นักวิชาการมองรัฐแจกเงินคนจน ไม่ตรงจุดช่วยรากหญ้า แนะมีระบบตรวจสอบก่อประโยชน์หรือไม่

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ กลุ่มนักศึกษาวิชาสัมมนาทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ และศูนย์วิจัยประชาคมอาเซียน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดงานเสวนา เรื่อง “แจกเงินคนจน… สวัสดิการหรือประชานิยม” ขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของนโยบายการแจกเงินคนจนนั้น เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือคนจนได้จริง และควรมีต่อไปหรือไม่

นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนอื่นอยากทำความเข้าใจกับคำว่า สวัสดิการ และ ประชานิยม ก่อน โดยคำว่า สวัสดิการ มีรากศัพท์มาจากภาษากัมพูชา หมายถึง การสบายดี การอยู่ดี มีสุข สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐบาลก็ได้ แต่ในความคิดคนไทยปัจจุบันถูกหล่อหลอมมาให้เข้าใจว่า สวัสดิการเป็นสิ่งที่รัฐบาลจัดให้ ส่วนประชานิยม มีรากศัพท์มาจาก Na Rodnik ของรัสเซีย หรือ นิยมประชาชน ที่หมายถึงประชาชนเป็นใหญ่ แต่ในสังคมโลกมักค่อนข้างติดลบจากคำดังกล่าว ภายหลังจาก ฮวน เปรอง อดีต ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ใช้วิธีสร้างลดแลกแจกแถมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนนิยมในตัวเขา และใช้อำนาจของประชาชนเลือกตัวเขาขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ จึงกลายมาเป็นที่มาของประชานิยม

สำหรับในโครงการแจกเงินคนจนของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คือการใช้วิธีเช่นเดียวกับ เปรอง คือ แจกเงินเพื่อแลกกับความนิยมจากตัวคนจน ไม่เพียงเท่านี้ แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการแจกเงินคนจนยังมีขึ้นเพื่อทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เข้าเป้า หรือเพิ่มจากอัตราเติบโต 2.5% ให้มากกว่า 3% ในปี 2559 โดยการเพิ่มอัตราการบริโภคของคนมีรายได้น้อยให้นำเงินออกมาบริโภคในตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงท้ายปียังมีการออกโครงการช้อปช่วยห้าง เพื่อเพิ่มอัตราการบริโภคให้สูงขึ้นในช่วงปลายปี สิ่งเหล่านี้จึงชัดเจนว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการนั้น มุ่งเน้นเรื่องของตัวเลขจีดีพีเป็นหลัก ยังไม่ถือเป็นการตอบโจทย์ในการช่วยเหลือคนจนอย่างแท้จริง

“ฉะนั้น นโยบายการแจกเงินคนจนในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน แต่สร้างเพื่อวัตถุประสงค์ คือการกระตุ้น จีดีพี เป็น หลัก” นายณรงค์กล่าวและว่า ส่วนตัวเห็นว่าการจะช่วยเหลือคนจน ต้องดูก่อนว่าคนจนคือใคร ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มักนิยามคนจนว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่แท้จริงแล้วคนมีรายได้น้อยตามต่างจังหวัด มีจำนวนมากที่ไม่มีปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ แต่คนที่ถือเป็นคนจนที่แท้จริงต้องดูว่าคนเหล่านั้นเป็นคนด้อยสิทธิ์ ด้อยทรัพย์ และด้อยโอกาสหรือไม่ ซึ่งคนในกลุ่มดังกล่าวส่วนมากมักติดปัญหาเรื่องเป็นหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามาช่วยจัดการปัญหาหนี้นอกระบบแล้วก็ตาม แต่ท้ายสุดประชาชนก็ยังพึ่งหนี้นอกระบบเพราะสามารถกู้เงินได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นปัจจัยหลักของความยากจนได้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่เพียงแต่การรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบเท่านั้น ควรมีการเก็บเงินค่าดอกเบี้ยส่วนหนึ่งไว้เป็นกองทุนเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้ามากู้ยืมได้อย่างสะดวกเช่นเดียวกับหนี้นอกระบบ แต่ในการกู้ยืมควรมีการตั้งคณะติดตามหรือให้ประชาชนต้องมาชี้แจงเป็นระยะด้วยว่าเงินที่กู้ไปนำไปใช้ทำอะไร มิเช่นนั้นแล้วเงินอาจจะไปลงกับ สุรา หรือการพนัน จนหมด

นายโชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ เลขาธิการมูลนิธิ คม จันทวิทุร กล่าวว่า การที่รัฐบาลแจกเงินช่วยชาวนา รายละ 5,000-6,000 บาท และปลายปี 2559 แจกเงินจำนวน 1,500-3,000 บาท แก่คนจนจำนวนราว 5.3 ล้านคน วิธีดังกล่าว ส่วนตัวยังไม่เห็นถึงวัตถุประสงค์ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากรัฐบาลยังยืนยันว่าสามารถช่วยเหลือคนยากจนได้จริง ตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็ควรมีการชี้วัดว่าเงินที่ใช้จ่ายลงไปได้ผลจริงหรือไม่ อัตราจำนวนคนจนมีจำนวนลดลงหรือไม่ เงินที่ประชาชนได้รับไปนำไปใช้อย่างไร สามารถนำไปใช้กับสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ไม่ใช่นำไปใช้จ่ายอุปโภคบริโภคกับสิ่งของฟุ่มเฟือยส่วนตัว จึงยังไม่เห็นด้วยกับการที่มีโครงการที่เป็นการแจกเงินแก่คนจน

