ศาลปค.ยกฟ้องชาวบ้านเขาไม้เเก้ว ขอถอนใบอนุญาต”รง.ผลิตไฟฟ้า”ชี้ออกใบอนุญาตถูกต้อง

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายอำพัน ซิมโมกย์ กับพวก รวม 833 คน ชาวบ้านต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นในนามชมรมรักษ์เขาไม้แก้ว ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว นายฉกัน ลีอุต บริษัท เค เอส มาร์เก็ตติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-7 กรณีขอเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ (สรข. 5)02-58/2556 ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-88-43/56 ปจ.ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ที่อนุญาตให้บริษัท เค เอส มาร์เก็ตติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงชีวมวลกำลังการผลิต 9.9 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่เลขที่ 19 หมู่ 3 ต.เขาไม้แก้ว และขอให้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งบริษัทฯดำเนินการปรับปรุงสถานที่ก่อสร้าง ให้คืนสู่สภาพเดิม ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากสถานที่ก่อสร้างให้เสร็จสิ้น

โดยศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงชีวมวล ไม่ใช่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553

จึงไม่จำต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 40 และเมื่อพิจารณาการออกใบอนุญาตฯพบว่า ก่อนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัทเคเอส มาร์เก็ตติ้งฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีกระบวนการประชาคมหมู่บ้านเปิดโอกาสให้ประชาชน ต.เขาไม้แก้ว รับทราบข้อมูล คำชี้แจง เหตุผล แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา

กรณีจึงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตซึ่งมีฐานะเป็นส่วนราชการ ว่ามีการดำเนินการจัดให้มีการประชาสัมพันธ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามสมควรแก่กรณีแล้ว

Advertisement

ส่วนที่อ้างว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทเคเอส มาร์เก็ตติ้งฯ ใช้เหง้ามันสำปะหลังในกระบวนการผลิตย่อมก่อให้เกิดขี้เถ้า ฝุ่นละออง อาจเกิดผลกระทบต่อน้ำในคลองเขาไม้แก้วเเละ เสี่ยงกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิตนั้นเห็นว่า

แม้โครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและควาามปลอดภัย(ESA)ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทเคเอส มาร์เก็ตติ้ง ได้จัดทำรายงานESA เสนอต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มีการกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะก่อสร้างและดำเนินการ และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดเงื่อนไขประกอบการอนุญาตให้โครงการซึ่งเป็นมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อกังวลที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้น เพราะปัจจุบันยังไม่ได้เปิดทำการโรงไฟฟ้า กรณีจึงยังไม่ใช่เหตุที่ทำให้การออกใบอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากในอนาคตเปิดทำการโรงไฟฟ้าแล้วก่อให้เกิดผลกระทบชุมชนนายอำพันและพวก สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ จึงเห็นว่าการออกใบอนุญาตให้บริษัทเคเอส มาร์เก็ตติ้งฯประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษา ศาลปกครองในวันนี้เป็นเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image