แม่โจ๋43%แห่ซื้อ ‘ยาทำแท้ง’ กินเอง กรมอนามัยเร่งเปิดสายด่วน 1663 ให้คำปรึกษา

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ที่ดำเนินการครอบคลุมทั้งอำเภอ ตั้งแต่ชุมชน สถานบริการสาธารณสุข โรงเรียน เป็นต้น เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม ว่า สถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์และพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันของวัยรุ่นในประเทศไทย มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2543 มีจำนวนการคลอดทั้งสิ้น 773,009 ราย ในจำนวนนี้เป็นการคลอดจากวัยรุ่นหรือผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 88,119 ราย คิดเป็นร้อยละ11.2 และเพิ่มขึ้นเป็น 132,203 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.9 ในปี 2555

“ปัจจุบันยังมีจำนวนแม่วัยรุ่นประมาณ 12,000 คน ที่เป็นการคลอดซ้ำท้องที่ 2 ขึ้นไป ส่วนจำนวนของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และแก้ปัญหาด้วยการไปทำแท้งนั้นจากข้อมูลการแท้งในประเทศไทย ปี 2558 โดยการสำรวจในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด สธ. 24 จังหวัด พบว่า มีการแท้งเองตามธรรมชาติ เช่น ลูกหลุด ประมาณร้อยละ 56.9 และทำแท้งจากภายนอกโรงพยาบาลหรือการทำแท้งเถื่อนหรือซื้อยาทำแท้งเถื่อนจากอินเตอร์เน็ต ร้อยละ 43.1 โดยสาเหตุการทำแท้งจากเหตุผลด้านสุขภาพ ร้อยละ 37.4 และเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ร้อยละ 62.6 นอกจากนี้ ผู้ที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัว ร้อยละ 28.6 มีสถานภาพนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 26.3 อายุต่ำกว่า 20 ปี และร้อยละ 53.1 อายุต่ำกว่า 25 ปี” นพ.วชิระ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัญหาของวัยรุ่นที่ทำแท้งเองจากการซื้อยาทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากไม่เชื่อใจและไม่ไว้วางใจในระบบสุขภาพ ไม่กล้าที่จะเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาเรื่องดังกล่าว ประกอบกับ กลัวพ่อแม่ผู้ปกครองทราบว่าตัวเองท้องไม่พร้อม ซึ่งกรณีนี้เป็นปัญหามาก และส่งผลร้ายต่อสุขภาพของแม่วัยรุ่นด้วย การแก้ไขที่ดีที่สุดคือ 1.ต้องมีเพศวิถีศึกษาในชุมชน ต้องรู้จักพูดคุยสร้างความไว้วางใจให้เด็ก 2.การวางแผนคุมกำเนิดที่ถูกต้อง และ 3.การทำแท้งที่ปลอดภัย ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เปิดกว้างให้ทำอย่างอิสระ แต่การทำแท้งในที่นี้จะมีเงื่อนไขคือ แม่และเด็กหากคลอดออกแล้วมีปัญหาสุขภาพ รวมถึงกรณีถูกข่มขืน ก็จะเข้าข่ายทางเลือกหนึ่งในการยุติการตั้งครรภ์

ด้าน นพ.ประวิช ชวชลาศัย รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า วัยรุ่นมักไม่กล้าเข้าไปขอรับคำปรึกษา ขณะนี้จึงมีการพัฒนาสายด่วน 1663 เพื่อรับปรึกษาปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงกณีวัยรุ่นท้องแต่ไม่พร้อม และบางคนมีความต้องการอยากทำแท้งผิดๆ

Advertisement

“หลายคนที่โทรศัพท์เข้ามาก็ไม่จำเป็นต้องทำแท้งเสมอไป เพราะเมื่อได้รับคำปรึกษาก็สามารถคงเด็กไว้และเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ได้สนับสนุนว่าต้องทำแท้งทุกคน การทำแท้งมีเงื่อนไขจำเพาะ เช่น แม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ไม่สามารถคลอดได้ หรือเด็กคลอดออกมาแล้วมีปัญหาผิดปกติ ข้อบ่งชี้ต่างๆ ที่ทางการแพทย์และกฎหมายกำหนด ซึ่งต้องได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้อง” นพ.ประวิช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image