ยานจูโนเครื่องยนต์ขัดข้อง หมดโอกาสขยับเข้าใกล้ ดาวพฤหัสบดี

ยานจูโน จาก NASA/JPL-Caltech

รายงานข่าว จาก universetoday.com โดย JUNO WILL GET NO CLOSER TO JUPITER DUE TO ENGINE TROUBLES ระบุว่า ยานจูโน ยานสำรวจดาวพฤหัสบดีขององค์การนาซา ได้เดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปีที่แล้ว นับเป็นยานลำที่สองที่เคยเดินทางไปโคจรรอบดาวพฤหัสบดีได้สำเร็จถัดจากยานกาลิเลโอ เมื่อไปถึงดาวพฤหัสบดี ยานได้ปรับทิศทางเพื่อเข้าโคจรรอบดาวพฤหัสบดีโดยโคจรตามแนวขั้ว วงโคจรเริ่มต้นของจูโนมีคาบ 53.4 วัน มีความรีมาก

ตามแผนที่วางไว้ ระหว่างการเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีรอบที่สอง ซึ่งตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม ยานจะจุดจรวดหลักเพื่อปรับวงโคจรให้แคบลงเพื่อเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากขึ้นและมีคาบสั้นลงเหลือรอบละ 14 วัน แต่ในครั้งนั้นได้เกิดปัญหาบางอย่างทำให้การปรับวงโคจรจึงล้มเหลว

ยานจูโนเริ่มแสดงอาการไม่ปกติก่อนหน้าวันที่จุดจรวดตามกำหนดไม่กี่สัปดาห์ โดยยานได้รายงานว่าวาล์วตรวจสอบฮีเลียมใช้เวลาในการเปิดนานหลายนาทีแทนที่จะเป็นเพียงไม่กี่วินาที หัวหน้าผู้ควบคุมภารกิจจึงตัดสินใจที่จะเลื่อนการจุดจรวดไปก่อนเพราะต้องการสืบให้แน่ชัดเสียก่อนว่าปัญหาเกิดจากอะไร และเพื่อหาหนทางแก้ไข

Advertisement

แต่หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แล้ว วิศวกรของภารกิจพบว่าหากมีการจุดจรวดขึ้น จะกลับทำให้วงโคจรของยานกว้างขึ้น จึงตัดสินใจว่าจะไม่จุดจรวดอีก ปล่อยให้จูโนโคจรรอบดาวพฤหัสบดีในรูปแบบเดิมต่อไป นั่นหมายความว่าจูโนจะไม่มีโอกาสเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากไปกว่านี้ ซึ่งทำได้ใกล้ที่สุด 4,100 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ถึงกับจะเรียกว่าภารกิจจูโนล้มเหลว จนถึงปัจจุบันยานได้โคจรรอบดาวพฤหัสบดีมาแล้วสี่รอบ แต่ละรอบเก็บข้อมูลด้านบรรยากาศ โครงสร้างภายใน และสนามแม่เหล็กได้มากมาย อีกทางหนึ่ง การที่ยานต้องโคจรด้วยคาบที่ยาวกว่าที่วางแผนไว้ ก็ทำให้ยานได้ข้อมูลจากการโคจรแต่ละรอบมากกว่าเดิมด้วย

หากไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นอีก ยานจูโนจะปฏิบัติภารกิจไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 รวมการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีทั้งสิ้น 12 รอบ

Advertisement

media-1064-58ac0eeb13adc

ขั้วใต้ของดาวพฤหัสบดี ถ่ายโดยกล้องจูโนแคมบนยานจูโนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 จากระยะห่าง 101,000 กิโลเตรเหนือยอดเมฆ
(จาก NASA/JPL-Caltech/SwRI/MSSS/John Landino)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image