สุจิตต์ วงษ์เทศ : พังงา-กระบี่ “สถานีการค้ายุคแรกเริ่ม” การค้าข้ามคาบสมุทร ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

แผนที่แสดงบริเวณสุวรรณภูมิ บนภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ เส้นประทางซ้าย แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลจากตะวันตกไปตะวันออก เส้นประทางขวา แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลเลียบชายฝั่งจากตะวันออกไปตะวันตก ทั้งสองเส้นทางต้องพักแวะขนสินค้าข้ามคาบสมุทรบริเวณที่เป็นประเทศไทย จึงสร้างความมั่งคั่งมั่นคงต่อเนื่องยาวนาน แล้วส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์และสังคมวัฒนธรรมในไทยและสุวรรณภูมิ

จ. กระบี่ อยู่อ่าวพังงา-กระบี่ บริเวณ “สถานีการค้ายุคแรกเริ่ม” แห่งหนึ่งของสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ขนถ่ายสินค้าจากฝั่งทะเลอันดามัน ผ่านช่องเขาไปฝั่งทะเลจีนตอนใต้ เพื่อส่งต่อไปค้าขายแลกแปลี่ยนกับจีน

ทำให้ชายฝั่งอ่าวไทยทะเลจีนตอนใต้ มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐใหญ่ เช่น รัฐนครศรีธรรมราช, รัฐปัตตานี ฯลฯ นี่เป็นตัวอย่างสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ที่ไม่มีในประวัติศาสตร์แห่งชาติ

ดังนั้น จำเป็นต้องปกปักรักษาสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมของกระบี่, ตรัง, พังงา รวมถึงภูเก็ตและสตูล อย่างสำคัญยิ่งยวด

สุวรรณภูมิในอดีต รุ่งเรืองขึ้นจากการค้า

Advertisement

สุวรรณภูมิรุ่งเรืองขึ้นจากการค้า ราว 2,500 ปีมาแล้ว ทั้งการค้าโลกและการค้าภายใน เพราะมีสิ่งสำคัญอำนวยการค้า ได้แก่ อยู่กึ่งกลางเส้นทางคมนาคมในอุษาคเนย์ และมีทรัพยากรคับคั่งหลายอย่าง

การค้าทำให้สุวรรณภูมิเจริญรุ่งเรืองและเติบโตก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะมีความเคลื่อนไหวไปมาหาสู่ของผู้คนหลากหลาย แล้วประสมประสานทั้งทางเผ่าพันธุ์กับทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างพื้นเมืองดั้งเดิมกับที่มาจากภายนอก (ตะวันตก-ตะวันออก)

คนพื้นเมืองดั้งเดิมกับคนนานาชาติพันธุ์จากทุกทิศทาง ผสมกลมกลืนเป็นคนกลุ่มใหม่ แล้วสมมุติชื่อเรียกตัวเองต่างๆ กัน เช่น มอญ, เขมร, ชวา, มลายู, ลาว, ไทย ฯลฯ

วัฒนธรรมพื้นเมืองดั้งเดิม กับวัฒนธรรมจากที่อื่นซึ่งก้าวหน้ากว่า ผสมกลมกลืนเป็นวัฒนธรรมใหม่ เช่น วัฒนธรรมไทย มีหลายด้าน ได้แก่ ศาสนา, ภาษา, อักษร, เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ, อาหารการกิน ฯลฯ

 

กึ่งกลางเส้นทางการค้า

บริเวณสุวรรณภูมิอยู่ราวกึ่งกลางอุษาคเนย์ ซึ่งมีดินแดนคาบสมุทรยื่นยาวลงไปทางทิศใต้ ระหว่างมหาสมุทรอินเดีย (ทางทิศตะวันตก) กับมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางทิศตะวันออก)

ทำให้สุวรรณภูมิเสมือนสะพานแผ่นดิน เชื่อมเข้าด้วยกันระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

ตะวันตก-ตะวันออก หมายถึง การค้าทางทะเลกับบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกล โดยมีสุวรรณภูมิเป็นสะพานแผ่นดินเชื่อมโยงให้พบปะกัน

ตะวันตก หมายถึง อินเดีย, เปอร์เซีย (อิหร่าน), อาหรับ (อิรัก) ฯลฯ

ตะวันออก หมายถึง จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ฯลฯ

การค้าทางทะเลยุคแรกเริ่มมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เทคโนโลยีไม่แข็งแรง ต้องแล่นเรือเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอล ตั้งแต่อินเดีย, บังกลาเทศ, พม่า, ไทย, มาเลเซีย แต่ไม่ผ่านช่องแคบมะละกา เพราะคลื่นลมรุนแรงทำเรือล่มแตก รวมทั้งมีโจรสลัดชุกชุม

สุวรรณภูมิจึงเป็นดินแดนกลาง คล้ายสะพานแผ่นดินให้ขนสิ่งของสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน

จากอินเดีย ขนลงเรือเลียบชายฝั่งไปทางตะวันออก ท่าเรือต่างๆ ทางอ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน เช่น ทวาย, มะริด, กระ, พังงา, ถลาง, ตรัง, กระบี่, ไทรบุรี ฯลฯ จากนั้นขนสินค้าขึ้นบกข้ามไปฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ลงเรือไปจีน ฯลฯ

จากจีน ขนลงเรือแล่นเลียบชายฝั่ง ตั้งแต่มณฑลฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง ฯลฯ ผ่านปากน้ำโขงทางเวียดนามและกัมพูชา เข้าอ่าวไทย

ระยะแรกจีนไม่ออกค้าขายทางทะเล แต่อนุญาตให้คนกลาง เช่น ศรีวิชัย ขนสินค้าจากจีนไปแลกเปลี่ยนกับอินเดียที่สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

ระยะหลังจีนต่อสำเภาใหญ่ค้าขายด้วยตนเอง โดยขนสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับนานาชาติที่สุวรรณภูมิ (เป็นเหตุหนึ่งให้รัฐอยุธยายุคต่อไปเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ)

 

ทรัพยากรธรรมชาติ

แร่ธาตุและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นทรัพยากรธรรมชาติมีคับคั่งในสุวรรณภูมิ ซึ่งเอื้อต่อการค้า

แร่ธาตุ ได้แก่ ทองคำ, ทองแดง, เกลือ ฯลฯ มีมากทางลุ่มน้ำโขง

ความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย สัตว์, พืช ฯลฯ มีทั่วไปทั้งแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีป

การค้าโลก หมายถึง การค้าทางทะเลกับบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกล ทั้งตะวันตกและตะวันออก (ในที่นี้หมายถึง อินเดียและจีน) ไปแลกเปลี่ยนค้าขายกันบริเวณสุวรรณภูมิ

การค้าภายใน หมายถึง การค้าทางบกและแม่น้ำลำคลอง ภายในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่มีแม่น้ำเป็นแกนหลักอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำโขง กับแม่น้ำสาละวิน โดยค้าขายถึงหมู่เกาะในอุษาคเนย์

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image