“สำหรับผลลัพธ์ของการแจกเงินคนจนในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าเพื่อหวังผลด้านความพึงพอใจของประชาชน อยากให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับการดูแลจากทางรัฐบาล เพราะท่าทางรัฐบาลชุดปัจจุบันคงอยากอยู่อีกนาน จึงได้มีแผนจะแจกทุกปี แต่หากมีการเลือกตั้ง ก็เป็นไปได้สูงที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน กลับมาทำหน้าที่ต่อเนื่องอีกสมัย” นายโชคชัยกล่าว

Advertisement

นายโชคชัย กล่าวถึงการช่วยเหลือปัญหาความยากจนให้เห็นผลว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรต้องช่วยทำให้คนจนสามารถยกระดับฝีมือแรงงานได้ เพื่อยกระดับรายได้มากยิ่งขึ้น นำคนจนเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสังคม ควรปลูกฝังเรื่องการออม และเพิ่มคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษา นอกจากนี้ส่วนตัวยังเห็นว่า การแก้ปัญหาคนจน การเสริมสร้างกลไกลความเข้มแข็งระหว่างภาครัฐ กับภาคประชาชนก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องไม่ใช่การดำเนินการแบบประชารัฐที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างรัฐบาล กับเครือบริษัท ซีพี และบริษัทเอกชนรายใหญ่ๆเท่านั้น แต่รัฐบาลอาจใช้รูปแบบดำเนินการใกล้เคียงกับโครงการกองทุนหมู่บ้าน เช่น อาจจัดสรรงบประมาณให้กับภาคประชาสังคม หรือมูลนิธิกลุ่มต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ และติดตามการทำงานของกลุ่มนั้นๆ ว่าสามารถนำงบประมาณไปใช้ในการดำเนินการใดบ้างและได้ประโยชน์กลับมามากน้อยเพียงใด

แต่หากท้ายที่สุดรัฐบาลยังต้องการแจกเงินคนจนทุกปีจริง ก็ควรมีการประเมินทุกปีว่าอัตราคนยากจนที่ได้รับสิทธิ์นั้นลดลงจากตัวเลขในปีที่ผ่านมาหรือไม่ อาจใช้ระบบคูปองเข้ามาแทนที่ เพื่อตรวจสอบปลายทางว่าประชาชนนำเงินที่ได้รับจากรัฐบาลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด รวมทั้งควรสนับสนุนให้ประชาชนนำเงินที่ได้รับ ไปใช้อุดหนุนสินค้าไทย ซึ่งจะได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ดีกว่าเปิดกว้าง มิฉะนั้นท้ายสุดเงินทองก็จะรั่วไหลไปกับการอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศได้

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการแจกเงินคนจนเป็นนโยบายเพื่อประชานิยมอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การช่วยแก้ปัญหาเฉพาะด้าน คือแจกเพื่อหวังผลกระทบเชิงบวกด้านสังคมศาสตร์ หรือเป็นการหวังความนิยม โดยไม่สนความมีวินัยทางการคลังและหลักการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีหรือไม่ การแจกเงินในครั้งนี้จึงไม่ถือเป็นเรื่องของสวัสดิการแต่อย่างใด

ขณะที่ผลที่ได้จากการแจกเงิน คือสามารถระบุผู้รับประโยชน์ได้ตรงเป้าหมาย ช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด และช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย แต่ในทางกลับกันยังไม่สามารถการันตีได้ว่าสามารถช่วยลดปัญหาความยากจนได้จริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าทางภาครัฐเองควรนำระบบไอทีมาใช้ติดตามปลายทางของเงินว่าผู้ที่ได้รับนำไปใช้ประโยชน์ด้านใด สามารถช่วยลดผลกระทบได้จริงหรือไม่

แต่หากประเมินในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ส่วนตัวเห็นว่าควรยกเลิกนโยบายแจกเงินคนจน เพราะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนได้ไม่ตรงจุด แต่ภาครัฐควรช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของการเพิ่มสวัสดิการภาครัฐมาแทน เช่น การรักษาพยาบาล หรือ การประกันสังคม เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยกำลังเข่าสู่สังคมของผู้สูงอายุเป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวยังประเมินด้วยว่า ในระยะอนาคตอันใกล้อีก 4-5 ปี ต่อจากนี้ เงินในกองทุนประกันสังคมจะเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจน รัฐบาลต้องดำเนินการแบบผสมผสานทั้งระบบ โดยที่ภาครัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกลตลาด ซึ่งกับดักใหญ่ของปัญหาความยากจนก็คือปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมองเห็นปัญหาดังกล่าวและพยายามจะเข้าไปแก้ไข ซึ่งสิ่งดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่สำคัญว่าจะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ อ้างอิงได้จากข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) พบว่าศักยาภาพในการเข้าถึงบริการทางการเงิน มีถึง 4.32% หรือ 858,818 ครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงได้ ประกอบกับแหล่งเงินกู้ขนาดเล็ก(ไมโครไฟแนนซ์) ไม่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนและสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดย่อมและคนจนโดยเฉพาะในชนบท สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของรัฐที่ถือเป็นกลไกสำคัญ ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ควรเพิ่มกลไกที่เป็นเครื่องมือในระดับชุมชนและหมู่บ้าน คือ กองทุนฌาปนกิจ รวมทั้งยังควรพัฒนาระบบไมโครเครดิตบูโร ที่มีการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้นำฝากเงินให้ดียิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image