เปิดขั้นตอน ยึดทรัพย์’บุญทรง’ ยังอีกนาน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ (ภาพจากแฟ้ม)

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 56/2559 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐ และการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด และมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี ดำเนินการเรียกค่าเสียหายกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่ครอบคลุมถึงการเรียกค่าเสียหายคดีจำนำข้าวและระบายข้าวจีทูจีด้วย

ล่าสุด น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ส่งหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ เพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีการขายข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) กับประเทศจีน 4 สัญญา ปริมาณข้าว 6.2 ล้านตัน มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท กับนักการเมืองและอดีตข้าราชการรวม 6 คน ไปให้กรมบังคับคดีแล้ว พร้อมกันนั้นได้ส่งข้อมูลทรัพย์สินล็อตแรกของทั้ง 6 คนที่ได้จากการสืบทรัพย์ไปให้กรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์

โดยนักการเมืองและข้าราชการรวม 6 คน มี นายบุญทรง ต้องชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 1,770 ล้านบาท นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ส่วน พ.ต.ท.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ

อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ (ช่วยเกลี้ยง) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายอัฐฐิติพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ต้องชดใช้ค่าเสียหายคนละ 4,000 ล้านบาท

Advertisement

เมื่อกรมการค้าต่างประเทศชี้ทรัพย์สินมาให้กรมบังคับคดีแล้ว น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงกระบวนการในส่วนของการบังคับคดี มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนคดีนี้ตามคำสั่ง คสช. ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศเป็นโจทก์ ได้ส่งข้อมูลตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ และสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป จากนั้นกรมบังคับคดีจะประสานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดทรัพย์สินที่มีทะเบียนต่างๆ เช่น โฉนดที่ดินของกรมที่ดิน บัญชีธนาคารต่างๆ เพื่อแจ้งว่าทรัพย์ดังกล่าวได้อายัดแล้ว และดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป แต่หากทรัพย์มีมูลค่าไม่เพียงพอต่อมูลหนี้ ต้องถามไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อหาวิธีการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ น.ส.รื่นวดีระบุว่า การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 57 ที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เพื่อชำระมูลหนี้ให้ครบถ้วน โดยอนุโลมให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ร่วมดำเนินการได้

สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่กรมบังคับคดีใช้ในการบังคับคดี ปกตินั้นจะเริ่มต้นด้วยกระบวนการบังคับคดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาและได้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จะต้องดำเนินการออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลย แต่กระบวนการตรงนี้ในส่วนของการยึดทรัพย์นายบุญทรงกับพวกจะไม่ขึ้นศาล เนื่องจากเป็นไปตามคำสั่ง คสช.

อย่างไรก็ดี เมื่อหมายบังคับคดีถูกส่งไปยังกรมบังคับคดี โจทก์มีหน้าที่จะต้องไปตั้งเรื่องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี

Advertisement

กรมบังคับคดีแบ่งเป็น การยึด ได้แก่ ยึดที่ดิน, บ้าน, อาคาร, รถยนต์, หุ้น, สังหาริมทรัพย์ และการอายัด ได้แก่ อายัดเงินฝากธนาคาร, เงินเดือน (กรณีเอกชน, รัฐวิสาหกิจ) สิทธิ เรียกร้องจากบุคคลภายนอก

ส่วนหลักฐานที่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการตั้งเรื่องจะประกอบด้วย 1.หนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ (ใช้แบบฟอร์มของกรมบังคับคดี) 2.บัตรประชาชน, หนังสือรับรองบริษัทของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีโจทก์เป็นบริษัท) 3.หลักฐานแสดงสถานะของจำเลย, หนังสือรับรองบริษัท, หนังสือทะเบียนราษฎร 4.หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ของจำเลย เช่น โฉนดที่ดิน, สัญญาซื้อขาย, สัญญาจำนอง, หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด, ทะเบียนบ้าน, คู่มือการจดทะเบียนรถยนต์, ใบหุ้น และอื่นๆ

5.กรณีอายัดเงินฝากธนาคาร เช่น เลขบัญชีธนาคาร, ประเภทบัญชี, ชื่อธนาคาร, อายัดเงินเดือน เช่น ชื่อสถานที่ทำงาน, อัตราเงินเดือน, จำนวนเงินที่ขออายัด, อายัดสิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า, สิทธิการเช่า, สิทธิเก็บกิน, ค่าชดเชย, ค่าทดแทนโดยการขออายัดจะต้องมีข้อมูลและเอกสารเพียงพอที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องสืบหาให้พร้อมเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ 6.ค่าธรรมเนียมการยึดและการอายัดอย่างละ 600 บาท

