สธ.ปรับแพทย์ฉุกเฉิน ให้บุคลากรฝึกซีพีอาร์ “สปสช.”จี้รพ.เอกชน ตั้งเบิกค่ารักษาผู้ป่วย


เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้ทางสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ดำเนินการตั้งทีมสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อสงสัยระบบการช่วยชีวิตของแพทย์ฉุกเฉิน 1669 จากกรณีการเสียชีวิตของ “โก๋” นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อายุ 58 ปี อดีตกองหลังฟุตบอลทีมชาติไทย ที่เสียชีวิตหลังวูบหมดสติบริเวณสนามฟุตบอล สธ. เนื่องจากเกิดคำถามว่าสายด่วน 1669 ได้รับแจ้งเหตุช้า หรือขั้นตอนต่างๆ ทำให้รถฉุกเฉินมาช้าเกินไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่ รพ.ใกล้ที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข คือ สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า เวลาแจ้งเหตุของเพื่อนๆ ผู้เสียชีวิต คือ เวลา 17.18 น. (เดิมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งเวลาจากศูนย์ รพ.พระนั่งเกล้า 17.23 น.) โดยทางศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน รพ.พระนั่งเกล้ารับเรื่องและโทรออกไปยังสถาบันบำราศนราดูรเวลา 17.23 น. จากนั้นสถาบันบำราศฯได้ส่งรถฉุกเฉินออกเวลา 17.27 น. ซึ่งพอดีกับทางเพื่อนๆ นำผู้ป่วยมายังสถาบันบำราศฯ แต่สุดท้ายไม่สามารถยื้อชีวิตได้

ล่าสุด นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเวลารับแจ้งเหตุที่มีการรายงานไม่ตรงกันในช่วงแรก ว่า ช่วงแรกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ตรวจสอบไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 รพ.พระนั่งเกล้า และได้รับข้อมูลว่ามีผู้แจ้งเหตุเวลา 17.23 น. แต่เมื่อมีการตรวจสอบจากทางคู่สายโทรศัพท์ของผู้แจ้งเหตุ ปรากฏว่าเป็นเวลา 17.18 น. ซึ่งตรงนี้อาจเป็นที่ระบบหรือการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากทางศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 มีการซักถามอาการตามขั้นตอนต่างๆ และจึงประสานไปยัง รพ.ใกล้ที่เกิดเหตุเพื่อนำรถฉุกเฉินออกทันที ซึ่งจริงๆ เวลาในการเดินทางของทีมฉุกเฉินยังอยู่ในเกณฑ์ของทาง สพฉ.กำหนด ประมาณ 8-10 นาที

นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อมีข้อเสนอจากเพื่อนๆ และผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วยชีวิตอดีตกองหลังทีมชาติว่าพื้นที่ภายในกระทรวงสาธารณสุขควรมีการจัดการเฉพาะ เนื่องจากอย่างสนามกีฬา สนามฟุตบอล ช่วงเย็นๆ จะมีบุคคลภายนอกมาเล่นกีฬาจำนวนมาก หลายคนไม่ใช่บุคลากร หรือข้าราชการในกระทรวง ควรจัดระบบการช่วยเหลือฉุกเฉินใหม่ ตนได้สั่งการแล้วว่าจากนี้ไปพื้นที่ภายในกระทรวง โดยเฉพาะสนามฟุตบอล สนามกีฬาต้องมีป้ายบอกเบอร์ติดต่อของสถาบันบำราศนราดูร ขณะนี้ทางสถาบันบำราศฯกำลังพัฒนาศักยภาพรถฉุกเฉิน เครื่องมือต่างๆ เนื่องจากต้องเข้าใจว่าสถาบันบำราศฯเป็นเหมือนทั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เชื้อโรค เป็น รพ.ที่เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดต่างๆ ในเรื่องของระบบแพทย์ฉุกเฉินอาจยังไม่ครบถ้วน แต่จะพัฒนามากขึ้นเพื่อรองรับตรงนี้ เพื่อให้เป็นอีกช่องทาง แต่เบอร์ 1669 ก็ยังต้องมีด้วย เนื่องจากเป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีเครื่องมือครบถ้วนที่สุด

“นอกจากนี้ เราจะมีการฝึกอบรมบุคลากรภายในกระทรวงสาธารณสุขแต่ละกรม แต่ละส่วนของกรม และตามจุดที่มีโอกาสเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น โดยจะฝึกอบรมการทำซีพีอาร์ หรือการช่วยชีวิตเบื้องต้น อย่างการปั๊มหัวใจ รวมทั้งการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า หรือเครื่องเออีดี (Automated External Defibrillator : AED) โดยให้เริ่มดำเนินการภายในสัปดาห์หน้าทันที” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

