พบวิธีบังคับ ‘หุ่นจิ๋ว’ รวมพลังรักษา ‘มะเร็ง’

(ภาพ-J. Rahmer and B. Gleich-Philips Research)

นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วสำหรับส่งเข้าไปภายในร่างกายของคนเราเพื่อช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งได้นานแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถขับเคลื่อนหุ่นจิ๋วเหล่านั้นไปยังจุดที่ต้องการในร่างกายได้ ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็ก อาทิ ท่อสอดผ่านเส้นเลือดเข้าสู่หัวใจ ที่สามารถเหนี่ยวนำด้วยสนามแม่เหล็กเพื่อปรับทิศทางในร่างกายได้ แต่ยังไม่สามารถใช้สนามแม่เหล็กเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นได้โดยอิสระ

ทีมวิจัยที่นำโดยเจอร์เกน ราห์เมอร์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน จากสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีฟิลิปส์ ในนครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เผยแพร่ผลงานการค้นพบวิธีการควบคุมสกรูแม่เหล็กขนาดจิ๋วจำนวนมากให้เคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันโดยอาศัยพลังสนามแม่เหล็กได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการใช้สนามแม่เหล็กควบคุมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กให้ทำหน้าที่จำเพาะอย่างหนึ่งอย่างใดได้ในร่างกายของคนเราในที่สุด

ในการทดลอง ทีมวิจัยผลิตสกรูแม่เหล็กขนาดจิ๋วที่เหมือนกันทุกกระเบียดออกมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นใช้สนามแม่เหล็กพลังแรงจัดการตรึงสกรูแม่เหล็กเหล่านั้นไว้กับที่ โดยที่ตัวสกรูแม่เหล็กขนาดจิ๋วเหล่านั้นสามารถเคลื่อนไหวเป็นอิสระได้เมื่อเข้าไปอยู่ในจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียวซึ่งเป็นจุดที่สนามแม่เหล็กอ่อนกำลังที่สุด เมื่อทีมวิจัยบังคับให้จุดจำเพาะดังกล่าวนั้นหมุน ก็ทำให้สกรูแม่เหล็กขนาดจิ๋วภายในจุดดังกล่าวหมุนตามไปด้วย

ราห์เมอร์ระบุว่าผลการทดลองดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าวิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบังคับให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดจิ๋วภายในร่างกายทำงานตามที่แพทย์ต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแบตเตอรี่หรือมอเตอร์ให้กับอุปกรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น แพทย์อาจสามารถใช้สกรูแม่เหล็กจิ๋วเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนจุกปิดหลอดบรรจุยาขนาดจิ๋วที่ส่งเข้าไปในร่างกาย เมื่อใช้สนามแม่เหล็กบังคับให้หลอดยาดังกล่าวไปถึงจุดของร่างกายที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ ก็บังคับให้สกรูหมุนคลายออก ปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีเฉพาะส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อสมบูรณ์ที่อยู่ใกล้เคียง ลดผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งลงได้มาก

Advertisement

นอกจากนั้น ราห์เมอร์ยังชี้ว่า แพทย์ยังอาจใช้การควบคุมด้วยสนามแม่เหล็กจากภายนอกเหล่านี้ในการปลูกถ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ในร่างกาย ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของร่างกายผู้ป่วยที่เปลี่ยนไปเมื่ออาการดีขึ้น

ราห์เมอร์เชื่อว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนาอุปกรณ์สร้างสนามแม่เหล็กขนาดย่อมเพื่อใช้ในการควบคุมหุ่นยนต์แม่เหล็กให้ทำหน้าที่ในร่างกายของคนเรา

โดยทำงานร่วมกับเทคโนโลยีการสแกน อย่างเช่น เอกซเรย์หรืออัลตร้าซาวด์สแกน เพื่อกำหนดตำแหน่งของหุ่นจิ๋วทางการแพทย์เหล่านี้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image