รู้ไว้ ใช่ว่า เคล็ดวิธีกู้ชีพฉุกเฉิน ช่วยผู้ป่วยเฉียบพลัน

การได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุวิกฤต เจ็บป่วยฉุกเฉิน อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ย่อมทำให้โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพบเห็นผู้ป่วยวิกฤต ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ และมักมีภาวะของหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

จากกรณีการเสียชีวิตของ โก๋ นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมฟุตบอลชาติไทย และสโมสรองค์การโทรศัพท์ฯ วูบหมดสติบริเวณสนามฟุตบอลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี ภายหลังเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ ปกติจะมาเล่นแทบทุกวันตอนเย็น โดยเพื่อนๆ และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น

อีกคนโทรแจ้งสายด่วน 1669 บ้างวิ่งไปขอความช่วยเหลือยังอาคารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อขอเครื่องมือในการช่วยชีวิต หรือคำแนะนำต่างๆ

แต่ด้วยเหตุเกิดช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น.ทำให้ทุกอย่างฉุกละหุก สถานการณ์ไม่เป็นใจ

Advertisement

สุดท้ายเพื่อนนำส่งนายบุญธรรมไปยังสถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลห่างกระทรวงประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ก็ช้าเกินไป แพทย์ไม่สามารถยื้อช่วยชีวิตได้

เหตุการณ์กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดกรณีแรก แต่เป็นมา ครั้งแล้วครั้งเล่า

เป็นไปได้ว่า ปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสาร การตื่นตกใจ รวมไปถึงความไม่พร้อมต่างๆ เมื่อเกิดเหตุขึ้น

Advertisement

แต่ไม่ว่า เกิดจากปัจจัยใดก็ตาม

เราควรต้องเตรียมพร้อม ศึกษาเรียนรู้ การช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เพื่อจะได้รับมือเหตุไม่คาดฝันต่างๆ

ทั้งนี้ ล่าสุด นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ในการช่วยชีวิตเบื้องต้นให้มากที่สุด ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ไม่ควรนิ่งเฉย ควรต้องเรียนรู้ในการช่วยชีวิตไว้บ้างไม่มากก็น้อย

กรณีผู้เสียชีวิตมาจากหัวใจวายระหว่างออกกำลังกายนั้น ในงานเสวนาหัวข้อ ไทยถึงเวลาพัฒนาระบบรับมือผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนสายเกินแก้หรือยัง? ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ว่า การออกกำลังกายเป็นเรื่องดี ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของร่างกายทนได้ ไม่ควรออกกำลังอย่างหักโหมเกินไป ไม่ควรฝืนหากมีอาการผิดปกติของร่างกาย และการออกกำลังกายนี้ขึ้นอยู่กับเฉพาะบุคคล อย่างกรณีนักฟุตบอล แม้จะเป็นคนออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ยังเกิดอาการหัวใจวายได้ สำหรับกลุ่มเสี่ยงอาการหัวใจวาย ได้แก่ ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผู้ไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจแต่มีโรคแทรกซ้อน หรือจากกรรมพันธุ์ พบในผู้มีอายุมากขึ้น อย่างผู้ชายอายุ 40 ขึ้นไปและผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว

นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย บอกว่า กรณีอดีตนักฟุตบอลเสียชีวิตภาพรวมของปัญหาคือ ระบบความช่วยเหลือพึงประสงค์ยังไม่พร้อมพอ ตั้งแต่ผู้ป่วย หากรู้ว่าตัวเองเริ่มมีอาการผิดปกติของร่างกาย ให้รีบขอความช่วยเหลือทันทีจากผู้ข้างเคียง ต่อมาผู้อยู่ข้างเคียงผู้เสียชีวิต หากพบผู้อยู่ใกล้ตัวแสดงอาการบ่งชัดว่าต้องได้รับความช่วยเหลือ อันดับแรกควรรีบแจ้งสายด่วนฉุกเฉินให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระบุอาการให้ชัดว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไร เพื่อให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินบอกถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยชีวิตในเบื้องต้น

ด้าน นายสุชีพ บุญเส็ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเข้าไปช่วยเหลือถูกมองว่าเป็นจำเลยสังคม หากช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ทัน แต่ละครั้งทุกคนก็ได้ทำงานเต็มที่แล้ว การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นควรได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่แรก ไม่ใช่รอเจ้าหน้าที่อย่างเดียว ประชาชนส่วนใหญ่เองก็ยังไม่มีความรู้ในการปฐมพยาบาลเลย อยากให้เรื่องความรู้เรื่องปฐมพยาบาล ปลูกฝังตั้งแต่ระดับอนุบาล เช่น การทำแผลตัวเองขณะเล่นหกล้ม ตลอดจนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

สำหรับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายอย่างทันทีได้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยเจ้าตัวอาจไม่ทราบ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน กลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงพบบ่อย ได้แก่ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ฯลฯ ส่วนผู้อายุน้อยกว่า 35 ปีก็พบได้ เพราะอาจมีโรคความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด แต่ไม่แสดงอาการ

จากข้อมูลปี 2015 ของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี พบว่าอาการสำคัญที่รับแจ้งในผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล พบว่าร้อยละ 72 ของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น แจ้งอาการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น และร้อยละ 40 ได้รับแจ้งว่ามีอาการชักเกร็ง นอกนั้นมีภาวะหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก เป็นต้น

คำถามคือ จะทำอย่างไรหากพบเห็นผู้ป่วยในกลุ่มนี้เกิดภาวะวิกฤต

ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้ข้อมูลก่อนโทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ 9 ข้อ ดังนี้

1.ก่อนอื่นต้องตั้งสติของตัวเอง ไม่ให้ตกใจจนทำอะไรไม่ได้ ให้เรียกหรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนองให้เรียกขอความช่วยเหลือทันที โทรแจ้ง 1669 หากผู้ป่วยมีอาการกระตุก หรือชักเกร็ง หายใจเฮือกหรือหยุดหายใจ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไร มีผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บลักษณะใด 3.บอกสถานที่เกิดเหตุ เส้นทาง จุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 4.บอกเพศ ช่วงอายุ อาการ จำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 5.บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 6.บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่น อยู่กลางถนน รถติดก๊าซ ฯลฯ 7.ชื่อผู้แจ้ง เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 8.ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และ 9.รถทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วย เพื่อนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากในที่เกิดเหตุมีคนมากกว่า 1 คน คอยช่วยเหลือ ระหว่างอีกคนโทรแจ้งสายด่วน 1669 หากมีผู้มีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ระหว่างรอควรทำการซีพีอาร์ (CPR) ไปด้วย เป็นการช่วยชีวิตเบื้องต้น ก่อนอื่นต้องตรวจก่อนว่าผู้ป่วยหายใจหรือไม่ หากไม่หายใจหรือหายใจเฮือก ให้ปฏิบัติดังนี้

1.กดนวดหัวใจ เริ่มจากจัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านข้างของผู้ป่วย จากนั้นวางส้นมือลงไปขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก กึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของผู้ป่วย แล้วนำมืออีกข้างมาประกบ ประสานนิ้ว และทำการล็อกนิ้ว กระดกข้อมือขึ้น โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกเท่านั้น โน้มตัวมาให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย

2.เปิดทางเดินหายใจ ถ้าผู้ช่วยเหลือมีเพียงคนเดียว ให้กดหน้าอกอย่างเดียวในอัตราอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที จนกว่าทีมกู้ชีพ 1669 จะมาถึง และถ้ามีผู้ช่วยเหลือมากกว่า 1 คน ให้เปิดทางเดินหายใจ โดยการกดหน้าผากและเชยคาง และหากมีเครื่องเออีดีหรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน จะมีคู่มือสอนอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำซีพีอาร์อย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ โดยการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานนั้น หรือการทำซีพีอาร์ จะได้ผลดีต้องกระทำภายใน 4 นาที หลังผู้ป่วยหยุดหายใจ หากเป็นผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 8 ปี ให้รีบโทรแจ้ง 1669 และปฏิบัติตามคำแนะนำ

สำหรับข้อมูลในการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ผ่านมา สพฉ.รายงานสถิติในแต่ละปีมีผู้ป่วยฉุกเฉินใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 เป็นล้านคน 4 ปีที่ผ่านมาสถิติการใช้งานสายด่วน 1669 เพิ่มมากขึ้น ปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา สถิติผู้ใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 ถึง 1,169,136 คน

เหตุการณ์เสียชีวิตอดีตกองหลังทีมชาติ นอกจาก ต้องรื้อ ปรับปรุงระบบการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน หากพบมีข้อบกพร่อง ผิดพลาด ให้ดีขึ้น

อีกประการคือการศึกษา หาข้อมูล เก็บหมายเลขโทรศัพท์การขอความช่วยเหลือเร่งด่วน และการเรียนรู้ วิธีปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการช่วยชีวิตผู้ป่วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image