‘วิษณุ’แจง’ม.44’คุมพื้นที่อื่นได้ ไม่เฉพาะ’วัดพระธรรมกาย’ ใช้ออกแทน’พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-กฎอัยการศึก’

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่บุคคลที่อยู่ในพื้นที่วัดพระธรรมกายไม่ปฏิบัติตามประกาศมาตรา 44 เรื่อง มาตรการควบคุมพื้นที่เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องถูกดำเนินการอย่างไรว่า การไม่ปฏิบัติตามประกาศนั้นก็มีความผิดอยู่แล้ว และยังผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)อื่นๆ อีกด้วย ต้องดำเนินการตามนั้นซึ่งในคำสั่งนั้นระบุโทษอยู่ว่าหากฝ่าฝืนจะโดนอะไรแต่ถือเป็นโทษเบา ปรับไม่เท่าไหร่ อย่างไรก็ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับดังกล่าวไม่ได้ออกมาเพื่อกรณีวัดพระธรรมกายเพียงอย่างเดียว โดยจะเห็นว่าตั้งแต่บรรทัดแรกจนเกือบบรรทัดสุดท้ายไม่ได้เอ่ยถึงวัดพระธรรมกายเลย เพราะฉะนั้นที่บอกว่าให้ยกเลิก ในความเป็นจริงไปใช้กับวัดอื่นก็ได้ ใช้กับการก่อปัญหาที่อื่นก็ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปประกาศกฎอัยการศึก เพราะเป็นมาตรการที่เบาที่สุดเท่าที่จะเบาได้ในภาวะปกติ แต่ในบทเฉพาะกาลท้ายของคำสั่งนั้นเขียนไว้ว่า คำสั่งนี้ให้เริ่มใช้กรณีแรกคือกรณีวัดพระธรรมกาย และพื้นที่คลอง 2 คลอง 3 คลอง 4 หมู่ 7 หมู่ 8 ตามที่ระบุไว้เท่านั้น แต่อันอื่นยังไม่เกี่วกัน จะใช้กับอันอื่นก็ต่อเมื่อจนกว่าจะมีคำสั่งดีเอสไอ หรือคำสั่งรมว.ยุติธรรมอีกครั้งให้เป็นพื้นที่ควบคุม ขณะนี้ไม่มีการสั่งให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ควบคุม นอกจากพื้นที่ตามบทเฉพาะกาลในคำสั่งซึ่งระบุแล้วว่าคือบริเวณรอบวัดพระธรรมกาย

เมื่อถามว่าสำหรับการตรวจสอบทรัพย์สินอื่นในพื้นที่ควบคุมดำเนินการอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ใช้กฎหมายอื่นตามปกติ อาทิ กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ซึ่งได้ใช้แล้วตั้งแต่เรื่องสหกรณ์มาแล้ว เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบความถูกต้องของที่มาและมูลค่าทรัพย์สินของวัดธรรมกายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาดำเนินการก็แล้วกัน

เมื่อถามว่าพ.ร.บ.สงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทรัพย์สินหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่พูดเรื่องนี้ แต่ถ้าว่าไปแล้ววัดนั้นเป็นเหมือนองค์กรเอกชน เป็นศาสนสถาน จะรัฐก็ไม่ใช่ เอกชนก็ไม่เชิง เทียบแล้วก็ไม่ใช่รัฐร้อยเปอร์เซ็นต์เขามีกฎระเบียบ และถือว่าถวายให้อยู่ในความดูแลของมหาเถรสมาคม แต่รัฐมีหน้าที่ดูแลด้วย ภาษาพระเรียกว่า วัดมีหน้าที่ต้องถวายอารักขา คำนี้สมเด็จพระสังฆราช เคยทรงใช้ว่าบางอย่างคณะสงฆ์จัดการกันเองไม่ได้บ้านเมืองก็ต้องเข้ามาช่วยอารักขา เข้ามาคุ้มกัน คุ้มครอง จัดระเบียบ เมื่อถามว่าหมายความว่าถ้าเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทองก็ต้องใช้กฎหมายทั่วไปเข้ามาตรวจสอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ามีก็มี ถ้าไม่มีก็ไม่มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image