“บิ๊กตู่”ลั่น ต้องมีกลไกช่วงเปลี่ยนผ่าน4-5ปี สถานการณ์ปกติค่อยกลับมาเหมือนเดิม(คลิป)

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครั้งนี้มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีด้านเศษฐกิจ อาทิ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งติดภารกิจเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐเบลารุส ระหว่างวันที่ 22-27 กุมภาพันธ์ เพื่อหารือเตรียมการสำหรับการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการที่ราชอาณาจักรกุมพูชา ระหว่างวันที่ 22- 24 กุมภาพันธ์

จากนั้นเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความชัดเจนต่อข้อเสนอของ ครม.ในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ต้องการแก้ไขปัญหาหากเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยต้องการมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติเป็น 2 ช่วงว่า ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญสองฉบับ รัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดคือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 200 กว่ามาตรา ซึ่งความหมายตรงนี้คือบทเฉพาะกาล คือถ้าทุกคนคิดว่าจะต้องมีการปฏิรูปในช่วงระยะเวลาแรกที่เปลี่ยนผ่าน ก็ควรจะต้องมีระยะเวลาหรือไม่ บทนั้นบทนี้ยกเว้นเป็นกาลชั่วคราวได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้หมด เพราะในรัฐธรรมนูญก็ต้องพูดถึงกระบวนการทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา แล้วมันก็เกิดปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฉะนั้นในช่วงแรกจะสร้างความเข้าใจว่า วาระประเทศชาติจะมั่นคงแข็งแรงภายในรัฐบาลหน้า โดยช่วงนี้ก็ต้องมีการปรับวิธีการบริหารราชการสักหน่อย แต่ไม่ได้ปรับทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เรื่องของ ส.ว.จำเป็นหรือไม่ เพื่อให้เกิดการคานอำนาจในช่วงนี้ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ใช่เขียนไว้ชัดเจน ว่าต้องทำนู่นทำนี่ 6 ยุทธศาสตร์ มีทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ มันสั่งไม่ได้อันนี้เป็นกรอบงานกว้างๆ ส่วนการจะไปทำอย่างไร เพื่อให้ลงไปสู่วิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะการไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี มันก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตามนั้นกัน ต่อไปเป็นเรื่องแผนการปฏิรูป 5 ปี ก็ไม่ได้เขียนว่าจะต้องทำนั่นทำนี่

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เรามองระยะยาวให้ 20 ปี แผนปฏิรูปครั้งละ 5 ปี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า จะทำอย่างไรก็ทำไป แต่ต้องทำตามนี้ด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากนโยบายพรรค เพราะบางทีไม่มีไกด์ตรงนี้ ก็เดินไปซ้ายขวา แล้วแต่สถานการณ์ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองก็วุ่นไปหมด ฉะนั้นถ้าเขาเดินสองทาง เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าขณะเดียวกัน เส้นของการเมืองก็เดินคู่ขนานกันไป แต่ถามว่ามันต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ มันก็ต้องมีและต้องมีอะไรสักอย่างเพื่อที่จะควบคุมให้ตรงนั้นเป็นไปตามนี้ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคณะอะไรขึ้นมาใหม่หรือจะเป็นส.ว. หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกลไก ที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่โดยการเปิดอภิปรายกันได้หรือไม่ว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำนี่ทำนู่น แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกัน ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน จะไปศาลรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า ก็ไม่รู้ เข้าใจหรือยัง

“มันไม่ใช่สองขยักสามขยักหรอก ขยักเดียวนั่นแหละ เพียงแต่ช่วงนี้จะยกเว้นบางส่วนก่อนได้หรือไม่ เมื่อถึงเวลาสถานการณ์ปกติ ก็กลับมาทั้งหมดจะกลับเข้าที่เดิมหมด ส.ว.ก็เลือกตั้งใหม่ทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่รัฐบาลหน้ามันต้องเกิดความมั่นใจให้เรา ไม่ใช่เพื่อผม แต่เพื่อท่านทุกคนเข้าใจหรือยัง” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่าหลังการเลือกตั้งรัฐบาลนี้จะยังอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งจะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่รู้ เป็นเรื่องที่จะต้องไปพิจารณามา ซึ่งคิดว่าตนก็ทำไว้ให้เยอะแล้ว ก็ไปคิดกันมาบ้าง ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านก็ภายใน 5 ปี ถ้ามันดีขึ้นทุกปีๆ ก็ผ่อนผันลดลงไป เข้ากลไกปกติ ทำไปตามที่เราวางไว้ไม่เห็นจะยาก ถ้ามันดี และถ้าเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลจะง่ายกว่าตรงที่จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่ถ้าใส่ในรัฐธรรมนูญก็ลำบาก นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของตนไง

Advertisement

เมื่อถามว่าขอความชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 4-5 ปีนั้น หมายถึงคสช.จะยังอยู่ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จะอยู่ไปทำไม แต่เขาจะมีวิธีการอื่น แต่หากอยู่ด้วยกลไกปกติ ก็อยู่ไป ถึงได้บอกว่าจะมีคณะ จะไม่มี หรือจะมีวิธีการไหนก็ไปว่ามา

“ไม่ใช่ว่าผมจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งสนใจกับผมมากนัก ผมมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ท่านก็คิดกันต่อสิจะเอาอย่างไร และท่านอย่ามาโทษผม ว่าทำไม่เรียบร้อยไม่สำเร็จ อย่ามาโทษผมแบบนั้น ท่านอยากให้เป็นอย่างไร อยู่ที่ท่านกำหนดของท่านเองทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์กรณีความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า “ผมไม่ได้มองจุดประสงค์อะไร มองทำไม”เมื่อถามย้ำว่าแล้วจะมีการเจรจาต่อรองอะไรกับนายทักษิณหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ก็เขาพูดไปแล้วนี่ กฎหมาย พูดด้วยกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ หลังการประชุมครม.ครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 10 นาทีและให้สื่อมวลชนได้ถามได้เพียง 4 ข้อ โดยไม่รวมการชี้แจงรายละเอียดการประชุมครม. ทั้งนี้ระหว่างการตอบข้อซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ จะเตือนว่าผ่านไปกี่คำถามแล้ว และการให้สัมภาษณ์ก็ไม่มีทีท่าผ่อนคลายเหมือนที่ผ่านมา และสถิติในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมครม.ที่ผ่านมาจะใช้เวลาค่อนข้างมาไม่ต่ำกว่า 40 นาที

อย่างไรก็ตาม หลังพล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงจบใน 4 ข้อคำถาม ได้กล่าวสวัสดีและขอบคุณก่อนจะเดินไปยังตึกไทยคู่ฟ้าทันที ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวขอร้องสื่อมวลชนอีกครั้ง โดยย้ำว่าในการตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรีขอร้องให้แจ้งชื่อและสังกัดให้ชัดเจนผ่านไมโครโฟนตามข้อตกลงที่ได้แจ้งไว้ ไม่เช่นนั้นคนที่เป็นโฆษกฯ อย่างตนก็จะถูกหาว่าเยอะ จึงขอให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image