‘โรคสุกใส’ ระบาด 2 เดือน ป่วยแล้วกว่า 8 พันราย สธ.แนะคนไข้หยุดเรียน-หยุดงาน

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝนเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี มักพบการระบาดของโรคสุกใส ซึ่งปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยแล้ว 8,064 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เฝ้าระวังสถานการณ์ระบาด โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เรือนจำ เป็นต้น และให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค หากป่วยขอให้หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะพ้นระยะการติดต่อ หรือช่วงที่แผลตกสะเก็ดและแห้ง ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 5 วันหลังเริ่มมีอาการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ

นพ.โสภณ กล่าวว่า โรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง โดยทั่วไปไม่พบโรคแทรกซ้อน แต่ในบางรายอาจมีอาการทางสมองและปอดบวมได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงแก่ชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ทารกแรกเกิด สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ขอให้พบแพทย์เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสุกใสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella virus) เป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เป็นโรคงูสวัด โดยเชื้อจะกระจายตัวอยู่ในอากาศ ติดต่อทางการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย การคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสน้ำเหลืองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย หลังรับเชื้อประมาณ 10-20 วัน จะเริ่มเกิดอาการมีไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 วัน หลังจากเริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง เริ่มแห้งตกสะเก็ด รวมเวลา 5-20 วัน ผื่นอาจขึ้นในคอ ตา และในปาก เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต แต่เชื้ออาจหลบอยู่ในปมประสาทและมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ภายหลัง

“ในการป้องกันโรคนั้น ทำได้โดยล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ไม่คลุกคลีใกล้ชิด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ ในเด็กที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผู้ปกครองอาจพิจารณานำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส 2 ครั้ง โดยครั้งแรกให้ฉีดเมื่ออายุ 12-18 เดือน และครั้งที่ 2 ฉีดเมื่ออายุ 4-6 ปี ในกรณีที่ไม่ได้ฉีดเข็มแรกตามอายุที่กำหนด ให้ฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2 เว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง เช่นกัน แต่ให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์” นพ.เจษฎา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image