เชียงใหม่ปรับแผนรับมือควันไฟป่าจากแม่ฮ่องสอน เร่งแก้หลังพบเพิ่มในเขตป่า-อุทยาน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้มีข้อสั่งการให้ทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ กรณีปริมาณหมอกควันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 153 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เหตุจากการชิงเผาพร้อมกันทั้งจังหวัดในช่วงก่อนประกาศห้ามเผา ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2560 ทำให้มีการกระจายเผาพร้อมกันและส่งผลให้เกิดหมอกควันปกคลุมเร็วกว่าปกติ

“ได้ให้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือปริมาณหมอกควันจากพื้นที่ใกล้เคียงที่ถูกลมพัดเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากการตรวจสอบการปกคลุมของหมอกควัน และการคาดการณ์ความเร็วและทิศทางลมด้วยดาวเทียม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda พบว่า ทิศทางลมมีการไหลจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้น แม้ในพื้นที่จะไม่พบการเผา หรือเกิดจุดความร้อน (Hot Spot) ในพื้นที่มากก็ตาม จึงสั่งการให้ทุกอำเภอจัดชุดออกลาดตระเวนบูรณาการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอำเภอที่มีพื้นที่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน” นายปวิณกล่าว

นายปวิณกล่าวว่า เช้านี้ได้รับรายงานว่า อ.แม่แจ่ม และ อ.กัลยาณิวัฒนา ซึ่งอยู่ในทิศทางลมที่พัดมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีสภาพอากาศที่ดีอยู่ หากทางแม่ฮ่องสอนควบคุมได้เร็วก็ไม่น่ากังวล สิ่งที่เชียงใหม่ต้องรีบดำเนินการคือ สถิติการเกิดไฟป่าในเขตป่าและอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกัน บ่ายวันนี้จะมีการประชุมเพื่อปรับแผนแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ในขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรปีนี้เราควบคุมได้ดีขึ้น

201702271117302-20021028190355

Advertisement

“ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม เริ่มดีขึ้นจากความร่วมมือกันของชาวบ้านและเอกชนที่นำเตาเผาแบบไร้ควันเข้าไปช่วยกำจัดซังข้าวโพด แต่ด้วยปริมาณที่มากเป็นกองภูเขา ก็ต้องเพิ่มการทำปุ๋ย เปลี่ยนเป็นพลังงาน นำเทคโนโลยีมาช่วยลดเศษวัสดุทางการเกษตร รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตรในการปลูกข้าวดอย ด้วยการใช้น้ำจุลินทรีย์หรือปุ๋ยหมักสูตรพิเศษที่ช่วยย่อยสลายวัสดุทางการเกษตรในระยะเวลา 20-30 วัน ก่อนการเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรอีกครั้ง ซึ่งน่าจะได้ผลเพราะแม่แจ่มอยู่บนที่สูงมีความชื้นจากน้ำค้างช่วย” นายปวิณกล่าว

นายปวิณกล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังน่าห่วงคือพื้นที่ทางตอนใต้ เช่น อมก๋อย ดอยเต่า แม่วาง และแม่ออน ซึ่งความชื้นลดลงและแล้งเร็ว ต้องรีบปรับแผนและแจ้งเตือนประชาชนให้ช่วยกันหยุดเผาจนกว่าจะพ้น 60 วัน โดยเฉพาะในเขตพื้นราบที่มักมีการแอบเผาเศษกิ่งไม้ใบไม้อยู่เป็นระยะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image