7.ระยะเวลาการยึด เมื่อตั้งเรื่องในวันใดและมีหลักฐานครบถ้วน ในวันรุ่งขึ้นสามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้ทันที และ 8.ระยะเวลาการอายัดจะใช้เวลาในการพิมพ์หมายอายัด 2 วันทำการ รวมทั้งการตรวจสอบหลักฐานด้วย เมื่อหมายอายัดพิมพ์เสร็จ โจทก์สามารถนำส่งได้เอง หรือจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำส่งบุคคลภายนอกก็ได้

สำหรับการยึดทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลย ในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ โดยจะต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมในวันยึดคือ 1.สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย หรือหนังสือรับรองนิติบุคคล ซึ่งจะต้องรับรองไว้ไม่เกิน 1 เดือน 2.แผนที่การเดินทางไปยังที่ตั้งของทรัพย์ที่ยึด 3.ภาพถ่ายปัจจุบันของทรัพย์ที่ยึด 4.ราคาประเมินที่ดิน, ห้องชุด ที่เจ้าพนักงานรับรอง 5.ค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด 2,000 บาท 6.รายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเดียว 4 ทิศ ในกรณีทรัพย์สินอยู่ในเขตอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีกรุงเทพมหานคร การยึดทรัพย์ใช้เวลา 1 วันทำการ แต่ถ้าทรัพย์สินอยู่ในเขตต่างจังหวัดจะต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหนังสือบังคับคดีแทนไปยังเขตอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในจังหวัดนั้นๆ โดยจะต้องไม่ตั้งเรื่องใหม่ เสียค่าธรรมเนียม 600 บาท แล้วจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สิน

ต่อมาเป็นขั้นตอนกระบวนการหลังจากยึดอสังหาริมทรัพย์ 1.เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดไปยังสำนักงานที่ดิน 2.ส่งหมายแจ้งจำเลย 3.ส่งหมายสอบถามราคาประเมินไปยังสำนักงานประเมินราคาทรัพย์สินกลาง 4.ส่งหมายแจ้งผู้รับจำนองเพื่อให้ส่งโฉนดมาใช้ในการขายทอดตลาด 5.ขออนุญาตศาลเพื่อขายทอดตลาด 6.พิมพ์หมายประกาศขายทอดตลาด 7.ขายทอดตลาด โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม หากโจทก์ประสงค์จะระงับการขายไว้ก่อน โจทก์สามารถยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 3-6 เดือน หรือ 1 ปีก็ได้ เมื่อครบกำหนดแล้วให้โจทก์แถลงความประสงค์ใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าจะขายทอดตลาดต่อไป หรือจะงดการบังคับคดีไว้ก่อน

และหากจะมีการถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 และ 295 ทวิ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ 1.ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกัน 2.เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสละสิทธิ์ในการบังคับคดี 3.คำพิพากษาถูกกลับหรือหมายบังคับคดีถูกยกเลิก 4.เจ้าหนี้ตาม

คำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี ในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไม่ขอถอนการบังคับคดีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยจนครบถ้วน จำเลยก็ไม่สามารถนำทรัพย์ออกจำหน่าย จ่าย โอน ได้ เนื่องจากถูกอายัดไว้โดยหมายบังคับคดี ค่าธรรมเนียมการถอนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไม่เป็นผู้วาง แต่จะให้จำเลยเป็นผู้วาง

อย่างไรก็ดี นายบุญทรงและพวกรวม 5 คน ได้ใช้สิทธิในการยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์อยู่แล้ว รวมทั้งเคยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาคำบังคับ

ทว่าศาลได้ยกคำร้องในส่วนการขอทุเลาคำบังคับ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ถึงขั้นตอนการยึดทรัพย์จริง

แต่เมื่อมีการยึดทรัพย์จริง นายบุญทรงกับพวกสามารถยื่นคำขอทุเลาการบังคับใช้คำสั่งกระทรวงพาณิชย์ได้อีกครั้ง

เป็นสเต็ปการยึดทรัพย์คดีระบายข้าวจีทูจี ตามคำสั่ง คสช.ที่ยังมีอีกหลายขั้นตอน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image