“โฆษกศาลยุติธรรม” แจงปมศาลพัทยา ยกเลิกคำสั่งคุ้มครอง กักรถ NGV 98 คัน บ.ซุปเปอร์ซาร่า

สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม

” โฆษกศาลยุติธรรม ” แจง ข้อกฎหมาย คู่ความมีสิทธิร้องไต่สวนฉุกเฉิน-คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หลังศาลจังหวัดพัทยา ไฟเขียวให้กรมศุลฯ กักรถ NGV 98 คัน บ.ซุปเปอร์ซาร่า ระบุ เอกชน ยังมีสิทธิร้องไต่สวนแบบปกติพร้อมคำขอได้อีกตาม ป.วิ แพ่งในแบบกรณีไม่เร่งด่วน

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.60 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีศาลจังหวัดพัทยา มีคำสั่งวันนี้ให้ยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวบริษัท ซุปเปอร์ ซาร่า จำกัด หลังจากถูกคำสั่งกรมศุลกากรห้ามนำรถยนต์โดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 98 คันออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ว่า จากกรณีที่กรมศุลกากร ได้ยึดรถโดยสารปรับอากาศ NGV ที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักร ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบริษัท ซุปเปอร์ ซาร่า จำกัดซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถดังกล่าวจำนวน 99 คัน ได้ยื่นฟ้อง กรมศุลกากร และข้าราชการของกรมศุลกากร รวม 6 คนเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพัทยาในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.170/2560 เพื่อขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้งหก ปล่อยรถโดยสารปรับอากาศทั้งหมดออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยโจทก์ยินยอมชำระเงินประกันภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่ารถ แต่ไม่ต้องชำระค่าปรับ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรถยนต์แต่ละคันนอกจากนี้ยังให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกจำนวน 17,512,654.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นนับจากวันถัดฟ้อง( 25 ก.พ.60 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้เสียหายอีกวันละ 198,000 บาทหรือวันละ 2,000 บาทต่อคันนับแต่วันถัดฟ้องจนกว่าจะปล่อยรถที่ยึดไว้ ขณะเดียวกันบริษัท โจทก์ ก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาด้วย ซึ่งหลังจากที่ศาลได้ทำการไต่สวนพยานโจทก์แล้ว ก็ได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งหกร่วมกันปล่อยรถโดยสารปรับอากาศ NGV จำนวน 98 คัน ออกจากท่าเรือแหลมฉบังโดยให้ยึดไว้ได้เพียง 1 คันเพื่อตรวจสอบโดยโจทก์ต้องวางเงินประกันภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่ารถแต่ละคันโดยไม่ต้องชำระค่าปรับ และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรถแต่ละคันโดยให้บริษัทโจทก์วางเงินประกันความเสียหายต่อศาลเป็นเงิน 500,000 บาท

แต่ปรากฏว่า วันนี้ ( 27 กุมภาพันธ์) เวลา 09.00 น. จำเลยทั้งหกได้ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองดังกล่าว และให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องคดีนี้ ซึ่งศาลจังหวัดพัทยาก็ได้ไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยทั้งหกแล้วพร้อมมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองดังกล่าว และให้คืนเงินประกันความเสียหายจำนวน 500,000 บาทกับบริษัทโจทก์

นายสืบพงษ์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอธิบายข้อกฎหมายเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า การยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามปกติของคู่ความ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยขั้นตอนศาลจะกำหนดวันไต่สวนและส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายเพื่อโต้แย้งคัดค้าน แต่อาจมีกรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน ซึ่สามารถยื่นแบบคำขอตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 266 ให้ศาลทำการไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ตามมาตรา 254 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้าก็ได้

Advertisement

ซึ่งหากศาลเห็นว่าคดีนั้นเป็นคดีมีเหตุฉุกเฉิน และคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริงก็ให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันทีตามที่บัญญัติใน มาตรา 267 วรรคหนึ่ง

และหลังจากศาลมีคำสั่งแล้วจำเลยอาจยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั่นได้เช่นกันตามมาตรา 267 วรรคสอง โดยคำสั่งดังกล่าวของศาลทั้งสองกรณีจะเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ ซึ่งกรณีนี้เป็นการไต่สวนฉุกเฉิน

แต่อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายก็ยังไม่ตัดสิทธิที่บริษัทโจทก์ จะเสนอคำขอคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 254 นั้นใหม่ได้ เพียงแต่ครั้งนี้จะไม่ใช่ลักษณะการไต่สวนฉุกเฉินพยานฝ่ายเดียว แต่ต้องมีขั้นตอนการไต่สวนยุ่งยากขึ้นทั้งสองฝ่ายในเวลาที่ไม่ใช่การเร่งด่วน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image