกได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image