Advertisement

นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ในฐานะผู้ที่ริเริ่มทำงานพัฒนาให้มีศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี และสามารถขยายผลต่อจนมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ กล่าวว่า ผู้รับผิดชอบระบบควรจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่และความพร้อมในการช่วยเหลือโดยหน่วยงานภายนอก จะสังเกตได้ว่าพื้นที่เสี่ยงของ

ผู้ป่วยฉุกเฉินคือสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สนามฟุตบอล หรือแม้แต่สถานที่ประชุมที่มีความเครียด เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ควรมีการประเมินความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมของระบบการช่วยเหลือใน 3 มิติคือ ความรวดเร็ว ความสามารถของผู้ช่วยเหลือและการเข้าถึงบริการ ตลอดจนการนำส่งไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม นอกจากนั้น ควรจัดให้มีการซ้อมระบบปฏิบัติการว่าสามารถปฏิบัติได้จริงและต่อเนื่อง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาด้านวัสดุอุปกรณ์ไปมาก แต่ขาดการตรวจสอบว่าสามารถใช้งานในเหตุการณ์จริงๆ ได้

นพ.สมชายกล่าวอีกว่า กรณีนี้เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวสารออกไป ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจในระบบฉุกเฉินทั้งหมด ซึ่ง สพฉ.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวควรออกมาสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ซึ่งวิธีแก้เดิมที่รายงานการเกิดเหตุต่างๆ ในพื้นที่ที่ผ่านการประเมินว่ามีความเสี่ยงทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทาง สพฉ.จะใช้คนภายในหน่วยงานเป็นผู้สำรวจ ซึ่งผลออกมาก็ดีทุกอย่าง ขัดกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดปัญหาบ่อยครั้ง ดังนั้น เพื่อให้เห็นข้อบกพร่องและวิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกที่ทำงานเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้นำก็มีส่วนสำคัญที่จะนำพาระบบไปในทางที่ดี ซึ่งทราบว่าขณะนี้จะมีผู้มารับตำแหน่งเลขาธิการ สพฉ.คนใหม่ ตนก็คาดหวังว่าจะนำพาระบบไปในทางที่ดีได้

Advertisement

วันเดียวกัน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการนำเสนอข่าวโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งตามนโยบายต้องให้บริการรักษาให้พ้นวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมงโดยไม่เก็บเงิน ว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 84 ปีรายดังกล่าวมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงทะเบียนที่โรงพยาบาลเพชรเวช ได้ประสบอุบัติเหตุหกล้มและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยและญาติเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท ทางญาติได้ประสานงานมายังสายด่วน สปสช. โทร 1330 เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่เบิกค่ารักษาพยาบาลจากโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

นพ.ประจักษวิชกล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ของโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นมีขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจจะประสบเหตุป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีโครงการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะแรก โดยโรงพยาบาลเอกชนที่ให้การรักษาดูแลผู้ป่วยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาลได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมโครงการก็เป็นไปตามความสมัครใจของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง

นพ.ประจักษวิชกล่าวว่า ในกรณีที่เป็นข่าวนี้โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ต้น แต่เมื่อ สปสช.ได้รับเรื่องจากผู้ป่วยและเห็นว่ามีความสำคัญจึงได้ส่งเรื่องให้คณะทำงานวินิจฉัยภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นแพทย์ด้านฉุกเฉิน รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี และ รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พิจารณาอาการก่อนว่าเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ หลังจากนั้นคณะทำงานจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งมีองค์ประกอบจาก 3 กองทุนสุขภาพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น เพื่อพิจารณาว่าสามารถใช้สิทธิตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้หรือไม่

“ในกรณีผู้ป่วยรายนี้ ทั้งคณะทำงานฯและคณะกรรมการฯมีความเห็นว่าเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินตามนโยบายและสามารถใช้สิทธิตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินของรัฐบาลได้ สปสช.จึงได้ส่งหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ เพื่อพิจารณาการเบิกค่าใช้จ่ายตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว” นพ.ประจักษวิชกล่าว

ด้าน น.ส.วิมลทิพย์ เจริญสุวรรณชื่น ญาติของผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านหัวหมาก กล่าวว่า สปสช.ช่วยเหลือดีมาตลอด และทราบว่าได้ทำเรื่องให้ รพ.เอกชนแห่งนั้นทำเรื่องเบิกเงินมาให้ทาง สปสช. แต่ก็ดูเหมือน รพ.เอกชนไม่ยอมดำเนินการ ตนคงทำได้แค่รอ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image